คลื่นใต้น้ำ “การเมืองจีน” หลังปลดฟ้าผ่า รมว.ต่างประเทศ

28 ก.ค. 2566 | 02:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2566 | 03:16 น.

นักวิเคราะห์การเมืองและนโยบายต่างประเทศจีนเผยการเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง ซึ่งรวมถึง “ฉิน กัง” รัฐมนตรีต่างประเทศ สะท้อนถึงความปั่นป่วนภายในของรัฐบาลปักกิ่ง

 

หลังจากที่ รัฐบาลจีน ปลดฟ้าผ่า นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกจากตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (25 ก.ค.) นักวิเคราะห์การเมืองและนโยบายต่างประเทศจีน ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ ท่ามกลางคำถามมากมาย โดยวีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐ ประมวลมุมมองที่น่าสนใจ เอาไว้ดังนี้

ความปั่นป่วนภายในของรัฐบาลปักกิ่ง

นับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะการปลดนักการทูตระดับสูงเช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในจีน

นักวิเคราะห์มองว่าการที่นายฉิน กัง ถูกให้ออกจากตำแหน่งครั้งนี้ แสดงถึงความปั่นป่วนภายในของรัฐบาลปักกิ่ง หลังจากที่เขาหายหน้าไปจากสาธารณชนนานหลายสัปดาห์

นายฉิน กัง ต้องโบกมือลาจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศท่ามกลางปริศนาและข่าวลือ

นายฉิน กัง วัย 57 ปี ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบุคคลใกล้ชิดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้นำจีน กระทั่งได้รับการเเต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้น เขาเป็นทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกาในช่วงการระบาดของโควิด-19

"ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ จีนจะยังคงนโยบายการทูตที่บทบาทหลักเป็นของประมุขของประเทศในอนาคตอันใกล้" นักวิเคราะห์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปีนี้ การหายตัวไปจากสื่อเป็นเวลาถึงหนึ่งเดือนของฉิน กัง ทำให้ผู้ติดตามข่าวสารคาดการณ์ต่าง ๆ นานา ว่าอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า “อุบัติเหตุทางการเมือง” กับเขาเข้าให้แล้ว โดยนายฉิน กัง ปรากฎตัวต่อสาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่พบกับเจ้าหน้าที่ประเทศศรีลังกา เวียดนาม และรัสเซีย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม กระทรวงการต่างประเทศจีนเผยว่า ฉินไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมที่อินโดนีเซียได้เนื่องจาก “เหตุผลทางสุขภาพ” โดยไม่ให้ความเห็นเพิ่มเติม ทำให้เกิดข่าวลือสะพัดต่างๆ นานา

เค้าลางความขัดแย้ง 

หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนหน้า ที่ถูกเลื่อนตำแหน่งเป็นคณะกรรมการโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนในช่วงที่ฉินหายตัวไป นายหวังกลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิมหลังจากที่นายฉิน กัง ถูกประกาศปลดในวันอังคาร 

วู เชียง นักวิชาการอิสระด้านจีนศึกษา ให้ความเห็นว่า อาชีพทางการเมืองของนายฉิน กัง จบลงไปแล้ว ท่ามกลาง “วิกฤตที่เดือดปุดๆ” ในวงการทูตจีนขณะนี้ พร้อมอธิบายว่า เมื่อรัฐบาลปักกิ่งสั่งปลดนายฉิน กัง ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งนายหวัง อี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งแทนชั่วคราวนั้น สะท้อนความปั่นป่วนในวงการทูตจีน และเขาเชื่อว่า นายหวัง อี้ จะทำหน้าที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นการชั่วคราว

รัฐบาลปักกิ่ง ไม่ได้ระบุสาเหตุของการปลดฟ้าผ่านายฉิน กัง แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวแพร่สะพัดเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาว และความขัดแย้งทางการเมือง

เอียน ชอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตจีนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติของสิงคโปร์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่มีคำอธิบายใดๆ(จากทางการจีน) เกี่ยวกับการปลดนายฉิน กัง ออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดกระบวนการที่ควรจะเป็น และความไม่แน่นอน รวมทั้งการตัดสินใจแบบตามอำเภอใจด้วย ข่าวระบุว่า ช่วงค่ำวันจันทร์ (24 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับนายฉิน กัง ถูกลบออกเกลี้ยง จากเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศจีน

 

นักวิเคราะห์คาดหมายว่า นายหวัง อี้ น่าจะต้องปรับวิธีทางการทูตที่เเข็งกระด้างของเขา และหันมาใช้วิธีกลาง ๆ มากขึ้น

ผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศจะเป็นเช่นไร

นักวิเคราะห์กล่าวว่า บรรยากาศแห่งความไม่แน่นอนนี้ เกิดขึ้นขณะที่จีนกำลังพยายามดำเนินกิจกรรมทางการทูตที่เเข็งขันหลังจากที่มาตรการล็อกดาวน์ช่วงโควิดระบาดถูกยกเลิกไปหลังจากใช้มายาวนานถึง 3 ปี

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน จัดการประชุมทวิภาคีหลายสิบครั้งกับผู้นำโลก คนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีงานที่จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติกับพันธมิตรจากหลายส่วนของโลก

การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนครั้งนี้ มีขึ้นในขณะที่กำลังเกิดความตึงเครียดหลายเรื่องสืบเนื่องจากนโยบายต่างประเทศของจีนที่นายฉิน กัง เป็นผู้ผลักดัน

ทั้งนี้ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายฉิน กัง ได้เดินทางไปหลายประเทศ รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกาเมื่อเดือนมกราคม และทวีปยุโรปในเดือนพฤษภาคม โดยเขาพยายามผลักดันข้อเรียกร้องของจีนให้มีการหยุดยิงในยูเครน หลังจากก่อนหน้านี้จีนถูกวิจารณ์ว่าไม่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

แนวทางการแสดงความเห็นของฉินต่อประเด็นร้อนต่าง ๆ เช่น ไต้หวัน ความสัมพันธ์กับรัสเซีย ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนมากนัก โดยเขาเคยกล่าวเมื่อช่วงแรกหลังดำรงตำแหน่งว่า การทูตของจีนจะนำเสนอ “ภูมิปัญญา ความคิดริเริ่ม และความแข็งแกร่งแบบจีน” เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายต่อมนุษยชาติทั้งหมด

เมื่อปลายปีที่แล้ว ฉินได้เขียนบทความลงในนิตยสารสัญชาติอเมริกัน The National Interest โดยกล่าวถึงภาพรวมของนโยบายต่างประเทศจีน และเน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน – สหรัฐฯ ไม่ใช่ zero-sum game หรือเกมที่ฝ่ายหนึ่งได้ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งสูญเสียเสมอไป

แต่ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์มองว่า จีนไม่น่าจะเปลี่ยนทิศทางนโยบายต่างประเทศถึงแม้นายฉิน กัง จะโดนปลดอย่างปัจจุบันทันด่วน

"ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ จีนจะยังคงนโยบายการทูตที่บทบาทหลักเป็นของประมุขของประเทศ(หมายถึงปธน.สี จิ้นผิง)ในอนาคตอันใกล้"วู เชียง นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็น นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมว่า ความสำคัญลำดับต้น ๆ ของจีนในด้านนโยบายต่างประเทศตอนนี้ ยังเป็นเรื่องการประชุมสุดยอดเอเปกที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพในช่วงสิ้นปีนี้

วู ยังได้เเสดงความเห็นเกี่ยวกับหวัง อี้ ที่ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอีกครั้งว่า เขาน่าจะต้องปรับวิธีทางการทูตที่เเข็งกระด้างของเขา และหันมาใช้วิธีกลาง ๆ มากขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่จีนต้องการเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่หลากหลายในห้วงเวลานี้

ข้อมูลอ้างอิง