คนหนึ่งเป็นอดีตประธานาธิบดีที่ให้คำมั่นว่าจะทุ่มเทเต็มที่กับสงครามการค้าที่เริ่มต้นกับจีนซึ่งก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่วนอีกคนเป็นรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ที่อาจปรองดองกับจีนได้มากกว่านี้ ประเด็นที่น่าสนใจเวลานี้ก็คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนอยากร่วมงานกับผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใดมากกว่ากัน
ใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนหน้า ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีทรัมป์หรือรองประธานาธิบดีแฮร์ริส จะเป็นผู้กำหนดบรรยากาศและสาระสำคัญส่วนใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่ผ่านมา สี จิ้นผิงไม่ได้แสดงความเห็นชอบใดๆ ต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้งวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยกระทรวงการต่างประเทศเรียกมันว่าเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์บางคนกังวลว่าทรัมป์เป็นบุคคลที่มีบุคลิกเฉพาะตัว เป็นคนที่คาดเดายากและอารมณ์อ่อนไหว ซึ่งอาจใช้มาตรการที่สร้างปัญหาใหญ่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยขณะนี้ทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันมองจีนผ่านเลนส์ของความมั่นคงแห่งชาติเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าความสัมพันธ์จะเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นไม่ว่าใครจะได้ครองทำเนียบขาวก็ตาม และก็ดูเหมือนจะยอมรับว่าทั้งแฮร์ริสและทรัมป์มีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางค่อนข้างเข้มงวดต่อจีน
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า จีนอาจเข้าข้างแฮร์ริสเล็กน้อย โดยชี้ว่าเธอมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายที่จัดการได้ง่ายกว่าที่ ประธานาธิบดีโจ ไบ เดน เสนอ แม้ว่านโยบายนั้นจะไม่เป็นมิตรกับจีนโดยตรงก็ตาม ในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันที่กำลังถูกจับตา อดีตประธานาธิบดีถูกมองว่ามีความยืดหยุ่นมากกว่า
ความชอบธรรมของไต้หวัน
จีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนของตนเอง และไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังเพื่อบรรลุการรวมชาติ แม้ว่าสหรัฐฯ จะไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่สหรัฐฯ ก็เป็นซัพพลายเออร์อาวุธรายใหญ่ และเป็นผู้สนับสนุนระดับนานาชาติที่สำคัญที่สุด
แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วไต้หวันจะพอใจกับแนวทางของทรัมป์ต่อเกาะแห่งนี้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขาเรียกร้องให้ไต้หวันจ่ายเงินให้สหรัฐมากขึ้นสำหรับการป้องกันประเทศและกล่าวหาเกาะแห่งนี้ว่าทำลายอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ
เมื่อถูกถามว่าจะใช้กำลังทหารของสหรัฐฯ เพื่อปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีนหรือไม่ ทรัมป์บอกกับวอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะสี จิ้นผิงเคารพเขา เขากล่าวว่า หากจีนรุกรานไต้หวันจะตอบโต้ด้วยการกำหนดภาษีนำเข้าจากจีน 150% ถึง 200% หรืออาจถึงขั้นหยุดการค้ากับหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ไปเลยก็ได้
สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐฯ แฮร์ริส ปฏิเสธที่จะเปิดเผย ว่าจะใช้กำลังทหารในการปกป้องไต้หวันหรือไม่ แต่เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารทางทหารกับจีนและสนับสนุนความสามารถของไต้หวันในการปกป้องตนเอง
ภาษีศุลกากร
แม้ว่าทรัมป์จะพูดถึงจีนในช่วงการหาเสียงมากกว่าแฮร์ริส แต่ทั้งคู่ก็ไม่ค่อยพูดถึงวิธีจัดการความสัมพันธ์กับจีนมากนัก นักวิเคราะห์มองว่าอาจเป็นเพราะอย่างน้อยเพราะการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่ทรัมป์และแฮร์ริส รวมทั้งพรรคการเมืองของพวกเขาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน แต่จีนก็ไม่ได้เป็นเรื่องเเรกๆ ในประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อเทียบกับปัญหาผู้อพยพ สงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง
ในการดีเบตของประธานาธิบดีเมื่อเดือนที่แล้ว จีนถูกหยิบยกมาพูดถึงในบริบทของภาษีศุลกากรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไบเดนยังคงใช้มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ทรัมป์เสนอขึ้นเมื่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และในบางกรณีก็ขยายมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภท โดยอ้างถึงความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ หากแฮร์ริสได้รับชัยชนะ คาดว่าจะยังคงใช้มาตรการภาษีนำเข้าและข้อจำกัดต่อภาคส่วนเทคโนโลยีสำคัญๆ ของจีนตามที่ไบเดนกำหนดต่อไป
ขณะเดียวกัน ทรัมป์ได้เพิ่มภาษีนำเข้าเป็นสองเท่าโดยเสนออัตราภาษีสูงถึง 20% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศ และ 60% ขึ้นไปสำหรับสินค้าจากจีน ตามข้อมูลของสถาบัน Peterson Institute for International Economics ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ข้อเสนอของทรัมป์จะทำให้ครัวเรือนทั่วไปในสหรัฐฯ สูญเสียเงินมากกว่า 2,600 ดอลลาร์ต่อปี
นโยบายการค้าที่เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อจีนของทรัมป์ ประกอบกับความรู้สึกไม่พอใจต่อพันธมิตรของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ให้เห็นถึงความไม่มั่นคงที่มากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ภายใต้การนำของทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะต้องประสบกับความขัดแย้งอย่างรุนแรง วิกฤตการณ์ร้ายแรง และอาจถึงขั้นความขัดแย้งทางทหาร จากข้อมูล ของ Asia Society Policy Institute
แฮร์ริสไม่เคยไป จีนเลย แต่ก็เดินทางไปเอเชียหลายครั้งในฐานะรองประธานาธิบดี รวมถึงฟิลิปปินส์ ซึ่งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐในการปกป้องพันธมิตรจากการรุกรานของจีนในทะเลจีนใต้
การเผชิญหน้าโดยตรงครั้งเดียวของแฮร์ริสกับสี จิ้นผิงเกิดขึ้นในปี 2565 ในระหว่างการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสั้นๆในการประชุมสุดยอดของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่กรุงเทพฯ
ขณะดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก แฮร์ริสร่วมสนับสนุนพระราชบัญญัติว่าด้วยนโยบายสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ ซึ่งประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน และพระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกง ซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยในดินแดนของจีน
ชี้ให้เห็นว่ารองประธานาธิบดีมีความชัดเจนเกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีน และในฐานะประธานาธิบดี ก็จะทำให้แน่ใจว่าสหรัฐฯ จะได้รับชัยชนะในการแข่งขันสำหรับศตวรรษที่ 21
อ้างอิงข้อมูล
6 key takeaways from the first Harris-Trump presidential debate
Not just China, Trump 2.0 could spell trouble for U.S. allies as he doubles down on tariff talk
Trump's bigger tariff proposals would cost the typical American household over $2,600 a year