thansettakij
บริบทโลกหลายขั้วในปี 2025 : เมื่อทรัมป์ ขู่ใช้ภาษีการค้ากับหลายประเทศ

บริบทโลกหลายขั้วในปี 2025 : เมื่อทรัมป์ ขู่ใช้ภาษีการค้ากับหลายประเทศ

27 มี.ค. 2568 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2568 | 07:57 น.

บทความ "ระเบียบโลกใหม่: ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ" ตอน 4 โดย ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการUNCTAD

แม้ว่าพลังอำนาจของสหรัฐฯได้เริ่มเสื่อมสลายลงไปบ้างแล้ว บทบาทของศูนย์อำนาจนี้ยังต้องถือว่ามีความ สำคัญต่อสถานการณ์โลกทั้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ การกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีของ ทรัมป์ ครั้งที่สองทำให้ทั่วโลกต้องเตรียมพร้อมที่จะรับกับภาวะการณ์ใหม่ที่อาจจะยากที่จะกำหนดได้อย่างแน่นอน

เนื่องจาก ทรัมป์ จะมีวิธีการในการแสดงออกถึงจุดยืนในหลายหลายเรื่องที่อาจจะออกนอกกรอบของนโยบาย ตามปกติ โดยที่หลายประเด็นอยู่ในแนวตรงข้ามกับบริบทของโลกตามปกติวิสัย การปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของ ทรัมป์ ตรงกับวันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มต้นของการประชุม Word Economic Forum (WEF) ที่เมือง Davos ที่ทุกปีจะมีผู้นำโลกหลายประเทศและหลายองค์กรเข้าร่วมเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ 

รายงานของ WEF ที่ถือว่ามีความสำคัญระดับกุญแจของการประชุม คือ Global Risks Report โดยเฉพาะของปี 2025 นี้ระบุอย่างชัดเจนว่า “สงครามระหว่างรัฐ” ได้กลายเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลกในปีนี้ ซึ่งกระโดดขึ้นมาจากอันดับที่ 8 ในปี 2024 โดยมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงคราม Ukraine ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และสถานการณ์รุนแรงใน Sudan

รานงานชี้ให้เห็นความเปราะบางของสันติภาพโลกที่อาจจะเกิดขึ้นจากสงครามตัวแทน (proxy war) และการก่อการร้าย ภัยอันดับสองมาจากสภาพอากาศรุนแรง (extreme weather events) เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ซึ่งเป็นผลจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง

ความเสี่ยงอันดับสามจากผลของการลงคะแนนจากผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนทั่วโลก คือ การเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ (geoeconomic confrontation) ที่คงจะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อนและอาจจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกหากสหรัฐฯดำเนินนโยบายด้านการค้าตามที่ ทรัมป์ เคยกล่าวไว้ระหว่างหาเสียง 

ข้อมูลเท็จและบิดเบือน (misinformation and disinformation) เป็นความเสี่ยงอันดับสี่ สืบเนื่องจากการใช้เทคโนโลยี AI อย่างไม่มีความรับผิดชอบและการใช้สื่อสังคมที่อาจจะมีผลกระทบต่อผลทางด้านการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่มีผลให้เกิดการแบ่งแยกทางทางสังคม (societal polarisation) เป็นความเสี่ยงอันดับห้า ที่อาจจะมีผลต่อการอ่อนแอลงของระบบพหุภาคีโลก 

ส่วนภาวะเศรษฐกิจถดถอย (economic downturn) เป็นข้อกังวลความเสี่ยงอันดับหกที่เกี่ยวโยงกับการลดบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศและการเพิ่มงบประมาณทางการทหารแทนการลงทุนในสังคม 

สรุปได้ว่าการเกิดขึ้นของระเบียบโลกใหม่และโอกาสของความขัดแย้งที่จะทวีคูณยิ่งขึ้นที่ได้กล่าวมาในบทที่แล้ว บ่งบอกถึงโอกาสความเป็นไปได้ของความเสี่ยงสามอันดับแรกที่โลกต้องพร้อมที่จะต้องรับมือและสร้างภูมิต้านทานเพื่อรับกับวิกฤตการณ์ที่จะตามมาต่อไป 

มาตรการและนโยบายของรัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ทรัมป์ มีหลากหลาย โดยมีสาระหลัก สำคัญที่จะสรุปได้ดังต่อไปนี้ 

1. ทรัมป์ ได้ขู่ใช้ภาษีการค้ากับหลายประเทศ ตั้งแต่ จีน เม็กซิโก แคนาดา ไปจนถึงเดนมาร์กและประเทศอื่นๆ ที่อาจจะมีการเกินดุลการค้าที่สุดกับสหรัฐฯ ทรัมป์ เคยกล่าวว่า " tariff is the most beautiful word in the English language.” แต่ปัจจัยสำคัญในการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯอาจจะมีเรื่องอื่น เช่น มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อสหรัฐฯ และท่าทีในการมีมาตรการต่อต้านจีนทางเศรษฐกิจจีนและเวียดนามอยู่ในกลุ่มที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯมากที่สุด ในระดับกว่า 270 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

มาตรการทางภาษีนี้ไม่น่าจะช่วยทำให้สหรัฐฯมีเศรษฐกิจการค้าที่แข็งแกร่งขึ้นได้ด้วยเหตุผลว่า 

ก) ประเทศต่างๆ คงจะมีมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษี ในช่วง ทรัมป์ สมัยแรก จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้าข้าวโพดและถั่วเหลืองที่กระทบเกษตรกรสหรัฐฯอย่างแรง ทำให้ ทรัมป์ ต้องใช้เงินกว่าร้อยละ 80 ของภาษีที่เก็บได้กลับมาช่วยเกษตรกรด้วยการอุดหนุนชดเชย ความเสียหาย 

ข) ถ้ามีข้อขัดแย้งกับกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกอาจจะถูกฟ้องร้อง 

ค) การดึงฐานการผลิตกลับสหรัฐฯคงจะไม่ง่าย แต่ที่เกิดขึ้นคือฐานการผลิตจะถูกย้ายออกจากจีนไปประเทศ เช่น เวียดนาม อินเดีย และไทย) ผู้บริโภคอเมริกันจะได้รับผลกระทบทางราคาสินค้าที่สูง 

ง) ควบคู่ไปกับมาตรการจำกัดแรงงานต่างชาติที่จะทำให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นและอาจจะมีผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อได้ เศรษฐกิจขณะนี้อยู่ในภาวะตึงตัวพอสมควรโดยเฉพาะในด้านตลาดแรงงาน 

ทั้งนี้เนื่องจากความจริงจะสรุปว่านโยบายจำกัดการค้าของ ทรัมป์ เป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดคงจะไม่ถูกต้อง เพราะในช่วงของประธานาธิบดี ไบเดน (2021-2024) เขาก็เดินตามรอยเดียวกันเกือบจะทั้งหมด ภาษีที่ถูกยกให้สูงขึ้นในช่วง ทรัมป์ สมัยแรก (2016-2020) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีการเพิ่มการควบคุมจำกัดการค้าด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะกับ บริษัทจากจีน และกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ออกในสมัย ไบเดน เพื่อลุ้นเศรษฐกิจเขียว ยังมีการกีดกันไม่อุดหนุนบริษัทที่มีความสัมพันธ์ใดๆกับรัฐบาลจีน ไม่อุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่จากจีน และขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนร้อยละ 100