"กมลา แฮร์ริส" ก้าวสู่การเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2567 หลัง โจ ไบเดน ถอนตัว เรียนรู้ประวัติและความท้าทายของผู้หญิงที่อาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์อเมริกา
การพลิกโฉมทางการเมืองของสหรัฐ หลัง ประธานาธิบ “ดีโจ ไบเดน” ได้ประกาศถอนตัวจากการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2567 การตัดสินใจครั้งนี้เปิดทางให้รองประธานาธิบดี “คามาลา แฮร์ริส” ก้าวขึ้นมาเป็นตัวเต็งของพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่จะมาถึง
ประวัติ “กมลา แฮร์ริส”
กมลา เดวี แฮร์ริส เกิดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 1964 ที่โอคแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ,ปริญญานิติศาสตร์จากวิทยาลัยกฎหมายฮาสติงส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
กมลา แฮร์ริส เริ่มอาชีพทางกฎหมายในตำแหน่งรองอัยการเขตอลาเมดา เคาน์ตี้ (1990-1998) จากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่สำนักงานอัยการเขตซานฟรานซิสโก (1998-2004) ก่อนได้รับเลือกเป็นอัยการเขตซานฟรานซิสโก (2004-2011) และดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย (2011-2017)
ปี 2017-2021 กมลา แฮร์ริส ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกสหรัฐจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ต่อมาได้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2019 แต่ถอนตัวก่อนการเลือกตั้งขั้นต้น
ในการเลือกตั้งปี 2020 ได้รับเลือกเป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับโจ ไบเดน โดยเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มกราคม 2021
ผลงานสำคัญ กมลา แฮร์ริส
กมลา แฮร์ริส เป็นผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งอัยการเขตซานฟรานซิสโกและอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายและนโยบายด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สิทธิพลเมือง และความเท่าเทียมทางเพศ
กมลา แฮร์ริส เป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา
ปัจจุบัน กมลา แฮร์ริส อายุ 59 ปี อาศัยอยู่กับนายดอจ เอ็มฮอฟฟ์ สามีของเธอ ในเมืองลอสแอนเจลิส และเป็นมารดาเลี้ยงของเอลลา และโคล เอ็มคอฟฟ์ ซึ่งเป็นบุตรภรรยาเก่าของนายดอจ เอ็มฮอฟฟ์
การที่ไบเดนเสนอชื่อแฮร์ริสเป็นตัวแทนพรรค สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของเธอ แฮร์ริสจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ในการแข่งขันกับโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีและตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ประสบการณ์อันหลากหลายของแฮร์ริส ทั้งในด้านกฎหมายและการเมือง อาจเป็นจุดแข็งสำคัญในการรณรงค์หาเสียง เธอมีโอกาสที่จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ และยังเป็นคนแรกที่มีเชื้อสายเอเชียใต้และแอฟริกันอีกด้วย
เส้นทางสู่ทำเนียบขาวยังอีกยาวไกล แฮร์ริสจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งในแง่ของนโยบายและการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนชาวอเมริกัน การเลือกตั้งครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง แต่ยังเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ อีกครั้ง
ขณะที่การรณรงค์หาเสียงเริ่มต้นขึ้น สายตาของชาวโลกจะจับจ้องไปที่กมลา แฮร์ริส และวิสัยทัศน์ของเธอสำหรับอนาคตของสหรัฐอเมริกา