สำนักข่าวรอยเตอร์ พาดหัวข่าว "Jailed former Thai leader Thaksin granted parole, PM says" เนื้อหาระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การพักโทษอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันอังคาร (13 ก.พ.) ว่า นายทักษิณได้รับการพักโทษหลังรับโทษมาเป็นเวลา 6 เดือน นอกจากคุณสมบัติเข้าข่ายการพักโทษตามกฎเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์แล้ว นายกฯ ยังกล่าวถึงการที่นายทักษิณเคยทำงานรับใช้บ้านเมือง สร้างประโยชน์มากมายสมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“เมื่อท่านออกมาแล้ว ก็จะเป็นประชาชนคนธรรมดา” รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนายกฯ เศรษฐา และยังรายงานว่า น.ช.ทักษิณ วัย 74 ปี ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ 15 ปีเพื่อไม่ต้องถูกจับเข้าคุก ก่อนที่จะตัดสินใจกลับประเทศไทยมารับโทษเมื่อปีที่แล้ว โดยเขาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปีเหลือโทษจำคุก 1 ปี แต่เขารับโทษอยู่ 6 เดือนโดยไม่ต้องใช้เวลาในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว จากการเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยเหตุผลด้านสุขภาพที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดมากนัก
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ระบุว่า แม้นายทักษิณอาจจะได้รับการพักโทษในวันอาทิตย์ที่ 18 ก.พ.นี้ แต่เขาผู้ซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางของความสับสนวุ่นวายในการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของไทยมาถึงสองทศวรรษ ก็ยังอาจถูกคุมขังต่อไปได้ เพราะอัยการกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะยื่นฟ้องเขาในข้อหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นผลจากการที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้ (Chosun Ilbo) เมื่อปี 2558 หรือไม่
ด้านสื่อฝั่งยุโรป ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานข่าว "Thailand grants parole to former prime minister Thaksin Shinawatra" โดยอ้างสื่อต่าง ๆ ว่า นายทักษิณคือ 1 ในผู้ต้องโทษจำนวน 930 คนที่ได้รับการพักโทษในครั้งนี้หลังรับโทษแค่เพียง 6 เดือน และยังระบุถึงการเดินทางกลับไทยของเขาเมื่อปีที่แล้ว (2566) ซึ่งนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อตกลง” กับกองทัพที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปและนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตรได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แม้พรรคเพื่อไทยที่นายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้งจะได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นรองพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งอย่างถล่มทลายก็ตาม
ส่วนสื่อ อัลจาซีรา รายงานในทิศทางเดียวกันว่า การพักโทษในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังอดีตนายกฯ ทักษิณถูกพิพากษาลงโทษจำคุก 8 ปีจากความผิดในข้อหาคอร์รัปชันและใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดเหลือจำคุก 1 ปีเมื่อปี 2566
อัลจาซีรารายงานว่า นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มาจากพรรคเพื่อไทยที่มีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคซึ่งก้าวขึ้นสู่อำนาจได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2566 นายเศรษฐาแย้มกับสื่อว่า หลังได้รับการพักโทษออกมาแล้ว นายทักษิณซึ่งทำงานเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมายาวนาน ก็อาจให้คำปรึกษาหารือแก่ น.ส.แพทองธาร เกี่ยวกับการทำงานบริหารบ้านเมือง
ขณะที่ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ สื่อใหญ่ของฮ่องกง ที่ติดตามรายงานข่าวนี้ระบุว่า การกลับมาประเทศไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณหลังลี้ภัยหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศมาหลายปี เป็นการกลับมาพร้อมกับข้อสังเกตว่า อาจมี “การตกลงกัน” ในเรื่องการลดระยะเวลาการรับโทษไว้ก่อนแล้ว และกระแสข่าวลือเรื่องนี้ก็ดังหนาหูขึ้น เมื่อน.ช.ทักษิณได้รับการย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังศาลมีคำตัดสินลงโทษออกมา ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เขาเป็นผู้ต้องขังที่ไม่เคยต้องใช้เวลาในห้องขังเลย ส่วนอาการป่วยของเขานั้น สื่อรายงานว่าในวันที่ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเขามีอาการแน่นอกและความดันสูง หลายเดือนถัดมาหลังจากนั้น สมาชิกตระกูลชินวัตรก็กล่าวว่าเขาต้องเข้ารับการผ่าตัดถึงสองครั้ง
สื่อฮ่องกงอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายกฯเศรษฐาว่า เขามั่นใจว่าเมื่อได้รับการพักโทษออกมาแล้ว นายทักษิณยังจะสามารถให้คำแนะนำดีๆในการบริหารบ้านเมือง พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า การพักโทษอดีตนายกฯทักษิณเป็นไปตามกฎเกณฑ์ทุกอย่างของกรมราชทัณฑ์ แต่รายละเอียดนอกเหนือจากนั้น ยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่า เงื่อนไขหลังการพักโทษเป็นอย่างไร นายทักษิณต้องถูกติดตามความประพฤติอย่างไร เป็นไปได้ที่เขาอาจต้องใส่กำไลข้อเท้า และถูกจำกัดสิทธิในการเดินทาง (ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า นายทักษิณถือเป็นผู้ได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษฯ เนื่องจากสูงอายุ มีอายุ 74 ปี และเจ็บป่วย คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ อาจมีมติหรือความเห็นจะไม่ติดกำไล EM เพราะต้องคำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพและอัตราความเสี่ยงน้อยที่จะไปก่อเหตุกระทำผิดซ้ำได้)
แม้แต่ขแมร์ไทมส์ สื่อท้องถิ่นของกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทย ก็ยังเกาะติดข่าวนี้โดยรายงานว่า นายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี จะได้รับการพักโทษในช่วงสุดสัปดาห์นี้เช่นเดียวกับนักโทษอื่นๆ รวม 930 คน เนื่องจากมีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับการพักโทษเพราะสูงวัยแล้วและยังป่วยหนัก ซึ่งสื่อกัมพูชาอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นกับ สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของอเมริกาว่า การที่อดีตนายกฯ ทักษิณที่ถูกมองว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสถาบันฯของไทย กำลังจะได้รับอิสรภาพในเร็วๆนี้ อาจเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงสัญญาณของการปรับเปลี่ยนของขั้วอำนาจในไทยที่นำมาซึ่งการสิ้นสุดของการประจันหน้ากันของตระกูลชินวัตรและพวกพ้อง กับกลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันฯซึ่งมีทั้งฝ่ายกองทัพ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ต่าง ๆ และชนชั้นสูง
วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระที่เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมืองที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ให้ความเห็นกับสื่อวีโอเอว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ในแง่หนึ่งชี้ให้เห็นว่า “หลักนิติธรรม ซึ่งหากมีอยู่จริง สามารถบิดเบี้ยวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ทางการเมืองของผู้ที่อยู่ในอำนาจ ณ เวลาหนึ่ง ๆ ... แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็แสดงให้เห็นว่า มีความยืดหยุ่นในการเมืองของไทยที่พยายามจะหาทางปลดแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมานานได้”
ด้าน สำนักข่าวเอพี อ้างอิงการให้ความเห็นของ ศ.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า อดีตนายกฯ ทักษิณยังคงเป็นผู้คุมบังเหียนอยู่และอยู่เบื้องหลังในเรื่องต่าง ๆ แต่พรรคเพื่อไทยนั้นก็มีอำนาจและอิทธิพลที่ไม่มากเหมือนเก่า ทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้จะทำการอย่างไรต่อไป
ในส่วนของคดีอาญามาตรา 112 ที่นายทักษิณถูกตั้งข้อหาไว้ตั้งแต่เมื่อ 8 ปีก่อน จากการที่เขาไปให้สัมภาษณ์สื่อในเกาหลีใต้เมื่อปี 2558 ซึ่งมีเนื้อหาถูกมองว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สื่ออัลจาซีรารายงานว่า สำนักงานอัยการสูงสุดของไทยกำลังพิจารณาสำนวนคำฟ้องว่าจะเอาผิดต่อนายทักษิณในคดีอาญามาตรา 112 นี้หรือไม่ หลังจากที่ได้รับหลักฐานล่าสุดเป็นเอกสารบันทึกคำให้การและหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจากนายทักษิณ
ทั้งนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจากการให้สัมภาษณ์ที่เกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ. 2558 หลังเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
สื่อเอพีและเอบีซีรายงานว่า นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การที่คดีมาตรา 112 ถูกเลื่อนพิจารณานานถึง 7 ปีนั้น เนื่องจากนายทักษิณมิได้อยู่ในประเทศไทย
โดยคำประกาศล่าสุดจากสำนักงานอัยการสูงสุดนี้หมายความว่า หากนายทักษิณได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระตามกำหนดรับโทษ 180 วันหลังการอภัยลดโทษ เขาอาจต้องถูกอายัดตัวกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งจากคดีมาตรา 112 นี้
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเชียนิวส์เน็ตเวิร์ก (เอเอ็นเอ็น) รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรมว่า คดีมาตรา 112 นี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องของนายทักษิณเพื่อขอความยุติธรรม หากอัยการตัดสินใจ “ไม่ดำเนินคดี” ทุกอย่างก็เป็นอันยุติ แต่ถ้าอัยการตัดสินใจนำคดีไปสู่ศาล นายทักษิณก็จะถูกดำเนินคดีในชั้นศาล
ทุกคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ถูกเฝ้าจับตามอง และมีการตั้งข้อสงสัยเสมอมาเกี่ยวกับความคลุมเครือในเรื่องการเข้ารับการรักษาตัว อาการเจ็บป่วยของเขา การรับโทษของเขา จนกระทั่งวันนี้ได้เริ่มมีการตั้งกลุ่มคัดค้านและแสดงตัวประท้วงทวงถามหาความโปร่งใสที่โรงพยาบาลตำรวจ การพักโทษน.ช.ทักษิณจะเป็นจุดสิ้นสุดความขัดแย้งหรือจุดประเด็นการเผชิญหน้าขึ้นมาใหม่ในสังคมไทย ยังเป็นคำถามที่สร้างความหวาดหวั่นใจเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา รอยเตอร์ /ไฟแนนเชียลไทม์/อัลจาซีรา/เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์/ขแมร์ไทมส์/วีโอเอ/เอพี /เอเอ็นเอ็น