เบอร์เกอร์คิงสหรัฐ ถูกฟ้องกรณีโฆษณาเบอร์เกอร์ชิ้นเนื้อ “ใหญ่เกินจริง”

02 ก.ย. 2566 | 12:50 น.
อัพเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2566 | 13:18 น.

โดยปกติแล้วโฆษณาอาหารมักทำให้สินค้าดูใหญ่กว่า ฉ่ำกว่า และกรอบกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว แต่ผู้บริโภคบางคนถือว่าโฆษณาแบบนี้อาจ “ข้ามเส้น” ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ซึ่งนำไปสู่คดีความมากมายเกิดขึ้นตามมา เช่นกรณีของเบอร์เกอร์คิงและเชนร้านอาหารอีกหลายรายในสหรัฐขณะนี้

 

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เบอร์เกอร์คิง เชนร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาที่มีสาขาทั่วโลก ตกเป็นจำเลยที่รัฐฟลอริดา เมื่อมีผู้บริโภคจำนวนมากรวมตัวฟ้องร้องว่า โฆษณาของเบอร์เกอร์คิง นั้นแสดงให้เห็นว่า วอปเปอร์เบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นสินค้าขายดีของทางร้าน รวมทั้งเบอร์เกอร์แบบอื่น ๆ มีเนื้อมากกว่าความเป็นจริง

ผู้พิพากษารัฐฟลอริดาตัดสินไม่ยกฟ้องในคดีนี้ ซึ่งหมายความว่าการต่อสู้คดีจะเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ข่าวระบุว่า การฟ้องร้องร้านอาหารเกี่ยวกับโฆษณาที่เกินจริงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับเบอร์เกอร์คิงเพียงรายเดียว เพราะจากข้อมูลของบริษัทเพอร์กินส์ โคอี้ บริษัทกฎหมายที่เก็บข้อมูลคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากรวมตัวกันฟ้องร้อง หรือที่เรียกว่า class action lawsuit ระบุว่า เมื่อปี 2565 มีบริษัทอาหารและเครื่องดื่มในอเมริกาถูกฟ้องในลักษณะนี้ 214 คดี และปี 2566 นี้ ก็มีการฟ้องร้องแล้ว 101 คดีในช่วง 6 เดือนแรกของปี ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2553 หรือราว 13 ปีที่แล้วที่มีคดีฟ้องร้องลักษณะนี้เพียง 45 คดีเท่านั้น

เบอร์เกอร์จริง (ด้านซ้าย) กับภาพที่เห็นในโฆษณา (ด้านขวา)

ปูจา นาอีร์ แห่งสำนักงานกฎหมาย Ervin Cohen and Jessup ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มหลายราย เปิดเผยว่า คดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากรวมตัวกันฟ้องร้องเริ่มมีมากขึ้นๆ เรื่อยๆในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการกล่าวหาบริษัทผู้ผลิตมันฝรั่งทอดว่า หลอกลวงผู้บริโภคโดยการบรรจุมันฝรั่งในถุงน้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม คดีส่วนใหญ่ถูกศาลยกฟ้อง ทนายความกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีการฟ้องร้องนับร้อยคดีเกี่ยวกับผู้บริโภคที่ถูกโฆษณาทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับอาหารที่ระบุว่า “รสวานิลลา” แต่ไม่มีวานิลลาจริงๆผสมอยู่เลย คดีลักษณะนี้จำนวนมากมีการฟ้องร้องในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และอิลลินอยส์ ซึ่งผู้พิพากษามีแนวโน้มที่จะไม่ยกฟ้องในรัฐเหล่านี้

ปูจาร์ นาอีร์ กล่าวว่า บริษัทส่วนใหญ่มักหาทางไกล่เกลี่ยยอมความเพราะไม่ต้องการเสียเวลาและเสียเงินจ้างทนายขึ้นศาล ยกตัวอย่างเมื่อต้นปีนี้ บริษัท เอแอนด์ดับบลิว (A&W) และคูริก ดอกเตอร์ เปปเปอร์ (Keurig Dr Pepper) ตกลงจ่ายค่ายอมความ 15 ล้านดอลลาร์ จากข้อกล่าวหาว่าติดฉลากบนสินค้าน้ำอัดลมกระป๋องว่า "ผลิตจากวานิลลา" แต่ที่จริงแล้วใช้กลิ่นสังเคราะห์ เป็นต้น

เครื่องดื่มกระป๋องของ A&W ติดฉลากว่า "ผลิตจากวานิลลา" แต่ที่จริงแล้วใช้กลิ่นสังเคราะห์

นายจอร์แดน ฮัดเจนส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัท แดชแทรค (Dashtrack) ผู้ออกแบบเว็บไซต์สำหรับร้านอาหารต่าง ๆ ให้ความเห็นว่า การที่ผู้บริโภคมีความตระหนักรู้มากขึ้นก็มีส่วนทำให้เทรนด์ฟ้องร้องบริษัทอาหารมีเพิ่มขึ้น สื่อสังคมออนไลน์ทำให้ผู้คนสามารถแชร์ภาพอาหารที่เล็กฟีบไม่น่ากินซึ่งแตกต่างจากในโฆษณาให้กลายเป็นกระแสไวรัลได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็กระตุ้นให้ผู้มีประสบการณ์เดียวกันอยากร่วมฟ้องร้องด้วย

นอกจากนี้ การที่ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับสุขภาพและโภชนาการทำให้พวกเขาตั้งคำถามมากขึ้นเกี่ยวกับข้อความที่ถูกใช้กล่าวอ้างในโฆษณาอาหาร  

ในกรณีของเบอร์เกอร์คิง โจทก์ร่วมในหลายรัฐยื่นฟ้องเมื่อปี 2565 ว่ารูปภาพโฆษณาและภาพในเมนูของเบอร์เกอร์คิงนั้นแสดงให้เห็นเบอร์เกอร์ชิ้นใหญ่กว่าความเป็นจริงราว 35% และมีเนื้อหลายชั้นซึ่งมากกว่าเบอร์เกอร์ที่พวกตนซื้อจริง โจทก์เหล่านี้กล่าวว่า ถ้าหากรู้ก่อนว่าจะมีขนาดและปริมาณเนื้อแค่นั้นก็จะไม่ซื้อกินอย่างแน่นอน

หลังเกิดเรื่องฟ้องร้อง ทางโฆษกของเบอร์เกอร์คิงออกมาตอบโต้ว่า คำกล่าวหาของบรรดาโจทก์ร่วมนั้นไม่ถูกต้อง และยืนยันว่าชิ้นเนื้อที่เห็นในโฆษณาคือแบบเดียวกันกับที่ขายให้ลูกค้าตามร้านสาขาทั่วประเทศ

“คดีของเบอร์เกอร์คิงนี้อาจจะทำให้บริษัทอาหารต่าง ๆ เพิ่มความระมัดระวังในการโฆษณาสินค้าของตนมากขึ้น แต่นั่นก็อาจส่งผลลบตามมา เพราะเมื่อใช้ภาพสินค้าจริงในโฆษณา ก็อาจทำให้ยอดขายลดลงได้” เจฟฟ์ แกลลัก อาจารย์แห่งภาควิชาการตลาด มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนกล่าว

ข้อมูลอ้างอิง