นายกฯ เยือน Tesla ชวนลงทุน EV ในไทย

14 พ.ย. 2566 | 01:05 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ย. 2566 | 02:45 น.

นายกฯ บุกฐานการผลิตเทสลา (Tesla) หารือภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ย้ำความพร้อมของไทยในการเป็นฐานการผลิตและการพัฒนาซัพพลายเชนสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ รวมทั้งพลังงานสะอาด โดยรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่

 

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566 หรือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) ภารกิจของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในนครซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา มี นัดหมายพบปะหารือกับภาคเอกชนสหรัฐ ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกหลายรายเพื่อสนับสนุน ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างกัน

โดยในช่วง 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชม บริษัท Tesla ผู้ดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานชั้นนำของโลก ณ โรงงาน Tesla Fremont Factory ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Model S, Model 3, Model X และ Model Y

นายกรัฐมนตรีเยือนโรงงาน Tesla Fremont Factory ของบริษัทเทสลาเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2566

ทั้งนี้ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

นายกฯแสดงความยินดีสำหรับการพบหารือผู้บริหารบริษัท Tesla และได้มาเยือนฐานการผลิตของเทสลา ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ในอนาคต ทั้งในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด นายกฯ หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต พร้อมหวังว่า บริษัท Tesla จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

บริษัทเทสลาอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

จากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้

บริษัท HP

บริษัทฯ ด้านกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแลปทอป (PC & Laptop) และกลุ่มเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ของโลก นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบริษัท HP ให้ขยายการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต พัฒนา supply chain และตั้งสำนักงานภูมิภาค รวมทั้งให้เพิ่มการผลิตในไทย ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภค รวมถึงมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษา (Academic) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าและการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ของไทย พร้อมเชิญชวนบริษัท HP เข้ามาร่วมโครงการฯ ซึ่งมีความสอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อแผนพัฒนา Supply Chain ของบริษัทเป็นอย่างดี ช่วยลดค่าขนส่ง และสามารถทำให้ไทยเป็นฐานการส่งออกที่เหมาะสมเป็นอย่างดีสำหรับบริษัท HP

บริษัท Analog Devices, Inc. หรือ ADI

เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลกที่มีการออกแบบและผลิตแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) การเชื่อมประกอบเพื่อผลิตเป็นชิป (Chip) นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสามารถด้านการออกแบบกระบวนผลิตและกระบวนการทดสอบ รวมถึงการผลิตฮาร์ดแวร์และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อนํามาใช้ในกระบวนการผลิตเองด้วย

นายกฯ สนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด และมีศักยภาพการอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับบริษัทฯ นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยสถาบันการศึกษาในไทยพร้อมที่จะทำงานกับบริษัทฯ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับทักษะความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ ADI ต้องการ

หลังจากนั้น ในเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วม งานสัมมนาโครงการแลนด์บริดจ์ พบหารือภาคเอกชนไทย และเข้าร่วมกิจกรรม Networking Reception ในเวลา 18.30 น. ณ โรงแรม Ritz-Carlton ซึ่งเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น นายกฯ เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะใช้โอกาสในการเดินทางเข้าร่วมประชุมเอเปคในครั้งนี้เชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเมื่อโครงการนี้เกิดขึ้นจะเกิดอุตสาหกรรมใหม่ และจะขยายเป็นฐานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะภาคการเกษตร แต่จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเกิดขึ้นด้วย ซึ่งจะยกระดับรายได้ประชาชน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับข้อเสนอที่จะจูงใจนักลงทุน ให้เลือกมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีทั้งมาตรการทางภาษี พลังงานสะอาดที่รัฐบาลให้ความสำคัญ การบริหารจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรม การเป็นศูนย์กลางการบิน มีรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหลมฉบัง สำหรับโลจิสติกส์และแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะเป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนตัดสินใจ

ส่วนในมิติสังคม ประเทศไทยไม่แตกแยกเท่าบางประเทศ แม้ย่อมมีความเห็นที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ นักลงทุนต่างชาติจะดูตรงนี้เป็นหลัก อีกทั้ง ไทยยังมีโรงเรียนและสถานพยาบาลมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจของนักลงทุนด้วยเช่นกัน