สหรัฐตัดสินแล้ว! บริษัทจีนใช้ไทยเป็นฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์เลี่ยงภาษี

02 ธ.ค. 2565 | 23:17 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ธ.ค. 2565 | 06:35 น.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยผลตัดสินขั้นต้น ชี้บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีน ใช้ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เป็นฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงภาษีสหรัฐ

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ แถลงวานนี้ (2 ธ.ค.) ว่า บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีน ได้ใช้ ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บ ภาษีนำเข้า จากสหรัฐ

 

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าว ได้แก่ BYD Co., Canadian Solar International Ltd., Trina Solar Science & Technology Ltd. และ Vina Solar Technology Co. ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัททั้ง 4 คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่มีการนำเข้าในสหรัฐอเมริกา

 

การแถลงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐครั้งนี้ เป็นเพียงคำตัดสินเบื้องต้น ซึ่งหลังจากนี้ ทางกระทรวงฯ จะส่งเจ้าหน้าที่มายังประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนที่จะมีคำตัดสินขั้นสุดท้ายในเดือนพ.ค.2566 ซึ่งหากผิดจริงอาจจะทำให้มีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสูงถึง 250%

 

แม้สุดท้ายแล้ว ทางกระทรวงฯ มีผลการตัดสินว่าจะเรียกเก็บภาษีต่อแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่ก็จะยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี

 

สาเหตุเนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าอุปกรณ์ดังกล่าว โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐเอง สามารถเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผลักดันนโยบายพลังงานสะอาดของปธน.ไบเดนให้ได้เสียก่อน

ปธน.โจ ไบเดน ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้แผงโซลาร์เซลล์เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือน

ก่อนหน้านี้ ออกซิน โซลาร์ (Auxin Solar) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่

 

แต่ความเคลื่อนไหวของออกซิน โซลาร์ก็ได้รับแรงต้านจากสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) ที่ออกมาเตือนว่า การสอบสวนดังกล่าวจะส่งผลให้การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงมาอยู่แล้วเนื่องจากปัจจัยลบเหล่านี้ ได้แก่

  • มีต้นทุนในระดับสูง
  • ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า
  • และปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน

 

ซึ่งเหล่านี้นับเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของปธน.ไบเดนที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา