"บลิงเคน"เตรียมพบ"สี จิ้นผิง"วันนี้ คลายความตึงเครียดจีน-สหรัฐ

19 มิ.ย. 2566 | 09:09 น.
อัพเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2566 | 09:36 น.

เจ้าหน้าที่สหรัฐเผยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ มีกำหนดเข้าพบปธน.สี จิ้นผิง ผู้นำจีนวันนี้ (19 มิ.ย.) กระชับสัมพันธ์สองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

 

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐมีกำหนดเข้าพบ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ในวันนี้ (19 มิ.ย.) ก่อนที่นายบลิงเคนจะเสร็จสิ้น ภารกิจเยือนจีน ซึ่งมีขึ้นเป็นเวลา 2 วัน เป้าหมายเพื่อลดทอนความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐที่ปีนเกลียวกันมากขึ้นในระยะหลังนี้ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากท่าทีของสหรัฐที่มีต่อไต้หวัน

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า นายบลิงเคนจะพบปะกับปธน.สีในเวลา 16.30 น.ของวันนี้ตามเวลาปักกิ่ง หรือราว 15.30 น.ของวันนี้ (19 มิ.ย.) ตามเวลาประเทศไทย

ทั้งนี้ นายบลิงเคนถือเป็นนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนจีน นับตั้งแต่นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นอกจากนี้ นายบลิงเคนยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนจีนในรอบเกือบ 5 ปีด้วย

นายบลิงเคนถือเป็นนักการเมืองระดับสูงของสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนจีน นับตั้งแต่นายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

สื่อรายงานว่า เพิ่งจะมีกระแสข่าวว่านายบลิงเกนจะได้พบกับปธน.สีเมื่อเขาเดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งนี้เอง และการพบปะกันครั้งนี้ ก็ถูกมองว่าเป็น “สัญญาณเชิงบวก” ที่บ่งชี้ว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น

ในวันเดียวกันนี้ นายบลิงเคนยังได้พบปะหารือกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐจีน โดยทั้งคู่ได้หารือกันเกี่ยวกับความตึงเครียดระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศในประเด็นไต้หวันและประเด็นอื่น ๆ

ก่อนหน้านี้ นายบลิงเคนมีกำหนดเดินทางเยือนจีนมาตั้งเดือนก.พ. ที่ผ่านมา แต่แผนการถูกระงับไป เนื่องจากเกิดประเด็นเผชิญหน้าเรื่องบอลลูนสอดแนมของจีนที่ล่วงล้ำเข้ามาเหนือน่านฟ้าของสหรัฐ จนทำให้กองทัพสหรัฐตัดสินใจยิงบอลลูนทิ้ง ซึ่งส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นับเป็นบรรยากาศความขัดแย้งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เนื่องจากสหรัฐและจีนต่างเป็นสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

การเยือนจีนของนายบลิงเกคครั้งนี้ ยังถูกมองว่าเป็นการปูทางถึงความเป็นไปได้ที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ จะได้พบปะหารือกับปธน.สี จิ้นผิงอีกครั้ง หลังจากที่ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันครั้งแรกที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา (2565) ซึ่งเป็นการพบกันนอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ

การประชุมปรับความสัมพันธ์ระดับรมว.ต่างประเทศ

นายแอนโทนี บลิงเคน เข้าร่วมหารือกับนายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ (18 มิ.ย.) โดยทั้งสองฝ่ายยังคงพยายามหาทางปรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐให้เป็นปกติหลังมีเหตุยกระดับความตึงเครียดมาอย่างต่อเนื่อง

นายบลิงเคน ได้พบปะหารือกับนายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา(18 มิ.ย.)

ผลการหารือที่ใช้เวลาร่วมกันถึง 7 ชั่วโมงครึ่งที่เรือนรับรองเตี้ยวหยูไท่ในกรุงปักกิ่ง นายฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ตอบตกลงที่จะยอมรับคำเชิญเยือนสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ได้มีการระบุกำหนดเวลา นอกจากนี้ รัฐมนตรีทั้งสองยังตกลงที่จะให้มีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างสหรัฐและจีนด้วย

เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐยังเผยว่า ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะเปิดทางให้มีการเดินหน้าทำงานร่วมกันในหลายประเด็นในระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 

ด้านนายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐมนตรีบลิงเคนยืนยันชัดเจนว่า สหรัฐจะยืนหยัดเพื่อปกป้องผลประโยชน์และค่านิยมของชาวอเมริกัน และทำงานร่วมกับพันธมิตรและหุ้นส่วนประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมวิสัยทัศน์แห่งโลกเสรี เปิดกว้าง และยึดมั่นในความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคมที่ยึดโยงกับกฎกติกาอันเป็นสากล

"รัฐมนตรีทั้งสองยังได้หารือหนทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนของสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนในเรื่องต่าง ๆ อย่างง่ายดายขึ้นด้วย" แถลงการณ์ระบุ

วันเดียวกัน นายหัว ชุนยิง ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ได้ทวีตข้อความที่ระบุใจความ “หวังว่าการประชุมนี้จะสามารถช่วยทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐกลับมาอยู่ที่จุดที่ประธานาธิบดีทั้งสอง (โจ ไบเดน และ สี จิ้นผิง) ได้ตกลงกันไว้ที่บาหลี”

ในการประชุมระหว่างสองผู้นำในครั้งนั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างกันเอาไว้เสมอ

เจ้าหน้าที่สหรัฐเปิดเผยว่า วาระของการประชุมระหว่างรมต.บลิงเคนและรมต.ฉินนั้น ประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆที่ครอบคลุมตั้งแต่

  • ความมั่นคงในภูมิภาค
  • การต่อสู้ปราบปรามยาเสพติด
  • การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
  • ความมั่นคงทางเศรษฐกิจมหภาพของโลก
  • ประเด็นชาวอเมริกันที่ถูกคุมขังโดยมิชอบในจีน
  • และการแลกเปลี่ยนการไปมาหาสู่ระหว่างชาวอเมริกันและชาวจีน