ผู้เชี่ยวชาญคาด “โอไมครอน” อาจระบาดใหญ่ทั่วโลกใน 3-6 เดือนข้างหน้า

02 ธ.ค. 2564 | 22:42 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2564 | 05:49 น.

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสิงคโปร์เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" มีแนวโน้มที่จะระบาดไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ในระดับสูง

ดร.เหลียง โฮ นัม แห่งโรงพยาบาลเมาท์ อลิซาเบธ โนเวนา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของ สิงคโปร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีวานนี้ (2 ธ.ค.) ว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน มีแนวโน้มที่จะระบาดไปทั่วโลกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

“พูดกันตรง ๆ แล้ว ผมคิดว่าไวรัสโอไมครอนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า” ดร.เหลียงกล่าว และให้ความเห็นว่า แม้บริษัทผู้ผลิตยาหลายแห่งจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอีกราว 3-6 เดือนกว่าจะยืนยันได้ว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 พ.ย.) นายสเตฟาน บันเซล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโมเดอร์นา อิงค์ ผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นา เปิดเผยว่า บริษัทอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนาและจัดส่งวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโอไมครอนโดยเฉพาะ

 

ขณะที่นายอัลเบิร์ต เบอร์ลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ระบุว่า บริษัทจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้ในเวลาไม่ถึง 100 วัน

“เป็นความคิดที่ดี แต่ขอพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า มันไม่มีประโยชน์” ดร.เหลียงกล่าวกับซีเอ็นบีซี “เราจะไม่สามารถเร่งการผลิตวัคซีนได้ทันเวลา และเมื่อถึงวันที่มีวัคซีน ทุกคนก็คงติดเชื้อกันไปแล้ว เนื่องจากโอไมครอนมีความสามารถในการแพร่เชื้อได้ในระดับสูง”

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO ) เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปแล้วใน 23 ประเทศทั่วโลก โดยล่าสุดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกแล้ว เป็นผู้เดินทางกลับจากแอฟริกาใต้ และเป็นผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วด้วย แต่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์

ผู้เชี่ยวชาญคาด “โอไมครอน” อาจระบาดใหญ่ทั่วโลกใน 3-6 เดือนข้างหน้า

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวว่า ขณะนี้เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้แพร่ระบาดไปใน 23 ประเทศทั่วโลก และ WHO คาดการณ์ว่าจำนวนดังกล่าวยังจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตายังจะครองสัดส่วนมากที่สุดในจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลก และการใช้มาตรการในการสกัดไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็จะช่วยสกัดสายพันธุ์โอไมครอนได้เช่นกัน

 

ด้านนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาว เปิดเผยว่า อาจจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น จึงจะทราบว่าไวรัสโอไมครอนสามารถแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้ง่ายเพียงใด จะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงมากเพียงใด และไวรัสดังกล่าวจะสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันได้หรือไม่