นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศยุบสภาเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) พร้อมเดินหน้าเลือกตั้งใหม่ หลังจากพรรคพันธมิตรสายกลางของเขาพ่ายแพ้ให้กับพรรคเนชันแนลแรลลี (National Rally) ฝ่ายขวาจัดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป
"ผมตัดสินใจที่จะให้คุณเป็นผู้กำหนดอนาคตของรัฐสภาของเราผ่านการลงคะแนนเสียง ดังนั้น ผมจึงขอประกาศยุบสภา" ปธน.มาครงแถลง
ประธานาธิบดีมาครง กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป "ไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับพรรคการเมืองที่ปกป้องยุโรป"
"พรรคฝ่ายขวาจัด... กำลังคืบหน้าไปทั่วทั้งทวีป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผมไม่อาจนิ่งเฉยได้" ปธน.มาครงกล่าว
"นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องทำให้กระจ่าง... ผมได้ยินสารของคุณ ความกังวลของคุณ และผมจะไม่ปล่อยให้เรื่องเหล่านี้ไร้คำตอบ" ปธน.มาครงกล่าว
"การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องจริงจังและยากลำบาก แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันคือการแสดงออกถึงความไว้วางใจ ไว้วางใจในตัวพวกคุณ พี่น้องร่วมชาติที่รักของผม" ปธน.มาครงกล่าว พร้อมย้ำว่า เขาไม่สามารถ "แสร้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้"
ปธน.มาครงสนับสนุนให้ประชาชน "ออกไปใช้สิทธิ์อย่างล้นหลาม" ในการเลือกตั้ง โดยกล่าวว่า "ฝรั่งเศสต้องการเสียงข้างมากที่ชัดเจน"
ด้านนางมารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคเนชันแนลแรลลี แสดงความยินดีกับการประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ของปธน.มาครง
"เราพร้อมที่จะเข้ารับอำนาจ หากชาวฝรั่งเศสมอบความไว้วางใจให้เราในการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง" นางเลอ เปน กล่าว
ทั้งนี้ ปธน.มาครงชนะการเลือกตั้งแบบสองรอบเหนือนางเลอ เปน แต่จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้อีกหลังจากดำรงตำแหน่งครบสองสมัยแล้ว การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสครั้งต่อไปคาดว่าจะมีขึ้นในปี 2570
อนึ่ง พรรคพันธมิตรสายกลางของปธน.มาครงสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาไป หลังการเลือกตั้งในเดือนมิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา
สำนักข่าว DW ของเยอรมนีรายงานว่า การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของฝรั่งเศสรอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย. 2567 และรอบสองในวันที่ 7 ก.ค. 2567
ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนหน้าคูหาเลือกตั้ง หรือ เอ็กซิตโพล (Exit Poll) เมื่อวานนี้บ่งชี้ว่า พรรคเนชันแนลแรลลีได้รับคะแนนเสียงราว 32% ซึ่งมากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคพันธมิตรฝ่ายสนับสนุนสหภาพยุโรป (EU) ของปธน.มาครงได้รับถึง 2 เท่า โดยได้ไปเพียง 15% เท่านั้น
นอกจากนี้ เอ็กซิตโพลยังแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายขวาจัดได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศสมาชิกอื่น ๆ ของ EU ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป รวมถึงในเยอรมนีและออสเตรียด้วย