เวียดนามบุกหนัก ร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีน

16 เม.ย. 2566 | 09:31 น.
อัปเดตล่าสุด :16 เม.ย. 2566 | 09:48 น.

จีนเป็นตลาดใหญ่สำหรับทุเรียนนำเข้า แม้ว่าส่วนใหญ่จะครอบครองโดยทุเรียนไทย แต่แนวโน้มคู่แข่งก็มีมากขึ้นเช่นกันจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง "เวียดนาม"ที่กำลังมาแรง

 

จากข้อมูลของ กรมศุลกากรเวียดนาม ที่รายงานโดยสื่อท้องถิ่น นสพ.หนานดาน เดลี (Nhan Dan Daily) คาดว่า ยอดขาย ทุเรียน ใน ตลาดจีน จะสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี 2566 นี้ โดยทุเรียนเป็นผลไม้สดนำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุดของจีน มีมูลค่าถึง 4,210 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 และส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย

แม้ว่าการบริโภคทุเรียนในที่สาธารณะจะถูกห้ามในหลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากกลิ่นของมัน แต่ผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนสดของจีนก็ยังเต็มใจที่จะจ่ายในราคาสูงสุดสำหรับผลไม้ที่มีรสชาติยากจะพรรณนานี้

โว ตัน ลอย (Vo Tan Loi) ผู้อำนวยการบริษัท เฟือง ง็อก-ไค บี (Phuong Ngoc-Cai Be) ผู้ส่งออกผลไม้ที่มีประสบการณ์ในจังหวัดเตี๋ยนยาง บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า ตลาดจีนมีขนาดใหญ่มาก เมื่อใดก็ตามที่จีนให้ความสนใจกับผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เกษตรกรเวียดนามก็ต้องพยายามปลูกผลไม้ชนิดนั้นให้เพียงพอต่อความต้องการของชาวจีน

ผู้บริโภคชาวจีนที่ชื่นชอบทุเรียนสด ยังคงเต็มใจที่จะจ่ายในราคาสูงสุดสำหรับผลไม้ชนิดนี้

เวียดนามเองให้ความสำคัญกับตลาดทุเรียนในจีน แต่ขณะที่ชาวสวนทุเรียนเวียดนามกำลังเฉลิมฉลองการเปิดประตูการค้ากับจีน ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า อย่าพยายามพึ่งพาตลาดที่ที่ไม่จีรังยั่งยืนหากรสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือหากความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างปักกิ่งและฮานอยเกิดปะทุขึ้นอีกครั้งจากการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ นั่นก็จะก่อให้เกิดปัญหากับเกษตรกรและผู้ส่งออกของเวียดนามได้

ความซับซ้อนของเรื่องนี้คือความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยอุปสรรคระหว่างเวียดนามกับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าและตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทั้งสองประเทศติดอยู่ในข้อพิพาทเรื่องดินแดนเหนือหมู่เกาะ พื้นที่ทำการประมง และสิทธิในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้มาเป็นเวลานานแล้ว

ชาวสวนอาจ “ได้รับผลกระทบอย่างหนัก” หากจีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียน เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมือง

ลอย เตือนว่า ชาวสวนอาจ “ได้รับผลกระทบอย่างหนัก” หากจีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียน เนื่องจากความตึงเครียดทางการเมือง หรือการที่ราคาตกต่ำเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด และว่า

“ต้นทุเรียนแต่ละต้นต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปีในการโตเต็มที่และออกผล ดังนั้น ชาวสวนอาจต้องสูญเสียเวลาไปอีก 7-8 ปีหากเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดจีน”

โว ตัน ลอย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของเวียดนาม บอกกับสำนักข่าววีโอเอภาษาเวียดนามว่า จากประสบการณ์หลายปี เขาได้เห็นวัฏจักรที่เกษตรกรละทิ้งพืชชนิดหนึ่งเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลกำไรสูงกว่าในตลาดจีนมาหลายรอบแล้ว อย่างเช่นเมื่อตอนที่ราคาขนุนสูงถึงกิโลกรัมละ 2.5-3 ดอลลาร์ พวกเขาเลิกปลูกส้มและส้มแมนดารินเพื่อหันมาปลูกขนุน และในตอนนี้เมื่อสามารถส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนได้อย่างเป็นทางการแล้ว พวกเขาก็เริ่มโค่นสวนขนุนทิ้ง

วีโอเอประจำประเทศเวียดนามได้สอบถามไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม และฝ่ายการค้าของสถานทูตเวียดนามในกรุงปักกิ่ง เกี่ยวกับมาตรการปกป้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจากความผันผวนของตลาด แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ

นายนเหงียน กวง เอ นักเศรษฐศาสตร์ในกรุงฮานอย ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน Institute of Development Studies ซึ่งปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว เตือนว่า เกษตรกรไม่ควรเร่งรีบในการส่งออกทุเรียน และว่า “เป็นเรื่องดีที่เวียดนามสามารถเจาะตลาดทุเรียนขนาดใหญ่ของจีนได้” ซึ่ง “เวียดนามสามารถใช้ความใกล้ชิดกับจีนเป็นข้อได้เปรียบในการส่งออกผลไม้สด”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ทางการเวียดนามควรเรียนรู้บทเรียนจากพฤติกรรมการนำเข้าผลไม้ของจีนในอดีตด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างทั้งสองประเทศเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ในขณะที่ตลาดจีนเองก็มีความผันผวนอย่างมาก ซึ่งนโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน

เขายังกล่าวด้วยว่า ผู้กำหนดนโยบายของเวียดนามควรคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงเมื่อคิดจะส่งออกไปยังตลาดจีนและควรมีแผนการรองรับ ทั้งนี้ เขาแนะนำให้มีการสำรวจตลาดทางเลือกเผื่อเอาไว้ด้วย และควรขยายตลาดในประเทศของเวียดนามเองที่มีประชากรถึง 100 ล้านคน และให้แรงจูงใจแก่อุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ภายในประเทศด้วย เป็นต้น

ที่มา: วีโอเอ