“อีลอน มัสก์” เปิดใจหมดเปลือก เป็นเจ้าของทวิตเตอร์มันเจ็บปวดยังไง

12 เม.ย. 2566 | 17:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 เม.ย. 2566 | 23:25 น.

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและทวิตเตอร์ เปิดใจเกี่ยวกับเส้นทางการบริหารบริษัททวิตเตอร์ที่ทุ่มซื้อมา 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ว่าเป็นสิ่งที่ "เจ็บปวดมาก"

 

อีลอน มัสก์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อบีบีซีและสตรีมมิ่งสดในค่ำวันอังคาร (11 เม.ย.) ผ่านทางทวิตเตอร์ สเปซ ช่องทางห้องสนทนากลุ่มของ ทวิตเตอร์ ที่คล้ายกับคลับเฮาส์ โดยเขาได้พูดคุยแบบเปิดใจหมดเปลือกเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ รวมทั้งเรื่อง การปลดพนักงานล็อตใหญ่ ประเด็นข่าวปลอม และรูปแบบการทำงานของเขา

“มันไม่น่าเบื่อเลยสักนิด มันเหมือนกับรถไฟเหาะตีลังกาเอามาก ๆ” มัสก์เปิดประเด็นเกี่ยวกับความยากลำบากในการบริหารจัดการ “ทวิตเตอร์” หลังจากที่เขาได้ทุ่มทุนซื้อกิจการมาด้วยราคาสูงถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.6 ล้านล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา (2565)

หลังจากปรับโครงสร้างผู้บริหาร โดยโละผู้บริหารชุดเดิมเกือบจะทั้งหมด ตามด้วยการปลดพนักงานอีกจำนวนมาก ตอนนี้ ทวิตเตอร์ บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ยอดฮิต ได้กลับมาสู่จุดคุ้มทุนแล้วภายในเวลาไม่ถึงปี

อิลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและทวิตเตอร์

สำนักข่าวเอพีรายงานเกี่ยวกับการออกสื่อในครั้งนี้ของอีลอน มัสก์ ว่า นี่เป็นโอกาสที่ยากมากที่สื่อกระแสหลักจะมีโอกาสสัมภาษณ์นายมัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทเทสลาและสเปซเอ็กซ์ (อ่านเพิ่มเติม: เปิดอาณาจักรธุรกิจ “อีลอน มัสก์” หลังปิดดีลซื้อทวิตเตอร์) เพราะหลังจากเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์มูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีก่อน มัสก์ก็ได้เปลี่ยนแปลงองค์กรหลายด้านรวมทั้งการยุบแผนกด้านการสื่อสารของทวิตเตอร์ไปด้วย ทำให้ในตอนนี้ ผู้สื่อข่าวที่พยายามติดต่อทวิตเตอร์เพื่อขอความเห็นในการจัดทำรายงานข่าวจะได้รับข้อความตอบรับอัตโนมัติที่มีอีโมจิรูปอุจจาระอยู่ในนั้นด้วย

ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ มัสก์มีช่วงเวลาที่ตึงเครียดในบางครั้ง เขาท้าทายผู้สื่อข่าวให้หาข้อมูลมาสนับสนุนประเด็นเรื่องวาทะสร้างความเกลียดชังที่เพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์ หลายครั้งในการสัมภาษณ์ มัสก์ นั่งขำกับมุกตลกของตัวเอง ที่กล่าวมากกว่าหนึ่งครั้งในการสัมภาษณ์ว่าเขาไม่ใช่ซีอีโอทวิตเตอร์ แต่ซีอีโอที่แท้จริงคือ “โฟลกิ” สุนัขของเขาต่างหาก

นอกจากนี้ มัสก์ยังเผยว่า เขาเคยนอนหลับคาโซฟา ที่สำนักงานใหญ่ของทวิตเตอร์ในนครซานฟรานซิสโกเป็นครั้งคราว บ่งบอกถึงการทุ่มเทกับภารกิจที่หนักหน่วงในการพลิกฟื้นผลประกอบการของทวิตเตอร์

สำหรับประเด็นการปลดพนักงานรอบใหญ่ของทวิตเตอร์และความพยายามลดต้นทุนองค์กร เขากล่าวด้วยว่าจำนวนพนักงานปรับลดลงมาเหลือราว 1,500 คน จากเดิมที่มีถึง 8,000 คน ถึงจะเจ็บปวด แต่มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

“มันไม่สนุกเลยสักนิด” และ “บริษัทกำลังจะล้มละลายหากเราไม่ลดต้นทุนในทันที นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะมาใส่ใจหรือไม่ใส่ใจความรู้สึกของใคร แต่มันเหมือนกับว่า ถ้าเรือทั้งลำจมไปแล้วจะไม่มีงานเหลือให้ใครได้ทำต่างหาก”

ในช่วงหนึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เขาเสียใจหรือไม่ ที่ซื้อกิจการทวิตเตอร์มา อีลอน มัสก์ ที่เคยเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก (แต่ตอนนี้ถูกเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ แห่งอาณาจักรแบรนด์หรู LMHM ช่วงชิงตำแหน่งนั้นไปแล้ว คลิกที่นี่ เพื่อดูความมั่งคั่งของอีลอน มัสก์) ตอบว่า มันคือสิ่งที่ “จำเป็นต้องทำ” และว่าระดับความเจ็บปวดเกี่ยวกับบริษัททวิตเตอร์นั้นถือว่า “สูงมาก ๆ”

ส่วนเรื่องการดำเนินงานของบริษัทต่อไปในอนาคตนั้น อีลอน มัสก์กล่าวโดยไม่ลงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า รายได้โฆษณาโดยส่วนใหญ่เริ่มกลับมาแล้วหลังการเข้าซื้อกิจการของเขา และเขาคาดว่าทวิตเตอร์จะ “มีกระแสเงินสดเป็นบวก” ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลด้านการเงินของทวิตเตอร์ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ เนื่องจากมัสก์ดึงทวิตเตอร์ออกมาจากการเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่เขาเข้าซื้อกิจการเมื่อปีที่ผ่านมา

เปิดอาณาจักรธุรกิจของอีลอน มัสก์ (เมษายน 2565)