หลังลิซ ทรัสส์ ลาออก ใครจะเป็นนายกฯอังกฤษคนต่อไป

21 ต.ค. 2565 | 00:07 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2565 | 07:57 น.

การประกาศลาออกของนางลิซ ทรัสส์ จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งหมายถึงการออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วใครจะเป็นนายกฯ คนใหม่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าเช่นนี้ กระบวนการคัดสรรนายกฯคนใหม่เป็นอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

 

พลันที่ นางลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (พรรคคอนเซอร์เวทีฟ) และการเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมาทั้งที่เพิ่งดำรงตำแหน่งได้เพียง 45 วัน เธอก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ครองตำแหน่ง “สั้นที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเมืองของ ประเทศอังกฤษ และคำถามที่ตามมาก็คือ ใครจะเข้ามารับตำแหน่งแทนต่อจากนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ประวัติศาสตร์จะจารึกว่า เขาคนนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกในรัชสมัยของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่สาม

ลิซ ทรัสส์ นายกฯที่ดำรงตำแหน่งในระยะเวลาสั้นที่สุดของอังกฤษ (45 วัน)

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับมาดูบริบทของการลาออก นางทรัสส์ประกาศลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาลต่อหน้าผู้สื่อข่าวหลายสิบชีวิตเมื่อวันพฤหัสฯ (20 ต.ค.) โดยระบุว่า เธอเข้ามารับตำแหน่งในภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับความไร้เสถียรภาพครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจและการต่างประเทศ นั่นหมายถึงเธอได้รับเลือกจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ซึ่งภายใต้การบริหารงานช่วงระยะเวลาสั้นๆของเธอ รัฐบาลได้แก้ปัญหาราคาพลังงาน และลดเงินนำส่งประกันสังคม จากนั้น รัฐบาลยังมีแผนจะสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเก็บภาษีอัตราต่ำ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้

 

ดังนั้น จึงตัดสินใจลาออกหลังจากที่ได้เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่สามเพื่อถวายรายงานในเรื่องนี้ การแถลงข่าวลาออกดังกล่าวใช้เวลาเพียง 90 วินาที โดยไม่เปิดให้ผู้สื่อข่าวซักถาม

 

อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าจะดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปจนกว่าทางพรรคจะได้ผู้นำพรรคคนใหม่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากพรรคแรงงานและพรรคลิเบอรัลเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักที่ระบุว่า ควรมีการประกาศยุบสภาเพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ได้แล้ว เพราะพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนธันวาคม 2019 (พ.ศ. 2562) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไร้น้ำยาในการบริหารประเทศ

 

ทั้งนี้ การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของนางลิซ ทรัสส์ หมายความว่า เธอได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยโดยอัตโนมัติ หลังจากนี้ ทางพรรคจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่ภายในสัปดาห์หน้า และผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

 

มีใครบ้างที่จะเข้าตากรรมการ

สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า หนึ่งในผู้ที่ถูกคาดหวังว่าจะเข้าร่วมสังเวียนชิงตำแหน่งผู้นำคนใหม่ครั้งนี้ ก็คือ นายบอริส จอห์นสัน อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษนั่นเอง แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยัน เพราะเขากำลังพักผ่อนอยู่ในแถบทะเลแคริบเบียน

 

คนต่อไปคือ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลัง และเป็นผู้ที่เพิ่งพ่ายแพ้ให้กับนางทรัสส์ในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคฯแทนนายบอริส จอห์นสัน เมื่อครั้งล่าสุด  มีการรายงานว่า เขาพร้อมที่จะเข้าร่วมการชิงตำแหน่งนี้อีกครั้ง แต่ยังไม่ประกาศตัวลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ

 

คราวนี้ มงจะลงที่ซูแนคหรือไม่

อีกคนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำในครั้งนี้ แม้จะยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการก็คือ เพนนี มอร์เดินท์ ซึ่งได้คะแนนโหวตมากเป็นอันดับสามในการชิงตำแหน่งผู้นำพรรคฯ เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา

 

ส่วนชื่ออื่นๆ ที่ถูกพูดถึง ได้แก่ นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหม นายเคมี บาเดนอค รัฐมนตรีการค้าระหว่างประเทศ นายเจมส์ เคลเวอร์ลี รัฐมนตรีต่างประเทศ และนางซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีมหาดไทยที่เพิ่งลาออกเมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

 

ขณะที่นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลัง รีบปฎิเสธ กันตัวเองออกจากการแข่งขันอย่างรวดเร็ว ซึ่งบางคนวิเคราะห์ว่า ท่าทีนี้อาจถือเป็นการสนับสนุนนาย ริชี ซูแนค ของนายฮันต์ก็เป็นได้

 

บีบีซีระบุว่า มีรายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า อดีตสมาชิกพรรค 2 คนที่เคยลงชิงชัยครั้งก่อน คือนายไมเคิล โกฟ และนายทอม ​​ทูเกนด์แฮต ได้ออกมาปฏิเสธที่จะลงแข่งขันเลือกตั้งผู้นำพรรคคนใหม่แล้วเช่นกัน

 

กระแสกดดันก่อนการลาออก

ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว นางทรัสส์ตกอยู่ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังจากที่นายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลังคนใหม่หมาดประกาศต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่าจะยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ ที่บรรจุอยู่ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า "งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ" (mini-budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์

 

ย้อนไปอีกนิดก่อนหน้านั้น การที่รัฐบาลประกาศงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อเมื่อวันที่ 23 ก.ย. โดยที่ไม่มีรายละเอียดว่าจะนำเงินจากไหนมาใช้สำหรับแผนการนี้ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ผันผวนร่วงต่ำเป็นประวัติการณ์ก่อนดีดตัวขึ้น อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านพุ่งพรวด ราคาพันธบัตรรัฐบาลทรุดหนัก จนธนาคารกลางต้องเข้ามาแทรกแซง

 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นายกวาซี กวาร์เทง รัฐมนตรีคลังในขณะนั้น ซึ่งเป็นคนสนิทของนางทรัสส์ ต้องถูกปลดจากตำแหน่ง หลังอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 38 วันเท่านั้น ก่อนที่นายเจเรมี ฮันต์ จะขึ้นมารับตำแหน่งแทน

 

การตัดสินใจของนายฮันต์ในการยกเลิกแผนการตัดลดภาษีแทบทั้งหมดของนางทรัสส์ สร้างความยินดีให้แก่บรรดานักลงทุน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการฉีกแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจของนางทรัสส์จนไม่เหลือชิ้นดี จากนั้นก็มีกระแสเรียกร้องให้เธอลาออกจากตำแหน่งหลังจากเข้าบริหารประเทศได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ในตอนแรกเธอยืนกรานไม่ออกลา เพราะต้องการอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพื่อสร้างประเทศที่มีระบบภาษีต่ำ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีเสถียรภาพ 

 

นับแต่ปี 2019 ที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟขึ้นมาบริหารประเทศ อังกฤษมีรัฐมนตรีคลังมาแล้วถึง 4 คน ในจำนวนนี้ มีนายนาดีม ซาฮาวี ที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดเป็นอันดับ 3 ด้วยเวลาเพียง 63 วัน และนายซาจิด จาวิด ที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดเป็นอันดับ 4 ด้วยเวลา 204 วัน (ส่วนรัฐมนตรีคลังที่อยู่ในตำแหน่งสั้นที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ นายกวาซี กวาร์เทง 38 วัน อันดับ 1 คือ นายเอียน แม็กลอยด์ ที่หัวใจวาย เสียชีวิตหลังรับตำแหน่งเพียง 30 วันเมื่อปีค.ศ.1970)

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯอังกฤษคนต่อไป เขาคนนั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ รวมทั้งโจทย์ใหญ่ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนยวบ เงินเฟ้อที่พุ่งทำสถิติ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปีหน้า และคลื่นใต้น้ำความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศที่มีมายาวนาน