แบงก์ชาติเมียนมาปัดรายงานซื้ออาวุธของ UN ยันปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนการ

01 ก.ค. 2567 | 05:50 น.

ธนาคารกลางเมียนมาปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติ (UN) ที่ระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและอาวุธในการสู้รบกับกองกำลังต่อต้านการรัฐประหาร โดยระบุว่า สถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารฯ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้

ธนาคารกลางเมียนมาระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ออกมาในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหารเมื่อวันเสาร์ (29 มิ.ย.) ว่า ทางธนาคารฯ "ขอคัดค้านรายงานพิเศษของ UN อย่างจริงจัง รายงานฉบับดังกล่าวของ UN ส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของพลเรือนเมียนมา และความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับชาติอื่น ๆ อย่างรุนแรง"

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังรายงานฉบับใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (UN) พบว่า ธนาคารระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่รัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา ในการจัดหาอาวุธโจมตีประชาชนอย่างเป็นระบบและร้ายแรง

นายทอม แอนดรูว์ส ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมาของ UN ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ (26 มิ.ย.) ว่า ปัจจุบัน ธนาคารในประเทศไทยได้กลายมาเป็นช่องทางหลักแก่กองทัพเมียนมาเพื่อซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์ รวมถึงชิ้นส่วนสำหรับเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ ที่ใช้ในสงครามกลางเมืองที่กินเวลานานกว่า 3 ปี และสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ ตลอดจนสังหารพลเรือนมากกว่า 5,000 ราย

แบงก์ชาติเมียนมาปัดรายงานซื้ออาวุธของ UN ยันปฏิบัติถูกต้องตามกระบวนการ

รายงานดังกล่าวระบุว่า มีธนาคาร 16 แห่งใน 7 ประเทศที่ดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างทางทหารของรัฐบาลทหารในช่วงปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าถึง 253 ล้านดอลลาร์ในช่วงระหว่างเดือนเม.ย. 66 - มี.ค. 67

ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญกับความวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2564 เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกองทัพยังคงเผชิญกับความขัดแย้งที่ไม่รุนแรงหลายครั้ง และต้องรับมือกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังพังทลาย

ด้านประเทศไทยที่ถูดพาดพิงถึงในรายงานของ UN ฉบับนี้ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในสังกัดธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 ระบุว่า 

ตามที่ ปรากฎข่าวเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินไทยกับประเทศเมียนมา นั้น

สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ชี้แจงว่า สำนักงาน ปปง. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประกาศ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในการแสดงตนของลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและการทำธุรกรรมตามมาตรการที่สำนักงาน ปปง. ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากสำนักงาน ปปง. ตรวจพบว่ามีสถาบันการเงินมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องแล้ว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินการกับสถาบันการเงินนั้นตามอำนาจ หน้าที่ ต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) และมาตรการของสำนักงาน ปปง.มาอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น โดย ธปท. พร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ปปง.ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่าไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงินและสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ขณะที่นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ไทยหลายแห่ง ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยธนาคารพาณิชย์ของไทยมีนโยบายชัดเจนในการไม่สนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและสรรพาวุธกับองค์กรทางทหารของเมียนมา รวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและห้ามนำธุรกรรมทางการเงินของภาคธนาคารไปใช้ในการจัดซื้ออาวุธที่นำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน อนึ่ง ธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกับเมียนมาตามที่ปรากฏในรายงานฯ นั้น เป็นจำนวนธุรกรรมเพื่อการชำระค่าอุปโภค บริโภค และพลังงาน 

ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำชับให้สถาบันการเงิน ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของ Financial Action Task Force (FATF) รวมถึงมาตรการตามแนวปฏิบัติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเข้มข้น