ญี่ปุ่นจ่อเพิ่มมาตรการใหม่ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวขึ้นภูเขาไฟฟูจิ

22 มิ.ย. 2567 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2567 | 23:44 น.

ญี่ปุ่นยังคงพยายามควบคุมบรรยากาศการท่องเที่ยวภูเขาไฟฟูจิในเชิงอนุรักษ์ หลังพบว่า ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเกินกำลังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตคนในพื้นที่ ล่าสุด จ.ยามานาชิ ติดตั้งประตูควบคุมฝูงชนบนทางขึ้นภูเขาไฟ ก่อนที่ฤดูกาลปีนเขาจะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ก.ค.

มาตรการติดตั้งประตูทางขึ้น ภูเขาไฟฟูจิ ครั้งนี้ มีเป้าหมายหวัง ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว ผู้ว่าการจังหวัดยามานาชิซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ ที่ได้ชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ประเทศญี่ปุ่น มองว่า หลังจากนี้ ยังต้องมีการออกมาตรการเพิ่มเติมอีก เพื่อไม่ให้มีผู้คนมาปีนภูเขาไฟแห่งนี้มากจนเกินไป

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ประตูจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “กฎชุดใหม่” ที่จังหวัดยามานาชิประกาศใช้ในปีนี้ เพื่อจัดการกับปัญหาความแออัดยัดเยียดของผู้คน รวมทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านความปลอดภัยบนภูเขาไฟฟูจิที่รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานข่าวระบุว่า ประตูใหม่นี้จะปิดทางขึ้นเขาระหว่างเวลา 16.00 น.ถึง 03.00 น. วัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้จองที่พักล่วงหน้าตามเส้นทางขึ้นยอดภูเขาไฟ เข้ามานอนค้างคืนในพื้นที่ตามช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมพยายามเร่งปืนขึ้นยอดภูเขาไฟฟูจิอย่างเร่งด่วน หรือ bullet climbing โดยไม่ยอมหยุดพักผ่อน อันเป็นเงื่อนไขที่นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของนักปีนเขา

ภายใต้นโยบายใหม่นี้ ทางการตั้งใจจะควบคุมจำนวนนักปีนภูเขาไฟฟูจิไม่ให้เกิน 4,000 คนต่อวัน

นายโคทาโร นางาซากิ ผู้ว่าการจังหวัดยามานาชิ กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียวว่า มาตรการจำกัดที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทำให้เหล่านักปีนเขาตกอยู่ในภาวะเสี่ยงชีวิต พร้อมเปิดเผยว่า มียอดประมาณการว่า จำนวนผู้ปีนภูเขาไฟฟูจิในปีนี้ (2567) น่าจะสูงกว่าสถิติของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 137,236 คน

ผู้ว่าฯจังหวัดยามานาชิกล่าวว่า สภาวะความแออัดยัดเยียดของผู้คนที่บริเวณใกล้ ๆ ยอดภูเขาไฟอาจนำมาซึ่งภัยพิบัติครั้งใหญ่ เช่น การที่ผู้คนตกเขาด้วยผลกระทบแบบโดมิโน (domino effect)

นักท่องเที่ยวล้นเกินกำลังสร้างปัญหาทั้งในแง่การอนุรักษ์และความปลอดภัย (ภาพข่าวโยมิอุริ ชิมบุน)

ทางการญี่ปุ่นคาดหวังว่า นับจากนี้ไป ผู้ที่ต้องการปีนขึ้นภูเขาไฟฟูจิต้องทำการจองการปีนเขา และเลือกว่าจะปีนเขาในช่วงกลางวัน หรือจะค้างคืนที่กระท่อมซึ่งตั้งอยู่ตามแนวทางเดินขึ้นเขาซึ่งนักปีนเขาใช้เป็นที่พักผ่อน นอกจากนี้ แต่ละคนต้องชำระค่าธรรมเนียมปีนเขา 2,000 เยน (ราว 465 บาท) และสามารถเลือกบริจาคเงิน 1,000 เยน (ราว 233 บาท) เพื่อสมทบทุนช่วยงานด้านอนุรักษ์

เมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว นักปีนเขาจะได้รับ “คิวอาร์โค้ด” ที่จะถูกส่งไปยังโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้สแกนที่ประตูขึ้นเขาซึ่งตั้งอยู่ที่พิกัดครึ่งทางจากตีนเขาถึงยอดเขา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สถานีที่ 5” และเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินเขาโยชิดะ

ทั้งนี้ บนภูเขาไฟฟูจิ มีสถานีพักอยู่ทั้งหมด 10 สถานี

บนภูเขาไฟฟูจิ มีสถานีพักอยู่ทั้งหมด 10 สถานี (ภาพข่าวรอยเตอร์)

ผู้ว่าฯจังหวัดยามานาชิแสดงความมั่นใจว่า มาตรการชุดใหม่นี้จะช่วยคลี่คลายปัญหาความแออัดของผู้คนบริเวณพื้นที่ตอนบนของภูเขาไฟฟูจิ แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีปัญหาอื่น ๆ บริเวณตอนล่างของภูเขาไฟที่รอการแก้ไขอยู่ด้วย

เขาให้คำมั่นว่า จะแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมืองที่ตอนล่างของภูเขาและบริเวณรอบ ๆ โดยเสนอแผนสร้างรถรางที่วิ่งจากตีนเขาขึ้นไปยังสถานีที่ 5 เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการขับรถหรือการใช้รถโดยสารในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้คนเลือกการเดินขึ้นเขาเหมือนในอดีตด้วย

ด้านจังหวัดชิซูโอกะ ซึ่งเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ภูเขาไฟฟูจิตั้งอยู่ ทางการไม่ได้ดำเนินมาตรการจำกัดการปีนเขา แต่มีมาตรการเริ่มเปิดระบบออนไลน์ให้นักปีนเขาลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลอ้างอิง