เฟคนิวส์“ยึดอำนาจสี จิ้นผิง” ใครเป็นใครในกระแสข่าวลวง

26 ก.ย. 2565 | 08:30 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.ย. 2565 | 15:48 น.

ในข่าวลือซึ่งดูจะเป็นข่าวลวง (fake news) เกี่ยวกับปธน.สี จิ้นผิง ที่ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะนับตั้งแต่เดินทางกลับจากคาซัคสถาน-อุซเบกิสถานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อให้เกิดข่าวลือสะพัดว่าเขาถูกรัฐประหารโดยผู้ก่อการที่เป็นถึงระดับ VIP ทางการเมือง เป็นใครบ้างมาดูกัน

ปรากฏการณ์ข่าวลือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนถูก รัฐประหาร ยึดอำนาจและกักตัวในบ้านพักซึ่งต้นตอมาจากสำนักข่าวออนไลน์ของอินเดียก่อนที่จะกลายมาเป็นไวรัลแพร่สะพัดในสื่อโซเชียลช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ข่าวดังกล่าวก็ยังคงเป็นข่าวโคมลอยไร้หลักฐาน และไม่มีสื่อหลักใดๆ ออกมายืนยัน

 

ในทางกลับกันผู้เชี่ยวชาญการเมืองจีนฟันธงการรัฐประหารในจีนนั้นเป็นไปได้ยาก ข่าวนี้ไม่แคล้วจบลงเป็นได้แค่ข่าวลวง หรือ เฟคนิวส์ (fake news) หนึ่งในนั้นคือ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน ได้โพสต์ เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ถึงกระแสข่าวลือสะพัดดังกล่าว ระบุว่า ได้ทำการตรวจสอบให้แล้ว รีเช็คจนแน่ใจและยืนยันได้ว่า ข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมที่ถูกปล่อยออกมา 

 

นอกจากนี้ ยังระบุว่า ล่าสุด (25 ก.ย.) ทวิตเตอร์สำนักข่าวซินหัว สื่อหลักของจีน ยังประกาศรายชื่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ของพรรคฯในวันที่ 16 ต.ค.นี้ ซึ่งก็มีชื่อปธน.สี จิ้นผิง รวมอยู่ด้วย ดังนั้น ค่อนข้างเชื่อได้ว่า สถานการณ์ในจีนเวลานี้ยังคงเป็นปกติดี 

ซินหัว สื่อใหญ่ของจีนประกาศรายชื่อสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะเข้าร่วมประชุมสมัชชาฯ วันที่ 16 ต.ค.นี้ มีชื่อสี จิ้นผิง (ในวงสีแดง) รวมอยู่ด้วย (ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊กอาจารย์อักษรศรี พานิชสาส์น)

 

อย่างไรก็ตาม ในกระแสข่าวลือ-ข่าวหลอกที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันมานี้ มีการระบุถึงชื่อบุคคลระดับวีไอพีทางการเมืองของจีนอย่างน้อย 2 คนด้วยกัน ซึ่งในข่าวลือระบุว่า เป็นคีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังแผนการยึดอำนาจประธานาธิบดีสี จิ้นผิง โดย 2 บุคคลที่ถูกกล่าวถึงนั้นก็คือ

  • นายหู จิ่นเทา อดีตประธานาธิบดี และ
  • นายเหวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในปี 2012 ขณะนั้นยังเป็นเพียงรองประธานาธิบดี ยืนกลางประกบข้างโดยนายเหวิน เจียเป่า (ซ้าย) และนายหู จิ่นเทา (ขวา)

ก่อนไปทำความรู้จักกับบุคคลทั้งสองเพื่อดูความสัมพันธ์ที่โยงใยกับปธน.สี จิ้นผิง เรามาดูกันก่อนว่า ในกระแส “ข่าวลือ” ที่เกิดขึ้น มีการพูดถึง "พวกเขา" ไว้อย่างไรบ้าง?

 

  • บัญชีทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า นิวไฮแลนด์วิชั่น กล่าวอ้างว่า อดีตประธานาธิบดี หู จิ่นเทา พร้อมด้วย นายเหวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โน้มน้าวให้นายซ่ง ผิง อดีตสมาชิกแห่งคณะกรรมาธิการกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มาเข้าร่วมปฏิบัติการโค่นมังกรสีในครั้งนี้ด้วย หลังจากนั้นก็เข้าควบคุมสำนักงานกองกำลังพิทักษ์กลาง ซึ่งทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดีจีน และคณะกรรมาธิการของโปลิตบูโรฯ ด้วย
  • รายงานข่าวข้างต้น เผยว่า กลุ่มผู้ก่อการได้ประชุมแบบลับๆ หลายครั้งในช่วง 10 วันที่ผ่านมา เพื่อแย่งชิงอำนาจจากประธานาธิบดีสี ซึ่งเป็นการ สกัดกั้นเขาไม่ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 ในการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16 ต.ค.นี้
  • อีกหลายเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ในอินเดีย อาทิ อินเดียทีวี เอาท์ลุคอินเดีย โอพีอินเดีย และอินเดียทูเดย์ พากันรายงานข่าวว่า เกิดกระแสข่าวลือที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ถูกกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (PLA) ก่อรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ โดยข่าวระบุ ปธน.สี ถูกกักบริเวณภายในบ้านพักของเขาในกรุงปักกิ่ง และยังถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนด้วย นอกจากนี้ ยังมีการอ้างถึงการเคลื่อนไหวของขบวนรถถัง และทหารเข้ามาอยู่ในสถานที่ต่างๆ ของกรุงปักกิ่ง

 

หู จิ่นเทา และเหวิน เจียเป่า คือใคร 

หู จิ่นเทา ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2555 และเคยได้ตำแหน่งสูงสุดเป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2556 และประธานแห่งคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2555 เขาเป็นสมาชิกของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง(Politburo Standing Committee) และคณะผู้ตัดสินสูงสุดของจีนโดยพฤตินัย ตั้งแต่ปี 2535 ถึง 2555

 

อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา

หูเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยของประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน เมื่อเขาขึ้นครองตำแหน่งผู้นำ สถิติชี้ว่า หูเป็นผู้นำคนแรกของพรรคคอมมิวนิสต์ที่อายุน้อยกว่าผู้นำพรรคฯรุ่นก่อนๆ ที่เคยเข้าร่วมสงครามกลางเมืองและร่วมยุคการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ เมื่อตอนที่หู จิ่นเทา ขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคฯและขึ้นเป็นประธานาธิบดี นายเจียง เจ๋อหมิน ยังรั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางไว้อีกราว 2 ปี และถูกมองว่าต้องการรักษาฐานอำนาจในกองทัพเอาไว้ 

 

แต่สำหรับ หู จิ่นเทา เมื่อกว่า 10 ปีก่อน (พ.ศ.2556) ตอนเขาลงจากอำนาจ เขาได้สละตำแหน่งจาก 3 อำนาจพร้อมกัน และเปิดทางให้นายสี จิ้นผิง ที่เป็นรองประธานาธิบดี ได้ผงาดขึ้นกุมอำนาจทั้งในพรรค รัฐบาล และกองทัพอย่างสมบูรณ์ 

 

อีกคนในข่าวลือ คือนาย เหวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีน ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2546 –  2556 ในยุคสมัยของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และรองประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เหวิน เจียเป่า อดีตนายกรัฐมนตรีจีน

ขณะดำรงตำแหน่ง เหวินเป็นสมาชิกพรรคที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และเป็นสมาชิกพรรคฯคนเดียวที่เคยทำงานรับใช้เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนถึงสามคนด้วยกัน ซึ่งก็คือ นายหู ย่าวปัง (Hu Yaobang) นายจ้าว จื่อหยาง (Zhao Ziyang) และนายเจียง เจ๋อหมิน (Jiang Zemin)

 

ส่วน สี จิ้นผิง นั้น ในปี 2555 เขาได้ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนคนที่ 6 ทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมาธิการการทหาร และเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่เกิดหลังการปฏิวัติในปี 2492 

 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิก 87 ล้านคน มากกว่าจำนวนประชากรของเยอรมนี ความสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ที่อำนาจการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ ในจีน 

 

ในปี พ.ศ. 2561 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง สี จิ้นผิง สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกการจำกัดวาระประธานาธิบดีซึ่งเติ้ง เสียวผิง ได้กำหนดไว้ว่าประธานาธิบดีจีนจะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ (10ปี) การแก้ไขครั้งนี้ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งบริหารสูงสุดของจีนได้อย่างไม่จำกัดกาลหรือพูดง่ายๆคือสามารถเป็นได้ตลอดชีวิต 

 

สี จิ้นผิง เป็นนักการเมืองสายเหยี่ยวที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันมักถูกมองว่าเป็นเผด็จการหรือผู้นำเผด็จการในสายตาผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองและวิชาการ โดยอ้างถึงการเซ็นเซอร์และการสอดส่องมวลชนที่เพิ่มขึ้น การเสื่อมถอยในสิทธิมนุษยชน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีข่าว "ความขัดแย้ง" ระหว่างบุคคลทั้งสาม 

 

ลัทธิบุคลิกภาพ (ชื่นชมตัวบุคคล)ที่พัฒนารอบตัวสี จิ้นผิง และการยกเลิกข้อจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำของเขา อาจทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเกี่ยวกับสิ่งที่ดูเหมือนความพยายามสืบทอดอำนาจของสี จิ้นผิง แต่สมาชิกในพรรคทุกคนต่างรู้ดีว่า การรักษาอำนาจของพรรคเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และความขัดแย้งทุกอย่างจะใช้กลไกการแก้ไขปัญหาภายในพรรค

สี จิ้นผิง กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์ เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 หลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 กลางเดือนต.ค.นี้

ทั้งนี้ หลังยุคของเติ้ง เสี่ยวผิง ถึงแม้จะมีความขัดแย้งภายในพรรค แต่ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ความขัดแย้งจะลุกลามกลายเป็นการช่วงชิงอำนาจ และปรากฏสู่สายตาคนภายนอก
 

นักวิเคราะห์การเมืองจีนกล่าวว่า ก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี บรรดาผู้นำในพรรคฯ จะไปพักร้อนที่ริมทะเลสาบ “เป่ยไต้เหอ” ในมณฑลเหอเป่ย เพื่อหารือเรื่องสำคัญที่จะพิจารณาในการประชุมใหญ่พรรคฯ ความไม่ลงรอยกันจะถูกถกเคลียร์กัน ณ ตรงนี้ ก่อนที่ทุกฝ่ายจะเข้าสู่การประชุมใหญ่พรรคฯในเดือนตุลาคม

 

ซึ่งไฮไลท์คือ การลงมติครั้งประวัติศาสตร์ รับรองให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สามติดต่อกัน