นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ถือเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นย้ำถึงเรื่องการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จะต้องสะดวกและปลอดภัย บนเวทีปราศรัย “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ” เมื่อ 24 มี.ค.2566
นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ชี้แจงรายละเอียดถึงการใช้เงิน ตามมาตรา 57 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า “วงเงินที่ต้องใช้จะตก 40,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นไม่เกิน 8,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะใช้การบริหารงบประมาณปกติ จากการบริหารงบฯ ระบบภาษี เงินกู้ และเงินนอกงบประมาณ”
อย่างไรก็ตาม นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ไม่ปรากฎในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา แต่ “ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกฯและรมว.คมนาคม ได้ประกาศเส้นทางการเดินรถของรัฐ ได้แก่ สายสีแดง และ สายสีม่วง จะนำร่องผลักดันภายใน 3 เดือน ส่วนเส้นทางอื่น ๆ ทุกเส้นทาง จะดำเนินการให้ได้ภายใน 2 ปี
ต่อมา ครม.เพื่อไทย ได้อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย สายนครวิถี (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (บางซื่อ – รังสิต)
รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง : เตาปูน – คลองบางไผ่) ของการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง-แดง ได้ที่สถานีบางช่อน แต่ต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกันหรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2567
จากการตรวจสอบ นโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2566 – 14 มีนาคม 2567 ในภาพรวมทั้งสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 2 สาย เฉลี่ยวันละ 92,714 คน/เที่ยว เพิ่มขึ้น 17.94% จากก่อนมีมาตรการฯ ทั้ง 2 สายรวมกัน มีผู้โดยสาร เฉลี่ยวันละ 78,611 คน/เที่ยว
รถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน และสายกรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 27,683 คน/เที่ยว เพิ่มขึ้น 27.97% จากเดิมผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 21,632 คน/เที่ยว
รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ พบว่า มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 65,179 คน/เที่ยว เพิ่มขึ้นจากก่อนมีมาตรการ 14.39% จากที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 56,979 คน/เที่ยว
ทว่า สายอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้า.... มีเพียงแค่นโยบายจาก “รองฯสุริยะ” ว่าจะเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2568 และขับเคลื่อนนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ในเดือนมี.ค. 2569
ทว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “Vision For Thailand” จัดโดยเนชั่นกรุ๊ป ถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า เชื่อว่าจะยังคงเดินหน้า แต่อาจจะต้องเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหารกลับมาเป็นของรัฐก่อน ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่า หากมีการเวนคืนอาจต้องใช้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท
ทำให้ทุกคนตั้งคำถามว่า รูปธรรมจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่?...หรือจะเป็นมวยล้มต้มคนลงคะแนนเสียง!!!
8 ตุลาคม 2567 นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดไฟเหลืองกระพริบก่อนไฟเขียวว่า จะมีการนำร่างพระราชบัญญัติขนส่งทางราง เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายเรื่องการเงิน และตัวเองจะเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติของพรรคเพื่อไทย ประกบ กับร่างของ ครม.
“ดิฉันเข้าใจว่า เมื่อผ่าน ครม.น่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาในสัปดาห์หน้า ซึ่งร่างนี้ จะเป็นร่างที่เกี่ยวข้องกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย และคาดว่าจะมีการนำร่างพระราชบัญญัติตั๋วร่วมเข้าประกบเพื่อดำเนินการให้ทันสมัยประชุมสภาสมัยนี้” รมช.คมนาคม ชี้แจง
หลังจากนั้น ครม.รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร จึงมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
หลายคนสงสัยว่ากฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างไร จะทำให้ตั๋วร่วม 20 บาท เกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะทำให้เกิดการพัฒนา 2 ข้างทางรถรางอย่างไร
ฐานเศรษฐกิจจึงนำสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ....มานำเสนอเพื่อให้เห็นภาพของไฟเหลืองของการคิกออฟ 20 บาทตลอดสาย!!!
กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินอื่น ที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดให้มีการจัดทำโครงการขนส่งทางราง ประกอบด้วย
1) การจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง เพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวเส้นทาง เพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง
2) การเสนอโครงการการขนส่งทางราง โดยแยกเป็นกรณีรถไฟและรถไฟฟ้า โดยให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการ และกรณีรถรางให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ เสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอ รมว.มหาดไทย และ รมว.คมนาคม ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการฯ
ทั้งนี้ หากโครงการใดที่มีเอกชนร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามกฎหมาย “ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน”
3) การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์ เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาการขนส่งทางราง กำหนดเขตระบบรถขนส่งทางราง และเขตปลอดภัยระบบขนส่งทางราง โดยกำหนดเงื่อนไขการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง รวมทั้งกำหนดข้อห้ามกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งทางราง
นอกจากนี้ ให้มีการกำหนดประเภทของใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ใน 3 ประเภท ได้แก่
1) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง
2) ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง
3) ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง
กำหนดหน้าที่ ให้ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง ในการจัดให้มีประกันความเสียหาย มีหน้าที่ในการแจ้งเหตุ ที่จะทำให้การเดินรถขนส่งทางรางหยุดชะงัก เหตุฉุกเฉินหรืออุปสรรคต่อการขนส่งทางราง กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง และไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ที่เกี่ยวกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง
ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้มี “คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ของการขนส่งทางราง” มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และ อุบัติการณ์
กฎหมายยังกำหนดให้มี “ผู้ตรวจการขนส่งทางราง” มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางรางกำหนดให้ “รถขนส่งทางราง” ที่จะให้ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง ต้องจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการกำหนดประเภทรถขนส่งทางรางที่ไม่ต้องจดทะเบียน อันได้แก่ พระราชพาหนะและรถขนส่งทางทหาร
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาต จะต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการโดยเฉพาะ “ผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก”
ร่างพ.ร.บ.นี้ จะส่งผลให้เกิดการบริหารและการให้บริการระบบการขนส่งทางรางมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถให้บริการด้วยความถี่ที่เหมาะสมต่อความต้องการใช้บริการ ตลอดจนการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การเพิ่มสัดส่วนของระบบราง และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการ การส่งเสริมด้านมาตรฐาน การให้บริการ และการซ่อมบำรุง
กฎหมายฉบับนี้ มีเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาระบบการขนส่งทางราง การอำนวยความสะดวกในการขนส่ง และ “มีอัตราค่าบริการต่อหน่วยที่เหมาะสม” อันจะจูงใจให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น
ดังนั้น การมีกฎหมายในการกำกับดูแลระบบการขนส่งทางราง จะทำให้เอกชนสามารถเข้ามาประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง ในเส้นทางที่มีความจุทางเหลืออยู่ได้ อันจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันการประกอบกิจการขนส่งทางราง
นอกจากนี้ จะก่อให้เกิดการขยายโครงข่ายทางรถไฟที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองใหม่ ลดความแออัดของประชากรในเขตเมือง ทำให้ประชาชนสามารถใช้บริการการขนส่งทางรางที่มีคุณภาพ อันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการขนส่งทางรางมีอัตราการ ปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงบประมาณ ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการบังคับใช้กฎหมายที่จะเกิดขึ้นในระยะ 3 ปีแรก มีงบเพียง 427.88 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลต่อภาระงบที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเห็นควรให้ “กรมการขนส่งทางราง” เตรียมความพร้อมทุกมิติ โดยคำนึงถึงภารกิจความจำเป็น ความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย ความครอบคลุมของแหล่งเงินอื่น นอกเหนือจากงบประมาณ และจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพื่อขอตั้งงบรายจ่ายประจำปีด้วย
ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานฯ และกฎหมายฉบับนี้ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นได้จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว ครม.นายกฯแพทองธาร จึงมีมติให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับบนี้
ถือเป็นการนับหนึ่งของการเดินหน้าการพัฒนาระบบรางของไทย และเดินหน้าสู่คิดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย แต่จะ “ไปรอดหรือตกราง” ต้องลุ้นกันที่สภา!!!