"ฝูงแพะชิลี" วิถีธรรมชาติ ความสำเร็จร่วมป้องกันไฟป่า

11 มิ.ย. 2566 | 05:26 น.
อัพเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2566 | 05:55 น.

ทีมนักผจญเพลิงกู้ไฟป่าในประเทศชิลีพบว่า สัตว์อย่าง “แพะ” ก็สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรับมือปัญหาไฟป่าในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง

 

ชิลี ประเทศใหญ่ในละตินอเมริกา ประสบปัญหาไฟป่าแทบทุกปี ซึ่งการสร้างแนวป้องกันไฟเป็นมาตรการเชิงป้องกันที่ทั้งหน่วยงานรัฐและชุมชนท้องถิ่นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ พวกเขาค้นพบแนวทางหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างเหลือเชื่อ แถมยังเป็นวิธีการที่ธรรมชาติมาก ๆ ไม่ได้ต้องการใช้อุปกรณ์อะไรมากมาย อาศัยเพียงสัตว์เลี้ยงอย่าง “แพะ” และการคำนวณที่แม่นยำเท่านั้น ก็สามารถระงับยับยั้งปัญหาไฟป่าในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

\"ฝูงแพะชิลี\" วิถีธรรมชาติ ความสำเร็จร่วมป้องกันไฟป่า

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ที่เมืองซานตาฮัวนาทางตอนใต้ของชิลี ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไฟป่าเมื่อต้นปีนี้ ชาวเมืองมีหน่วยเฉพาะกิจเพื่อช่วยต่อสู้กับไฟป่า ซึ่งก็คือฝูงแพะนั่นเอง ฝูงแพะเหล่านี้ได้ช่วยป้องกันความเสียหาย (จากไฟป่า) ให้กับป่าพื้นเมืองของโบสเกส เด ชาเค (Bosques de Chacay) ไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยพวกมันช่วยป้องกันไม่ให้ป่าแห่งนี้ถูกไฟป่าเผาผลาญ ซึ่งไฟป่าดังกล่าวมีต้นตอมาจากคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บอีกหลายพันคน และพื้นที่เกือบ 440,000 เฮกตาร์ หรือ 2,750,000 ไร่ถูกทำลาย

โรซิโอ ครูเซส ผู้ร่วมก่อตั้งอุทยานที่มีขนาดขนาด 16 เฮกตาร์ หรือราว 100 ไร่ และเป็นผู้ริเริ่มบูเอนา คาบรา (Buena Cabra) โครงการที่ใช้แพะในการสร้างแนวกันไฟ เปิดเผยว่า พื้นที่ป่าถูกล้อมรอบด้วยไฟ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นจุดสีเขียวเพียงแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่

แนวคิดหลัก ๆ ของการป้องกันไฟวิธีนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาและประเมินผลในระยะยาว คือจะมีการเลี้ยงแพะเพื่อควบคุมทุ่งหญ้าแห้งและพืชอื่น ๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงของไฟป่าในฤดูร้อน นอกจากนี้ มูลแพะยังช่วยทำให้ดินมีความสมบูรณ์และป้องกันการพังทลายของหน้าดินอีกด้วย เทคนิคดังกล่าวนี้ถูกใช้ในโปรตุเกสและสเปนเช่นกัน

“ไฟลุกลามมาถึงอุทยานของเรา แต่มีเพียงต้นไม้แถวแรกเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ซึ่งมีอัตราส่วนน้อยกว่า 10% ของพื้นที่อุทยาน” ครูเซสกล่าว และว่ามีเปลวไฟเล็ก ๆ เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้ลุกลามออกไปเนื่องจากมีแพะช่วยกำจัดเชื้อไฟ (ทุ่งหญ้าแห้ง)

ทั้งนี้ ครูเซสเริ่มโครงการฝูงแพะดับเพลิงนี้หลังจากเกิดไฟป่าร้ายแรงในปี 2017 ฝูงแพะของเธอเพิ่มขึ้นจากแพะ 16 ตัวเป็น 150 ตัว และเธอหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น ๆ ทำตามเช่นกัน

ฟรานซิสโก ดิ นาโปลี วิศวกรป่าไม้จากมหาวิทยาลัย Concepcion ในชิลี ผู้คุ้นเคยกับเทคนิคที่เรียกว่า strategic grazing ซึ่งเป็นการกำหนดพื้นที่การเล็มทุ่งหญ้าของสัตว์อย่างมีกลยุทธ์ กล่าวว่า ในอดีตประเทศชิลีประสบความล้มเหลวในการป้องกันอัคคีภัย แต่ต่อไปนี้ ฝูงแพะจะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างมาก

วิศวกรรายนี้เสริมว่าองค์กรอื่น ๆ ควรประเมินด้วยว่า จะสามารถนำวิธีการนี้ไปใช้ได้อย่างไรบ้าง โดยให้ลองค้นหาว่า มีทุ่งหญ้าไหนบ้างที่เสี่ยงในการเป็นเชื้อไฟ และจากนั้นก็ให้ส่งทีมแพะเข้าไปจัดการเคลียร์พื้นที่ด้วยวิถีธรรมชาติ