“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกเล่ามุมมองเกี่ยวกับ “ระเบียบใหม่” หรือ New World Order ในด้านการเงินโลก ที่กำลังเกิดขึ้นใน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ผ่านทางบทความ “ระบบการเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร?” แบ่งเป็น 3 ตอน นำเสนอในเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระหว่างวันที่ 12-14 เมษายน 2565 มีรายละเอียดเนื้อหา ดังนี้
ระบบการเงินโลกจะรีเซ็ทอย่างไร? (บทความที่ 1)
ในอนาคต นักประวัติศาสตร์จะเขียนว่า ระเบียบใหม่ New World Order ในด้านการเงินโลกนั้น เกิดขึ้นในสงครามยูเครนปี 2022 นี่เอง
นักค้าเงิน Zoltan Pozsar ให้ชื่อระเบียบใหม่นี้ว่า Bretton Woods 3.0 ก่อนสงคราม ไม่มีใครคิดว่ายูเครน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 57 (ไทยอันดับที่ 26) จะมีผลถึงขั้นนี้
แต่สาเหตุที่เป็นเรื่องใหญ่โต เพราะระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ มีผลทำลายล้างหนักหน่วงและยาวนาน มากกว่าระเบิดทีเอ็นทีหลายสิบเท่า และตะวันตกใช้แซงชั่นแบบโอเว่อร์ ในระดับระเบิดนิวเคลียร์ทางเศรษฐกิจ
ในอดีต สหรัฐมีการใช้ดอลลาร์เป็นอาวุธ แต่กระทำกับประเทศเล็ก แต่ครั้งนี้ ตะวันตกใช้ทั้งดอลลาร์และระบบการเงินเป็นอาวุธหนัก และเป็นการใช้ต่อรัสเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับที่ 11 ของโลก และเป็นประเทศที่ส่งออกเป็นมูลค่าสองเท่าของนำเข้า ซึ่งสามารถทำสงครามไปได้โดยไม่ต้องซื้อนำเข้า อาวุธ น้ำมัน หรืออาหาร เป็นประเทศที่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ทั่วโลก เมื่อตะวันตกไม่ซื้อ รัสเซียก็จะสามารถเปลี่ยนไปขายให้ตะวันออกได้
ด้วยเหตุนี้ การที่ตะวันตกตั้งความหวังว่า ยิ่งแซงชั่นแรง คนรัสเซียจะเดือดร้อนหนัก และจะบีบให้ปูตินต้องหยุดสงคราม ความหวังนี้ จึงไม่เกิดผล!!!
ก่อนจะมองไปอนาคต ก็ต้องย้อนประวัติศาสตร์ ทำความเข้าใจกับระบบการเงินก่อนรีเซ็ทเสียก่อน
Bretton Woods 1.0
โมเดลนี้เกิดขึ้นหลัง WW2 ตั้งชื่อตามเมืองในสหรัฐ ที่จัดประชุมนานาชาติเรื่อง New Normal ระบบการเงินโลก
ขณะนั้น โลกต้องการระบบ เพื่อการชำระเงิน trade settlement ระหว่างประเทศที่เกินดุลการค้า กับประเทศที่ขาดดุล ที่มีประสิทธิภาพ และใช้สะดวก
ข้อเสนอของสหรัฐชนะ เพราะหลัง WW2 เศรษฐกิจสหรัฐใหญ่สุด เป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของโลก
รูป 1 แสดงสหรัฐส่งออก ในปี 1948 เป็นอันดับหนึ่ง มากกว่าอังกฤษถึงสองเท่า และสามประเทศ คือ อังกฤษกับแคนาดาและฝรั่งเศส รวมกันจึงจะเท่ากับสหรัฐ
ในระบบนี้ ผูกดอลลาร์กับทองคำ ในอัตรา 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสกุลอื่นจึงค่อยเทียบค่ากับดอลลาร์อีกทอดหนึ่ง
ระบบนี้ทำให้เกิดความสะดวก ประกอบกับมีการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อชี้นำวิธีบริหารเศรษฐกิจและสังคม IMF และ World Bank
ทั่วโลกมีการลดภาษีอากรนำเข้า กระตุ้นการค้าโลก ดอลลาร์จึงเป็นสกุลหลักในด้าน transaction currency นอกจากนี้ ประเทศใดที่ค้าขายเกินดุล ก็นิยมเอาทุนสำรองไปลงทุนดอลลาร์ด้วย ดอลลาร์จึงเป็นสกุลหลักในด้าน reserves currency อีกด้วย
หลักการผูกดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลแกนกลาง เข้ากับทองคำ (Zoltan เรียกทองคำเป็น outside money) ก็คือไม่ให้ประเทศใดขาดดุลมากเกินไป เพราะประเทศที่ขาดดุลถึงจุดหนึ่ง จะต้องยกทองคำไปให้แก่ประเทศที่เกินดุล
อันที่จริง ในขณะนั้นมีข้อเสนอโดยจอห์น เมนาร์ด เคนส์ ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ให้ตั้งสกุลโลกขึ้นใหม่ เรียกว่า Bancor รูป 2-4
หลักการคือ จัดตั้งศูนย์หักบัญชีนานาชาติขึ้น และออกเงินสกุลใหม่คือ Bancor ซึ่งมิใช่เพื่อประชาชนใช้ทั่วไป แต่เพื่อให้รัฐบาลใช้ในการชำระเงินระหว่างประเทศ
ประเทศที่เข้าร่วมจะต้องจ่ายโควต้าตามสัดส่วนการค้าโลก ประเทศที่เกินดุลจะมี Bancor เป็นเครดิต ถ้าขาดดุล จะเป็นเดบิต
ในระบบนี้ ประเทศที่เกินดุลมาก สกุลเงินของตนเทียบกับ Bancor จะแข็งขึ้น ซึ่งจะลดส่งออกโดยอัตโนมัติ ถ้าขาดดุล สกุลเงินของตนจะอ่อนลง ซึ่งจะลดนำเข้า
เคนส์อธิบายว่า หลักคิดของระบบนี้ง่ายมาก กล่าวคือบังคับให้การค้าโลกสมดุล โดยไม่มีประเทศไหนเกินดุลหรือขาดดุลมากเกินไป ระบบนี้จะบังคับให้ปรับตัวอัตโนมัติ
Bancor ถูกกล่าวหาว่า เป็นแผนของอังกฤษ ที่จะพยายามให้เงินปอนด์ยังคงความสำคัญ และถูกปฏิเสธ
ทั้งนี้ ถ้าหากใช้ Bancor สหรัฐจะไม่สามารถขาดดุลการค้าแบบไม่รู้จบเหมือนดังปัจจุบัน (จากการที่สหรัฐสามารถจ่ายเงินสินค้านำเข้า ด้วยเงินกระดาษที่ตนเองพิมพ์ได้แบบไม่รู้จบ)
ในขณะนั้น สหรัฐใหญ่โตทุกด้าน จึงไม่ได้มองไกลว่า วันหนึ่งตนเองจะขาดดุลการค้ามโหฬาร แต่มาถึงวันนี้ สหรัฐย่อมไม่สนับสนุน Bancor ไม่ว่ารูปแบบใดๆ เพราะจะตีกรอบแคบให้แก่ตนเองโดยอัตโนมัติ
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ