เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

05 ต.ค. 2567 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2567 | 07:42 น.

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เมืองเหนือบ้านเรานี้ เวลาตั้งชื่ออะไรๆก็ตาม จะมีลักษณะเฉพาะอยู่อย่าง คือ มีคำที่เปนสิ่งมีค่าตามธรรมชาติมาประกอบอยู่ในชื่อ คำเหล่านั้น ได้แก่ แก้ว/คำ/แสง

คำ ก็หมายถึง ทองคำ เปนของมีค่า เเต่เรียกสั้นๆกันว่า คำ ดาบคำ ก็คือ ดาบทอง ดาบหลูบคำ ก็คือ ดาบฝักทอง เอื้องคำ ก็คือ ดอกกล้วยไม้ทอง ดังนี้

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

คำอย่างว่ามาจากทองคำนี้ ท่านว่าเปนของคู่ควรกับสถานะด้วย เช่นว่า เศรษฐี จะต้องสร้อยสักหน่อยว่า ไม่ใช่เศรษฐีเฉยๆหรอกนา_ เปนเศรษฐีเรือนคำ คือ อยู่บ้านเรือนทอง บ่งบอกกิตติคุณความมีระดับของเศรษฐีท่านนั้น ส่วนถ้าว่าชั้นท้าวพระยามหากษัตริย์ ปกติอยู่ที่คุ้มหลวง เวลาว่าราชการท่านขึ้นไปท้องพระโรงก็อาจเรียกว่า หอ จังหวะนี้ถ้าบารมีถึงที่กษัตราธิราช ท่านก็จะต้องปลูกหออันใหม่ เรียกว่า หอคำ ให้สมเหมาะพอแก่เกียรติยศ ตัวอย่างเช่น หอคำของพระเจ้ามโหตร (ะ)ประเทศ

ผู้ทรงพระนามเดิมว่า เจ้าหนานมหาวงส์เปนโอรสพญาธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2 ลุสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเปนพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดี นพิสีมหานคราธิฐาน ภูบาลบพิตร สถิตในอุตมชิยางคราชวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

เมื่อบรรดาศักดิ์ฐานันดรสูงขึ้นกว่าบิดาเทียมชั้นกษัตราเจ้าฟ้าเมือง พระเจ้ามโหตรประเทศท่านก็ทรงสร้างหอคำ ประดับพระบารมี เมื่อต่อมาเสด็จสู่พิราลัย ก็ได้รื้อมาปลูกใหม่ถวายวัดพันเตา นัยยะว่าเปนธรรมเนียมทำบุญใหญ่เอาสังเค็ตคือข้าวของๆคนตายไปถวายวัดเอาบุญให้ผู้ล่วงลับ สมควรแวะไปเที่ยวเยี่ยมชม เพราะสร้างด้วยไม้สักทอง โอ่โถงอลังการงามงด

ส่วนคำว่า แก้ว ก็หมายถึงอัญมณี ที่เปนของมีค่า บางเม็ดก็มีค่าควรเมืองเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้ายวงแก้ว เจ้าน้อยก้อนแก้ว เจ้าแก้วมงคล เจ้าแก้วมุงเมือง เจ้าแก้วปราบเมือง ล้วนแต่ชื่องามนามเพราะยิ่งนัก

อีกนัยยะหนึ่งของคำว่าแก้วก็คือว่าเปนลูก/เปนของที่รักมาก และเปนผู้เก่งกล้าด้วย ตรงกับที่ภาคกลางว่าลูกแก้วลูกขวัญ หรือ คติที่ว่า ได้ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้วนอกจากเปนเครื่องประดับแล้วยังหมายถึงของดีของวิเศษเปนสมบัติของคนพิเศษ ตามนัยยะนี้

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

คำว่าแก้วนี้ แท้แล้วเชื่อมโยงกับคำว่า แสง เพราะแก้วนี่เปล่งแสงได้ เมื่อเรียกรวมกันเปนแก้วแสง ก็ให้ความหมายเช่นเดียวกับอัญมณีรัตนชาติที่มีคุณวิเศษ แก้วแสงมีผลานุภาพทำให้ ผู้ครอบครองก้านกุ่งรุ่งเรือง มีวุฒิจำเริญยิ่งยวด เมื่อเปนชื่อคนชื่อเจ้าจะบ่งนัยถึงแสงสว่างผลานุภาพบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่เหล่าทวยราษฎร์ ไม่ว่าพสกนั้นจะอยู่ ณ แห่งหนตำบลใดก็ตาม เพราะแสงแก้วนี่ส่องสว่างไปถึง แถมยังสารพัดนึกอีกต่างหาก แก้วแสงในเอกสารโบราณ บันทึกรายละเอียดไว้ให้มากมาย เช่น

“แก้วก๊อ (ทับทิม) ลูกใดมีลักษณะนอกขาวเหลือง มีสร้อยข้างใน แดงดั่งดอกไม้เพลิง และผางประทีปไหลไปมา ชื่อว่าก๊อดิบ วิเศษมีไว้ในบ้านเรือน หรือทำแหวนสวมใส่ อยู่ที่ไหนก็ชุ่มเย็นที่นั้น ข้าวของสมบัติหลั่งไหลมาหาเอง” เปนต้น

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

ส่วนคำมงคลต่อมาก็คือคำว่าแสง แสงนี้ถ้าพูดให้ตรงกับภาษาไทยภาคกลางก็คือวัตถุหินประเภทหนึ่งที่มีลักษณะพิเศษ พบในต้นไม้พบในสัตว์ อย่างที่เรียกกันว่า คด

แต่ที่นี่บังเอิญว่า คดนี้นั้นจะออก’แสง’หรือแสดงปาฏิหาริย์ได้ เช่นว่า บางคราว (อย่างที่เรียกว่าวันดีคืนดี) ก็ปรากฏ’แสง’สุกสว่างลอยเปนดวงออกมาจากพระเจดีย์ในที่โบราณสถานหรือแม้กระทั่งลอยออกมาจากบ้านเรือนของคนที่บูชาแสงนั้นๆ แสงจึงให้ความรู้สึกถึงความสงบเย็นเปนมงคลสุขสว่างและสวัสดี

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

ส่วนคำความหมายดีๆนอกจาก 3 คำนี้นั้น มีคำว่า เมือง/ หมอก ด้วยว่าหมอกนั้นเปนของชุ่มเย็น ปวงชนทั้งหลายก็ชื่นชมชื่นชอบ เมืองน่าน มีเจ้าหมอกฟ้า ส่วนครูบาออ ปัณฑิยะ มีวิชาหมอกมุงเมือง ให้ความร่มเย็นปกห่มคุ้มครองผู้คนแลบ้านเมือง ข้างที่เชียงใหม่ มีเจ้าแก้วมุงเมือง เสียด้วยซ้ำ ส่วนว่าเมืองนั้นลักษณะอย่างไร? ก็ท่านผู้ใหญ่บางท่าน บิดาให้ชื่อว่า เจ้าเมืองชื่น!

มาพำนักอยู่บ้านเขาใหญ่เวลานี้ ใคร่จักปลูกเรือนเล็กๆไว้นั่งเล่นนอนเล่นตามประสาคนมักม่วนชอบสนุกให้ชื่นบ้านชื่นใจ แต่ทว่าการจะหาผู้รับเหมาค่อนข้างลำบาก เพราะ ค่าover head ค่าเคลื่อนที่เข้าหน้างาน (Site) หาอยู่หากินไกลจากถิ่นมันยาก  การก่อสร้างควรใช้ระบบ pre-fabricate ผลิตที่โรงงานแล้วยกบ้านมาวางที่หน้างานเอาเลย สะดวกดีกว่ามาก ยิ่งได้สถาปนิกที่เปนสถาปนิกแท้ คือวิเคราะห์ลักษณะการดำรงชีวิตของผู้คน แล้วจึงนำมาออกแบบ circulation ต่างๆของบ้าน งานจะยิ่งออกมาอยู่สบายใช้สะดวก

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

บ้านเล็กๆอย่างนี้สมควรเรียกว่ากระท่อม (Hut) ยกพื้นขึ้นหน่อยจึงกลายว่าเปนเรือน As a matter of HUT, ในความเปนกระท่อมยกมาวางนี้ มันควรมีปัจจัยอะไรบ้าง ?

ศิลปะ ล่ะ หนึ่งอย่างเปนศิลปะที่ปนลงไปในงาน วัสดุโลหะที่ทำการสอดไส้ฉนวนกันร้อนมาอย่างดี มีความ materials-วัสดุศาสตร์ อีกอย่างหนึ่ง จึงสมควรได้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า

- The Arterial Hut -

ซึ่งอ่านเผินๆนึกว่ากระท่อมเส้นเลือดเเดง กระเดี๋ยว จะพาลเปลี่ยนไปทำ vain hut - กระท่อมเวร เอ๊ย กระท่อมเส้นเลือดดำ! เอ้าเสียท่า!!

จริงแล้วควรอ่าน และ เขียนว่า The Art-terial Hut มาจากคำว่า Art - ศิลปะ/ศิลปินกับ Material - วัตถุ (หรือ ที่จริงมันอาจจะคือ Matter-real  แปลว่า ของจริง55)

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

อย่างไรก็แล้วแต่ มันควรจะเปนกระท่อมศิลปินชนิดหนึ่ง ในนิยามความหมายที่พำนักอันสงบสมถะ นอนสนิท ทว่าพร้อมพรั่กด้วยความสวยงามที่กินได้ ซึ่งสภาพดังนี้ก็ต้องเรียนว่ามันไม่ได้เปน cottage หรอก เพราะมันมีความแข็ง (hardness/solid) ในตัวมัน

ทั้งเมื่อพิจารณาจากมิติและขนาด ประกอบเทคนิคการสร้างแล้ว อีตัวกระท่อมยกมานี้มันน่าจะตรงกับคำว่า Cubicle มากกว่า เพราะว่ายกมาเปนห้องเปนหน่วยเปนยูนิตมาจัดวางลง จะนอนเองก็สบายมีห้องน้ำในตัว จะใช้รับรองผู้คนก็สะอาดตาสบายใจดี

วันหนึ่งคนเราก็ควรมี กระท่อม Artistic CUBICLE เปนพื้นที่ส่วนตัวแยกจากบ้านเอาไว้บ้าง งวดได้ ภูดิศ สถาปนิกจากเชียงใหม่ เมื่อศึกษาวิเคราะห์พฤฒิกรรมลูกค้าคนปลูกบ้านแล้ว ก็ออกแบบจับปรุง เกิดเปนซุ้มโครงเหล็กหลังคาแก้วขึ้นมา นัยยะว่าลูกค้าเปนคนมีความอนุรักษ์วัฒนธรรม แต่ไม่ทิ้งความทันสมัย และทนไม่ได้ที่ข้าวของต่างๆจะถูกทิ้งไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

ในการพัฒนาแบบขั้นถัดมา ก็พิจารณาพบว่าลูกค้าเปนคนมีนิสันใจคออย่างคนยุคเก่า ที่ในความร้ายกาจนั้นยังใจบุญสุนทาน และถือแบบธรรมเนียมไทยแท้เคร่งครัด ว่าใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

สังเกตจากสำรับคับค้อนที่จัดไว้รับรองแขกมาพักที่บ้าน มีห้องพักส่วนตัวของแขกแยกไว้ให้ เครื่องดื่มเครื่องกิน จัดบริการรอไว้ในห้องพัก ไหนจะส้มสูกลูกไม้ ทั้งในทั้งนอก หนังสืออ่านเล่น หนังสือพิมพ์ ยาสูบ ไฟแช็ค ปลั้กไฟ ฯลฯ ที่บริเวณ เรือนกระท่อมโลหะหลังใหม่ ซึ่งจะอยู่ในความดูแลของ กิจการสีเขียว The Green Preserve วิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไปนั้น ภูดิศ จึงวาดแบบให้มี ร้านน้ำ ซึ่งภาษาเหนือ ออกเสียงว่า “ฮ้านน้ำ” ที่ตามธรรมเนียมล้านนาแล้วต้องมีวางไว้บริการแก่ผู้สัญจรไปมา ถ้าอยากน้ำแล้วสามารถใช้กระบวยตักกินจากหม้อดินใส่น้ำที่อยู่ในร้านมีหลังคานี้ได้ เปนกุศลด้วยตามหลักศาสนา แต่มากกว่านั้นคือเปนมนุษยธรรมที่เพื่อนมนุษย์ควรจะมีต่อกันในค่าความเปนคนเขาว่า “อยากให้มีจุดรับสายตาตอนผ่านซุ้ม กับทำให้อาคารเหล็กดู soft ลง”

“ฮ้านนี้ใช้วางของรับแขกได้”

 

เรือนฮ้านแก้ว The Art-terial Cubicle

 

ก็พอดีพอดิบกับที่ว่าแนวปฏิบัติปกติ ที่เคยเปิดบ้านรับรองท่านหมู่ปัญญาชนที่มา slow life อยู่เขาใหญ่ เวลารับแขกก็จะได้คัดเอาของออแกนิคดีๆมาใส่ ‘ขัน’ เอาไว้ให้ (ภาษาเหนือขัน แปลว่า พาน) อย่างวันนี้ ขันที่จัดไว้ก่อนแบบจะมา ประกอบด้วย

ขันแดง ใส่ลูกมะละกอฮาวาย อะโวคาโด้บลูลี่ มะนาวนมยาน และมะเดื่อขันขาว ใส่ส้มออสเตรเลีย กี๋มุก ใส่ชากระป๋อง แยมมะนาว ใบชาอย่างวิเศษจากสามเหลี่ยมทองคำ และชุดยาสูบ เปลกระเบื้อง ใส่ไวน์ขาวน้ำผึ้งคำ โซนเเตร์  5 ลูกศร กับ เนยแข็งบรีส์ปากช่อง และมะเดื่อตุรกีสดหวานจาก ไร่ภิรมย์ภักดี

น้ำแร่บริการขวดโตๆสำหรับนอนดื่มในห้องและขวดเล็กสำหรับพกไปข้างนอกยามเดินทาง เครื่องดื่มซ่าๆ ไร้น้ำตาล สองกระป๋อง และโจ๊กแห้ง /ปลาซาร์ดีนต้มมิโสะ เผื่อจะหิวยามค่ำคืน ของรับเเขกเหล่าก็จะได้วางไว้ที่ ฮ้านน้ำหลังคาแก้ว ด้วยถือคติว่ายินดีนักแล้ว แขก’แก้ว’มาเยือน

ดังนี้แล้ว ที่กล่าวคนเราก็ควรมี กระท่อม Artistic CUBICLE เอาไว้บ้าง ก็สำเร็จผลออกมาเปนรูปเปนร่าง ซึ่งหลังนี้ก็เหมาะยิ่งนักที่จะมีชื่อว่า “เรือนฮ้านแก้ว”