ผลการวิจัยที่ได้รับการตรวจสอบโดยสถาบันวิจัยต่าง ๆ ภายใต้การนำของ สถาบัน 5 Gyres Institute ซึ่งเป็นองค์กรแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่รณรงค์ให้มี การลดมลภาวะจากพลาสติก เปิดเผยว่า น่าจะมี อนุภาคพลาสติก ประมาณ 171 ล้านล้านชิ้นล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรของโลกในปี 2562 แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ พลาสติกที่ก่อมลภาวะในทะเล เหล่านี้ อาจเพิ่มปริมาณขึ้น 2.6 เท่าภายในปี 2583 หากไม่มีการนำนโยบายระดับโลกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายมาใช้
การศึกษานี้ได้พิจารณาข้อมูลมลภาวะจากพลาสติกในระดับพื้นผิวที่รวบรวมโดยสถานีมหาสมุทร 11,777 แห่งในพื้นที่ทะเลหลัก 6 แห่ง โดยครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ.2522 จนถึงปี 2562
มาร์คัส เอริคเซน ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน 5 Gyres Group กล่าวว่า พวกเขาได้พบแนวโน้มที่น่าตกใจเกี่ยวกับการเติบโตแบบทวีคูณของไมโครพลาสติกในมหาสมุทรทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และว่า “เราจำเป็นต้องมีสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยมลภาวะพลาสติกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อที่จะสามารถยุติปัญหาที่ต้นเหตุ”
ทั้งนี้ ไมโครพลาสติกเป็นอันตรายต่อมหาสมุทรมากเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงแต่จะปนเปื้อนในน้ำ แต่ยังสามารถทำลายอวัยวะภายในของสัตว์ทะเลซึ่งเข้าใจผิดคิดว่า พลาสติกเหล่านี้เป็นอาหารของพวกมันอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมา มีการประเมินระดับมลภาวะจากพลาสติกทางทะเลในมหาสมุทรต่ำกว่าเป็นจริง
พอล ฮาร์วีย์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกจาก Environmental Science Solutions ซึ่งเป็นองค์กรของออสเตรเลีย ซึ่งมุ่งทำงานด้านการลดมลภาวะกล่าวว่า ตัวเลขในงานวิจัยชิ้นใหม่นี้เป็นปรากฏการณ์ที่น่าทึ่งและเกือบจะยากเกินกว่าที่จะเข้าใจด้วย
องค์การสหประชาชาติได้เริ่มการเจรจาข้อตกลงเพื่อจัดการกับมลภาวะจากพลาสติกในการประชุมที่อุรุกวัยในเดือนพฤศจิกายนของปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะร่างสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายภายในสิ้นปีหน้า (2567)
กรีนพีซ ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า หากไม่มีสนธิสัญญาระดับโลกที่แข็งแกร่ง การผลิตพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายใน 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า และอาจเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าได้ภายในปีค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นอกจากความคืบหน้าในการผลักดันข้อตกลงข้างต้นแล้ว ยังมีสนธิสัญญาสากลอีกหนึ่งฉบับที่มีเนื้อหาว่าด้วยการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลหลวงของโลก ซึ่งเพิ่งจะได้รับความเห็นชอบจากนานาชาติไปเมื่อเร็วๆนี้ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง