กองทัพเรือไทย และ บริษัท China Shipping & Offshore International Co. (CSOC) ได้ลงนามในสัญญาสั่งซื้อ เรือดำนำ Yuan-class S26T มูลค่า 402 ล้านดอลลาร์ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2017 โดยมีกำหนดส่งมอบไว้ประมาณปลายปีหน้า แต่แหล่งข่าวภายในกองทัพเรือไทยเพิ่งยืนยันว่า จีนสั่งระงับโครงการต่อเรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อไว้ หลังรัฐบาลเยอรมนีปฏิเสธที่จะส่งเครื่องยนต์ชั้นสูงที่จำเป็นสำหรับการสร้างเรือดำน้ำดังกล่าวให้จีน
รายงานข่าวชี้ว่า เหตุ “ติดเกาะ” ของโครงการสั่งซื้อเรือดำน้ำจีนครั้งนี้ อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยและจีนขึงตึงขึ้นได้ หลังกรุงปักกิ่งก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะผู้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สื่อในไทยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนจากภายในกองทัพเรือไทย และรายงานไว้ตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้วว่า แผนการต่อเรือดำน้ำลำแรกของไทยถูกสั่งชะลอไปแล้ว
ล่าสุด "วีโอเอ" ได้ติดต่อไปยังกองทัพเรือเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องนี้ และได้รับการยืนยันจาก พลเรือตรี อภิชัย สมพลกรัง ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ว่า เรือดำน้ำที่ไทยสั่งซื้อจากจีนไม่น่าจะมาถึงไทยได้ในปีหน้าตามแผนแล้ว โดยระบุว่า กระบวนการต่อเรือดำน้ำของจีนต้องหยุดชะงักเพราะจีนยังไม่สามารถหาข้อสรุปประเด็นเครื่องยนต์ได้ ซึ่งหมายถึง ทุกอย่างต้องรอเรื่องนี้ให้คลี่คลายกระจ่างเสียก่อน แผนการก่อสร้าง(การต่อเรือ) จึงจะกลับมาเริ่มอีกครั้งได้
พล.ร.ต.อภิชัย เปิดเผยว่า ข้อตกลงที่ทำกับจีนไว้นั้นระบุว่า เรือดำน้ำที่ไทยสั่งจะใช้เครื่องยนต์ดีเซล MTU396 จาก บริษัท มอเตอร์ แอนด์ เทอร์ไบน์ ยูเนียน (Motor and Turbine Union หรือ MTU) ของ เยอรมนี เป็นตัวเดินเครื่องจ่ายไฟของเรือ
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายฟิลิปป์ โดเอิร์ท ผู้ช่วยทูตทหารเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้ยืนยันผ่านจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึงหนังสือพิมพ์ The Bangkok Post เกี่ยวกับการตัดสินใจของรัฐบาลเยอรมนีในการปฏิเสธที่จะส่งเครื่องยนต์ให้จีน โดยระบุว่า
“มีการปฏิเสธการส่งออกเพราะว่า (เครื่องยนต์ดังกล่าว) จะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศและประโยชน์ทางทหารของจีน” และว่า “จีนไม่ได้ขอ/ประสานงานกับเยอรมนี ก่อนที่จะลงนามในสัญญากับประเทศไทย (แต่) ทำการเสนอจะใช้เครื่องยนต์เยอรมันเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ของตน”
การปฏิเสธการส่งออกของเยอรมนีนั้นเป็นไปตามคำสั่งห้ามส่งออกอาวุธไปยังจีน ที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศใช้มาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1989 หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยฝีมือของกองกำลังความมั่นคงของจีนที่ทำการยิงปืนใส่กลุ่มผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธในกรุงปักกิ่ง ซึ่งออกมาเรียกร้องขอเสรีภาพทางการเมืองจากรัฐบาล ในเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว รัฐบาลจีนอ้างว่า มีพลเรือนเสียชีวิตราว 200 คน แต่การประเมินโดยหน่วยงานอิสระชี้ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นน่าจะอยู่ในหลักพันหรือหมื่นด้วยซ้ำ
ปัญหาว่าด้วยเครื่องยนต์
จอน เกรวัตต์ นักวิเคราะห์จากนิตยสาร Janes ที่ตีพิมพ์ข่าวสารข้อมูลจากแวดวงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ให้ความเห็นว่า แม้อียูจะสั่งห้ามทำการส่งออกอาวุธไปจีน แต่เยอรมนีและประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็จัดส่งเครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กองทัพจีนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว
ขณะเดียวกัน สถาบัน Stockholm International Peace Research Institute ในสวีเดน ซึ่งติดตามการจัดส่งอาวุธต่างๆ ทั่วโลก เปิดเผยว่า บริษัท MTU นั้นเป็นซัพพลายเออร์เครื่องยนต์ เพื่อใช้ในการต่อเรือพิฆาตและเรือดำน้ำจีนมาแล้วกว่า 100 ลำในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1993 และ 2020
MTU ทำเช่นนั้นด้วยการเน้นส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งสำหรับงานของกองทัพและการใช้งานของภาคพลเรือน เพราะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้สองทางดังว่านั้น ไม่ถูกควบคุมภายใต้คำสั่งห้ามส่งออกของอียู แต่สำหรับกรณีที่จีนจะขายเรือดำน้ำ Yuan-class ให้ไทยนั้น ทางบริษัทสัญชาติเยอรมันแห่งนี้ไม่สามารถใช้อุบายแบบเดิม ๆ เพื่อหลอกทางการได้
เกรวัตต์ ระบุว่า “หากเรือดำน้ำลำนี้ไม่ได้จะถูกส่งไปประเทศไทย คงไม่มีใครรู้เรื่อง (เครื่องยนต์ที่ว่า) และทุกอย่างคงเดินหน้าได้สะดวก แต่ความเป็นจริงที่ว่า จะมีการส่งออก และตกเป็นข่าวไปทั่วแล้ว ซึ่งทำให้เยอรมนีต้องออกมาปฏิเสธการส่งออก” เพราะไม่ใครปฏิเสธได้ว่า ระบบที่ว่านี้จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ด้านกลาโหม
นายคริสตอฟ ริงวอลด์ โฆษกของ MTU ซึ่งเป็นแบรนด์หนึ่งของบริษัท Rolls-Royce Power Systems บอกกับ “วีโอเอ” ว่า ทางบริษัทจัดส่งเครื่องยนต์ให้โรงต่อเรือของจีนหลายแห่ง แต่ไม่เคยเป็นกรณีของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประโยชน์ได้สองทางเลย
ริงวอลด์ ระบุในอีเมล์ที่ส่งถึง “วีโอเอ” ว่า เครื่องยนต์ต่างๆ ที่ส่งให้จีน และเป็นสินค้าแบรนด์ MTU นั้น ไม่ได้ถูกกำกับภายใต้หมวดผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งงานด้านกองทัพและงานฝ่ายพลเรือน ดังนั้น จึงไม่เคยต้องใช้ใบอนุญาตเพื่อส่งออกแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี เขาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นว่า ทำไมเยอรมนีถึงสั่งห้ามส่งออกเครื่องยนต์ MTU สำหรับการต่อเรือดำน้ำของ CSOC ที่ประเทศไทยสั่งซื้อในคราวนี้ หลังจากที่ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการส่งออกใดๆ ให้กับกองทัพเรือจีนมาก่อนเลย
ทั้งนี้ “วีโอเอ” ได้ติดต่อขอความเห็นจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา
เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศจีนบอกกับผู้สื่อข่าวของตนว่า คำสั่งห้ามส่งออกของอียูในครั้งนี้ “ไม่สอดคล้อง” กับระบบระเบียบระหว่างประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และแสดงความหวังว่า อียูจะทำการตัดสินใจ “อย่างถูกต้อง” เกี่ยวกับกรณีเครื่องยนต์นี้ในที่สุด
แต่ถ้าหากทางเยอรมนียังคงยืนยันที่จะไม่ส่งเครื่องยนต์ให้จีน จอน เกรวัตต์ นักวิเคราะห์จากนิตยสาร Janes เชื่อว่า บริษัท CSOC จะมีปัญหาในการหาเครื่องยนต์ที่ใช้ทดแทนกันได้เพื่อมาประกอบเรือดำน้ำให้เสร็จ
แล้วจะอย่างไรต่อ
พล.ร.ต.อภิชัย เปิดเผยว่า CSOC เสนอแผนจะผลิตเครื่องยนต์ใหม่ขึ้นมาสำหรับเรือดำนำที่ไทยสั่ง แต่กองทัพเรือไทยยังไม่ปักใจเชื่อว่า ทางเลือกนี้จะใช้ได้จริง และกำลังรอคำตอบจากบริษัทต่อเรือ (CSOC) ให้มั่นใจว่า เครื่องยนต์ที่ว่านี้จะทำงานได้ดีพอๆ กับของ MTU
ทั้งนี้ พล.ร.ต.อภิชัย ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธรายงานข่าวว่า จีนได้เสนอเรือดำน้ำเก่า 2 ลำให้กับประเทศไทยเป็นทางเลือกหากการต่อเรือนั้นไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ แต่ย้ำกับผู้สื่อข่าวว่า กองทัพเรือไทยจะไม่ยอมรับอะไรก็ตามที่ไม่ใช่เรือดำน้ำ Yuan-class ที่สั่งไป
พอล เชมเบอร์ อาจารย์และที่ปรึกษาด้านกิจการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพไทยและจีนเริ่มตึงเครียดขึ้น หลังจากทั้งสองเริ่มสนิทชิดเชื้อกัน เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามจำหน่ายอาวุธให้กับไทย ที่ทหารทำการก่อรัฐประหารในปี ค.ศ. 2006 และ 2014
แต่อาจารย์ เชมเบอร์ มองว่า ไทยและจีนอาจเริ่มหมางเมินกันเพราะสถานการณ์ในปัจจุบัน และไทยก็อาจเริ่มต้องหันไปมองหาผู้ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์รายอื่นๆ แทน แม้ว่า ในด้านเศรษฐกิจนั้น ไทยยังเห็นความสำคัญของจีนอยู่มากก็ตาม
ที่มา: วีโอเอไทย