ความท้าทายประเทศไทย รับมือนโยบาย "ประธานาธิบดีสหรัฐ" คนใหม่

26 ก.ค. 2567 | 09:27 น.
อัพเดตล่าสุด :26 ก.ค. 2567 | 09:42 น.

“ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์” ถอดมุมมอง เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ ประเมินภาพประเทศไทยในอนาคตต้องรับมืออย่างไร เพื่อประคองประเทศรับนโยบายการเมือง การค้าโลกเปลี่ยน

KEY

POINTS

  • ถอดมุมมอง เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ “ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์” ประเมินนโยบายสำคัญที่ส่งผลกระทบการค้าโลกของ แฮร์ริส-ทรัมป์
  • เช็คนโยบายแบบของ “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการต่างประเทศ 
  • ข้อเสนอแนะประเทศไทยกับแนวทางการรับมือ ไม่ว่า “กมลา แฮร์ริส” หรือ “โดนัลด์ ทรัมป์” ใครจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา

ทั่วโลกจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเกิดขึ้นในอีก 4 เดือนข้างหน้านี้ โดยเป็นการแข่งขันชิงตำแหน่งผู้นำประเทศมหาอำนาจ ระหว่าง “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต และ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะกำหนดอนาคตของสหรัฐฯ แต่ยังกำหนดอนาคตเวทีการเมือง และเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในนโยบายในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเองก็ย่อมได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรประเทศไทยก็ต้องวางแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายด้านการค้า และการลงทุน 

เบื้องต้นประเมินแนวนโยบายของ แฮร์ริส-ทรัมป์ ว่า แนวนโยบายของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ต่างกันสิ้นเชิง เพราะหากมองนโยบายของ “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต คงไม่สุดโต่ง และค่อย ๆ คิดออกมาแบบมีระบบการตัดสินใจร่วมกัน ต่างจากนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเอง แม้จะมีข้อดีว่านโยบายออกมารวดเร็ว แต่หลายนโยบายที่เคยออกมาในช่วงที่เขานั่งเป็น ปธน. ก็มีลักษณะสุดโต่งมากไป

เช็คนโยบาย “โดนัลด์ ทรัมป์” 

สำหรับนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จากพรรครีพับลิกัน แม้ว่านักวิเคราะห์หลายคนจะประเมินว่า แนวนโยบายอันสุดโต่งหลายนโยบายจะถูกปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง โดย ศ.ดร.อรรถกฤต มองว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มีประสบการณ์จากการทำนโยบายอย่างอย่างตอนที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 45 โดยเฉพาะการบริหารนโยบายทางการค้า และหากทรัมป์ได้กลับมาเป็นผู้นำสูงสุดอีกครั้ง คงจะรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำในครั้งนี้

แต่อย่างไรก็ดีในแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ปัจจุบันในการขับเคลื่อน นโนบายต่าง ๆ ถือว่าท้าทายความสามารถของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ไม่แพ้ช่วงที่เขาเคยเป็นประธานาธิบดี เพราะแม้จะเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และระบบสาธารณสุขไปทั่วทั้งโลก แต่ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหม่ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูง

ขณะเดียวกันในแนวนโยบายด้านการค้า ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกจับตาดูสงครามการค้าระหว่าง สหรัฐ-จีน จะรุนแรงแค่ไหน เพราะไม่ว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา หลาย ๆ ประเทศที่เป็นประเทศคู่ค้าของทั้งสองประเทศจะได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ แน่นอน 

ส่วนนโยบายทางด้านการต่างประเทศ และความมั่นคง เห็นว่า หากทรัมป์กลับมาครองตำแหน่งประธานาธิบดีได้อีกครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจจะถอนตัวจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และสนับสนุนการยุติการสู้รบในรัสเซีย-ยูเครน แต่ผลที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรนั้น คงหาคำตอบได้ยากว่า ทรัมป์จะทำได้ดีกว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน หรือไม่

เช็คนโยบาย “กมลา แฮร์ริส” 

แนวนโยบายของ “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต มีความท้าทายไม่ต่างจากทรัมป์ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ อีกสมัย เพราะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นต้องใช้เวลาในการแก้ไขอีกระยะหนึ่ง และคงท้าทายฝีมือการบริหารไม่น้อย โดยเฉพาะการรับไม้ต่อจาก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ศ.ดร.อรรถกฤต ยอมรับว่า การบริหารนโยบายด้านเศรษฐกิจสมัย โจ ไบเดน ในช่วงที่ผ่านมาก็รักษาการเติบโตได้แค่ระดับทรงตัวเท่านั้น

ความท้าทายสำคัญของ “กมลา แฮร์ริส” ที่จะต้องเผชิญอย่างแน่นอนหากได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐ นั่นคือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ควบคู่กับการออกนโยบายลดรายจ่าย เพราะในสมัยประธานาธิบดีไบเดน มีปัญหานโยบายที่ทำให้เกิดค่าจ้างสูงขึ้น แต่ในแง่ของรายจ่ายก็สูงขึ้นจากปัญหาเงินเฟ้อด้วย

ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศ มองว่า คงไม่มีอะไรแตกต่างจากสมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดนมากนัก สอดคล้องกับความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลายคนที่มองว่า หากแฮร์ริส เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ก็คงจะดำเนินแนวทางของไบเดนต่อสงครามในกาซาเป็นส่วนใหญ่ 

“นโยบายของแฮร์ริส คงไม่สุดโต่ง และน่าจะทำเป็นทีม ตัดสินใจอะไรจะมีการปรึกษากันมากกว่า แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ ต้องจับตาว่า แฮร์ริส จะมีนโยบายอะไรออกมาในระยะสั้น เพื่อลดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงในตอนนี้ได้อย่างไร” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

ผลกระทบ-การรับมือของไทย

ผอ.สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ฯ ระบุว่า อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ไม่ว่าใครมาประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบกับทุก ๆ นโยบายที่ออกมา นั่นเพราะสหรัฐเป็นคู่ค้ากับประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา คือ สงครามการค้า สหรัฐ-จีน หากเกิดขึ้นและรุนแรงกว่าเดิม ซัพพลายเชนทั่วโลกจะเจอผลกระทบแน่นอน เช่นเดียวกับประเทศไทย ก็คงเจอผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังจีน และสหรัฐ ค่อนข้างสูง

ขณะเดียวกันการเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ของประเทศไทยนั้น เชื่อว่าจะท้าทายรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การส่งออก และการต่างประเทศ ด้วยเพราะประเทศไทยตอนนี้มีแรงกดดันภายในประเทศค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะ และปัญหาหนี้ครัวเรือนในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามหามาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยออกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็คงช่วยเพียงแค่ระยะสั้น แต่ระยะกลาง และระยะยาว ต้องเตรียมความพร้อมให้ดี

“รัฐบาลต้องวางแผนรับมือเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะมีแรงกดดันแน่นอนไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งจะต้องมองให้ขาดว่า เราควรจะทำอย่างไร โดยในประเด็นด้านส่งออกแม้หลายตลาดจะติดลบ แต่ที่ผ่านมาตลาดสหรัฐก็ยังขยายตัว ก็คงต้องหาทางเจรจาการค้าเป็นรายสินค้า ใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจ ที่สำคัญรัฐบาลอย่าลืมอีอีซี เพราะเป็นโครงการสำคัญ และลงทุนไปมากแล้ว ถือเป็นช่องทางหนึ่งในการดึงลงทุนเข้ามาในประเทศด้วย” ศ.ดร.อรรถกฤต ทิ้งท้าย