ด้วยเป้าหมายที่จะบ่มเพาะผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป พ่อแม่มักจะตั้งคำถามว่ารูปแบบการเลี้ยงดูของตนนั้นได้ผลหรือไม่ ผ่อนปรนหรือเข้มงวดเกินไปหรือไม่ ส่งเสริมความรับผิดชอบหรือให้สิทธิพิเศษมากเกินไปหรือไม่ ลูกจะเป็นซีอีโอที่มีประสิทธิภาพของบริษัทหรือไม่ และสำหรับผู้ที่บ่มเพาะลูกเพื่อเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว มักจะตั้งคำถามว่ารูปแบบการเลี้ยงดูของตนสามารถแสดงถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกได้หรือไม่
คำถามที่พบบ่อยที่สุดข้อหนึ่งคือควรเลี้ยงลูกอย่างไรจึงจะเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามทำความเข้าใจว่ารูปแบบการเลี้ยงดูมีส่วนทำให้ซีอีโอของธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จได้อย่างไร ซึ่งมีผลการวิจัยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเลี้ยงดูเป็นสิ่งสำคัญในการบ่มเพาะซีอีโอที่มีประสิทธิภาพของธุรกิจครอบครัว
ผลการวิจัยจำนวนมากบอกไปแนวทางเดียวกันว่าว่าการอบรมเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมที่บ้านมีบทบาทสำคัญ จึงควรเน้นย้ำถึงพลังของ “การเลี้ยงดู” มากกว่า “พันธุกรรม” ในการอธิบายความแตกต่างระหว่างบุคคล นักวิชาการด้านธุรกิจครอบครัวมีการศึกษารูปแบบการเลี้ยงดูที่จะพัฒนาผู้นำธุรกิจครอบครัวที่สามารถเป็นแบบอย่างและส่งเสริม “พฤติกรรมการเป็นสมาชิกที่ดีในองค์การ” ให้กับพนักงานได้ดีที่สุด
โดยศึกษารูปแบบการเลี้ยงดูแบบใดที่พัฒนาผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานช่วยเหลือ ร่วมมือ ซื่อสัตย์ และรับผิดชอบมากกว่างานในหน้าที่ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยงดูแบบใดที่จะสร้างผู้นำที่ควบคุมมากเกินไป ไม่มั่นใจในงาน หรือสนับสนุนพฤติกรรมต่อต้านการทำงานในหมู่พนักงาน เช่น ผิดจรรยาบรรณ เกียจคร้าน หรือทะเลาะวิวาทกับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ทั้งนี้จากศึกษาพบรูปแบบการเลี้ยงดูหลักๆ 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
การอบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ (Authoritative (“Balanced”) parent) พ่อแม่มีความคาดหวังสูงต่อลูกของตน แต่ยังให้อิสระในการแสดงออกถึงความเป็นปัจเจกบุคคลและสื่อสารความต้องการของตัวเองด้วยความเคารพ พ่อแม่ใช้การเสริมแรงทางบวกและทางลบอย่างมีประสิทธิภาพและกำหนดกฎที่ชัดเจนซึ่งเหมาะสมกับลูก อีกทั้งยังให้การสนับสนุนและการยอมรับและส่งเสริมการพูดคุยและการอภิปรายภายในครอบครัวเป็นอย่างมาก เด็กที่ถูกเลี้ยงดูแบบนี้มักจะปรับตัวได้ดี มีความมั่นใจ และมีความรับผิดชอบ
จากผลการศึกษาพบว่าลูกๆ ของพ่อแม่ที่อบรมเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ บวกกับความยืดหยุ่นและการตอบสนองทางอารมณ์ที่เหมาะสม มีคุณสมบัติที่ดีที่สุดในฐานะผู้นำธุรกิจครอบครัว เนื่องจากมีความผาสุกทางจิตใจจึงทำให้พวกเขาสามารถมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอยู่ที่ดีและการเติบโตในสายอาชีพของพนักงาน ซึ่งส่งผลให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ดีนอกเหนือหน้าที่งานและละเว้นจากพฤติกรรมที่ต่อต้านการทำงาน
(อ่านต่อฉบับหน้า)
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,870 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2566