ส่องยุทธศาสตร์เวียดนาม พัฒนาสินค้าเกษตร-โลจิสติกส์ ยกระดับสู่เวิลด์คลาส

15 มี.ค. 2567 | 17:05 น.

ด้วยเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาของ "เวียดนาม" ทั้งด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างมากในศักยภาพด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของศูนย์วิจัย CEBR ชี้ว่า เวียดนามจะติด 1 ใน 25 เศรษฐกิจชั้นนำของโลกภายในปี 2581

 

“เวียดนาม” ตั้งเป้า ส่งออกสินค้าเกษตร มากกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีพ.ศ. 2573 ภายใต้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตร ฉบับปัจจุบัน และ วิสัยทัศน์ถึงปีพ.ศ. 2593 โดยมีเป้าหมายสร้างอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าสินค้าเกษตรที่ร้อยละ 2.2 – 2.5 ต่อปี การแปรรูปผลิตผลเกษตรเติบโตที่ร้อยละ 8-10 ต่อปี ขยายอัตราส่วนพื้นที่การผลิตตามมาตรฐาน VietGAP ร้อยละ 10-15 และเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 1 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ เวียดนามยังมีแผนจะเป็นศูนย์กลางการแปรรูปทางการเกษตรของโลกภายในปีพ.ศ. 2593

รายงานของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) ระบุว่า เวียดนามและจีนจะลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งออกอะโวคาโดและเสาวรสจากเวียดนามไปยังจีนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้จำนวนผลไม้ที่ส่งออกจากเวียดนามไปยังตลาดจีนภายใต้ MOU มีจำนวนทั้งหมด 8 ชนิด

เวียดนามและจีนจะลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งออกอะโวคาโดและเสาวรสจากเวียดนามไปยังจีนอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ปัจจุบันเวียดนามมีผลไม้และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จำนวน 13 ชนิด ที่ได้ส่งออกอย่างเป็นทางการไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ได้แก่ แก้วมังกร แตงโม กล้วย ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ ขนุน มะม่วง มังคุด ทุเรียน เสาวรส ต้นเฉาก๊วย และมันเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ผลไม้และสินค้าเกษตรที่ส่งออกภายใต้รูปแบบ MOU ที่ลงนามกับจีน อันเป็นผลจากข้อตกลง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) มีเพียง 6 ชนิด ได้แก่ มังคุด ต้นเฉาก๊วย ทุเรียน กล้วย มันเทศ และแตงโม

กรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยมีมูลค่าการซื้อขายในปี 2566 อยู่ที่ 3,640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 139.5 เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ทั้งหมดของประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ จีนยังเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าเกษตรและประมงคุณภาพสูงของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนต่างๆ ในเวียดนาม จำเป็นต้องร่วมมือและอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่ลงนามไว้อย่างเคร่งครัด

จีนเป็นตลาดส่งออกผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

ขับเคลื่อนโลจิสติกส์สู่การเป็นศูนย์กลางในอาเซียน

สำหรับด้านโลจิสติกส์ เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา นาย Tran Hong Ha รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้อนุมัติแผนการดำเนินงานของจังหวัดกว๋างจิ โดยตั้งเป้าหมายให้กว๋างจิยกระดับขึ้นเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเส้นทางการขนส่งสินค้าทางถนนในอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ภายในปีพ.ศ. 2573 และเป็นจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งด้วยอุตสาหกรรมและการบริการ และเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของภูมิภาคทางเหนือและภาคกลางของเวียดนามภายในปี 2593

จังหวัดกว๋างจิเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง East – West Economic Corridor  (ขอบคุณภาพจากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในเวียดนาม)

ทั้งนี้ จังหวัดกว๋างจิ ซึ่งเป็นจังหวัดในภูมิภาคชายฝั่งตอนกลางเหนือของประเทศเวียดนาม และอยู่ทางทิศเหนือของเมืองเว้ ได้กำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญ 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมการก่อสร้าง
  2. การบริการ
  3. การท่องเที่ยว
  4. เกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าหมายการพัฒนาให้จังหวัดกว๋างจิเป็นศูนย์กลางพลังงานสะอาดของภาคกลาง โดยจ.กว๋างจิ จะให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาเมืองและชนบท การพัฒนาความเชื่อมโยง และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กันไป

เวียดนามจะติด 1 ใน 25 เศรษฐกิจชั้นนำภายในปี 2581

ด้วยเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และแผนงานพัฒนาของเวียดนามทั้งด้านการส่งออกสินค้าเกษตรและด้านการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่น่าจับตามองในศักยภาพด้านเศรษฐกิจ โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ (CEBR) ระบุว่า เวียดนามจะติด 1 ใน 25 เศรษฐกิจชั้นนำภายในปีพ.ศ. 2581 โดยในปีที่ผ่านมา (2566) เวียดนามอยู่อันดับที่ 33 ในรายงาน World Economic League Table (WELT) และคาดว่าจะอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกในปี 2576 ก่อนจะขึ้นสู่อันดับที่ 21 ของโลกในปี 2581

รายงานดังกล่าวระบุว่า ในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีราคาผู้บริโภคของเวียดนามในปี 2566 ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 ปีซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.8

ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานของเวียดนามในปีที่แล้วยังลดลง กระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และหนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35 ของ GDP

ไม่เพียงเท่านั้น เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางห่วงโซ่อุปทานโลก สัดส่วนของสินค้าเวียดนามที่ส่งออกไปยังตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ขณะเดียวกับที่เม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากประเทศอื่นๆ ในเอเชียรวมทั้งจีน ก็ยังคงหลั่งไหลเข้าสู่เวียดนาม ดังนั้น CEBR จึงคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในช่วงปีพ.ศ. 2567-2571 โดยเชื่อว่าเวียดนามพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 หรือในอีกสองทศวรรษข้างหน้า  

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต เป็นความร่วมมือระหว่างฐานเศรษฐกิจ กับศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ globthailand.com กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ / ข้อมูลจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอยและศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม