"ฉนวนกาซา" พื้นที่ระหว่างพรมแดนอียิปต์ อิสราเอล และติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก ฉนวนกาซามีพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มากถึง 1.8 ล้านคน โดย 3 ใน 4 เป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้
ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่บางส่วนก็อพยพมาตั้งแต่หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 หากเทียบฉนวนกาซา กับดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน หรือเวสต์แบงก์ กาซ่ามีขนาดเล็กกว่ามาก และประชากรยังมีฐานะยากจนกว่า เพราะกาซ่ามีทรัพยากรน้อยกว่า มีผลผลิตทางการเกษตรน้อยกว่า เป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีงานทำ
"ฉนวนกาซา" ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอล กับอียิปต์หลัง สงครามอาหรับอิสราเอลในปี 1948 ซึ่งสงครามอาหรับอิสราเอลนี้ เกิดขึ้นเมื่อชาวยิวได้ประกาศตั้งรัฐชาติของตนเองภายใต้ชื่อ the state of Israel เพียง 1 วันก่อนที่ อังกฤษจะถอนทหารออกจากปาเลสไตน์
จึงเป็นสาเหตุทำให้ชาวอาหรับอันประกอบด้วย อียิปต์ ซีเรีย ทรานส์จอร์แดน และอิรัก เคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่คืนจากชาวยิว ถือเป็นการเปิดฉากสงครามที่ยืดเยื้อเป็นเวลา 1 ปี ผลของสงครามครั้งนั้น ฝั่งอิสราเอลสามารถยึดพื้นที่ได้ถึง 80% ในขณะที่ฝั่งอียิปต์ เข้าควบคุมดินแดนที่ชื่อว่า "ฉนวนกาซา" ด้านจอร์แดนเข้ายึดดินแดนที่เรียกว่า "ฝั่งเวสต์แบงค์"
ปี 1967 ปาเลสไตน์ได้บุกเข้าไปในอิสราเอลเพื่อยึดพื้นที่คืน เกิดเป็น six-day war หรือสงคราม 6วัน ซึ่งผลของสงครามทำให้อิสราเอลสามารถยึดพื้นที่คืนกลับมาได้อีกเป็นจำนวนมาก ชาวปาเลสไตน์ จึงถูกขับไล่ให้เข้าไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซาอย่างแออัด
การเข้าไปควบคุมพื้นที่นี้ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ไม่เห็นชอบ จึงเกิดกลุ่มที่มีแนวคิดหัวรุนแรง หันไปจับอาวุธ และกลุ่มติดอาวุธฮามาสเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมในอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซ่า
ต่อมาในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหาร และนิคมชาวยิว (ที่ผิดกฏหมาย) ออกจากฉนวนกาซ่าทั้งหมด จากนั้น เมื่อฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2006 ฉนวนกาซ่าจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
จากความเชื่อของ 3 ศาสนาต่อดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ระบุว่าพื้นที่กรุงเยรูซาเลม คือเมืองหลักในการเผยแพร่ศาสนาของพระเยซู ด้านชาวยิวมีความเชื่อว่า พื้นที่แห่งนี้คือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้ ในขณะที่ชาวมุสลิม ให้ความสำคัญกับเยรูซาเลม เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์อันดับที่สามรองจากเมกกะและ มะดินาร์
จุดเริ่มต้นของการกล่าวถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์นั้น ถูกระบุอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ลพันธสัญญาเก่า หรือ The Old Testament โดยชาวยิวเชื่อว่าดินแดนปาเลสไตน์ เป็นดินแดนที่พระเจ้าประทานให้
ซึ่งในคัมภีร์ระบุว่า ผู้ใดที่นับถือพระองค์ พระเจ้าจะยกดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยนม และน้ำผึ้งให้แก่ผู้นั้น ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว อยู่ในบริเวณแม่น้ำอียิปต์ ไปจนถึง แม่น้ำยูเฟรติส ซึ่งก็คือบริเวณปาเลสไตน์ในปัจจุบัน และชาวยิวมีผู้นำชื่ออับราฮัม
อับราฮัม ซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว ได้ขยายออกเป็นชุมชนชาวฮิบรู(ชาวยิว) และตามคัมภีร์ระบุว่า ชาวฮิบรูได้กระทำผิดบางประการจึงถูกพระเจ้าลงโทษให้ย้ายถิ่นฐาน บ้างก็ว่าชาวฮิบรูทำประโยชน์บางประการให้กับฟาโรห์ จึงได้รับการเชิญชวนให้ไปอยู่ด้วยที่ดินแดนของอียิปต์
จึงเป็นสาเหตุให้ชาวฮิบรู ย้ายออกจากดินแดนปาเลสไตน์ ไปอยู่อาศัยที่อียิปต์ แต่เนื่องจากการถูกกดขี่จึงทำให้สุดท้ายชาวฮิบรูได้ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของตนเองซึ่งนั่นก็คือดินแดนปาเลสไตน์ ปรากฏเห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่ โมเสส พาผู้คนข้ามทะเลแดงกลับมาอย่างปาเลสไตน์ และสร้างเป็นอาณาจักรที่ชื่อว่ายูดาห์
ซึ่งอาณาจักรยูดาห์ ต้องเผชิญกับการล่าอาณาจักรจากหลายชาติมหาอำนาจ เช่นแคลเดีย, อัสซีเรีย โรมัน และเปอร์เซีย เป็นต้น จนทำให้ท้ายที่สุดชาวฮิบรูได้กระจัดกระจายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ จะมีเพียงชาวฮิบรูกลุ่มเล็กๆเท่านั้นที่ยังคงอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม
จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษต้องการให้ชาวยิวเข้าร่วมรบ โดยสัญญาว่าหากรบชนะจะประกาศรับรองการก่อตั้งรัฐสำหรับชาวยิวในปาเลสไตน์ ด้วย “คำประกาศบัลโฟร์ 1917” (Balfour Declaration)
ดังนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษจึงประกาศตั้งรัฐชาติยิวขึ้นในบริเวณดังกล่าว และนั่นจึงเริ่มเกิดการต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์
ที่มา : ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย Thai World Affairs Center , Reuters , BBC ,Six-Day War. HISTORY