หลุมพลางของพ่อแม่และลูกในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ

13 ต.ค. 2566 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2566 | 05:35 น.

หลุมพลางของพ่อแม่และลูกในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ : Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การเริ่มต้นสร้างธุรกิจอาจเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่าในชีวิตของใครหลายคน เพราะแทนที่จะต้องทำตามคำสั่งเจ้านายอยู่ร่ำไปก็จะได้เป็นคนทำหน้าที่ตัดสินใจเองบ้าง อย่างไรก็ตามในระหว่างการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจอยู่นั้น ทางที่ดีควรหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระงานด้วย เพราะหากต้องทำงานทั้งหมดด้วยตัวเอง อาจจะต้องเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมาก ซึ่งในช่วงเวลาเริ่มต้นธุรกิจนี้เป็นโอกาสที่สามารถมองหาพันธมิตรทางธุรกิจได้มากมาย แต่บุคคลนั้นจะสามารถไว้วางใจได้เท่าที่ต้องการหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้มากเช่นกัน

ในทางกลับกันพ่อแม่อาจลองร่วมมือกับลูกที่โตแล้วก็ได้ถ้านั่นเป็นสิ่งที่ลูกสนใจด้วย บางทีพ่อแม่และลูกอาจมีทักษะที่แตกต่างกันซึ่งสามารถนำมาเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี เช่น พ่อแม่อาจมีความสามารถพิเศษด้านการบัญชี ในขณะที่ลูกอาจเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมากกว่า ซึ่งอาจเป็นการผสมผสานชุดความสามารถที่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กที่มีลูกร่วมอยู่ด้วย อาจมีข้อได้เปรียบอยู่มาก แต่ก็มีหลุมพรางบางอย่างที่ต้องระวังให้มาก ดังต่อไปนี้

หากธุรกิจล้มเหลว พ่อแม่ลูกจะต้องยากลำบากทั้งหมด โดยทั่วไปแล้วในฐานะพ่อแม่มักจะต้องการสนับสนุนลูกของตนแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เช่น หากลูกออกไปทำงานที่บริษัทด้านการลงทุน ในขณะที่พ่อแม่เริ่มต้นทำธุรกิจด้านการตลาด หากลูกตกงาน แต่ธุรกิจของพ่อแม่ดำเนินไปได้ดี ก็จะสามารถช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้ลูกได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ในทางกลับกัน หากพ่อแม่และลูกทำธุรกิจร่วมกันแล้วล้มเหลวไปด้วยกัน พ่อแม่จะไม่สามารถให้การสนับสนุนทางการเงินได้ เนื่องจากพ่อแม่ก็จะขาดรายได้เช่นกัน และแม้ว่าเป็นการดีที่จะมองในแง่ดีเกี่ยวกับโอกาสของธุรกิจครอบครัว แต่ความจริงก็คือ 50% ของธุรกิจขนาดเล็กจะล้มเหลวหลังจากผ่านไป 5 ปี

หลุมพลางของพ่อแม่และลูกในการเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ

พ่อแม่อาจประสบปัญหาเรื่องการสืบทอดกิจการ โดยมากแล้วเจ้าของธุรกิจมักจะส่งต่อความเป็นเจ้าของบริษัทให้กับลูกของตนหลังจากที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ถ้าพ่อแม่มีลูกหลายคนและทำธุรกิจร่วมกับลูกคนใดคนหนึ่งเท่านั้น นั่นอาจกลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะหากมีลูกบางคนที่ทุ่มเททั้งเลือดเนื้อ หยาดเหงื่อ และน้ำตาให้กับธุรกิจนั้นมานานหลายทศวรรษ

จึงอาจรู้สึกตนว่ามีสิทธิ์ได้รับบริษัท 100% เมื่อพ่อแม่จากไป แต่นั่นอาจไม่ยุติธรรมกับทายาทคนอื่นเสมอไป ดังนั้นหากบริษัทนี้เป็นสินทรัพย์ทางการเงินหลักของพ่อแม่ จะเป็นสถานการณ์ยากลำบากที่จะต้องวางแผนในการสืบทอดกิจการให้ดี

ความขัดแย้งในเรื่องธุรกิจอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอาจไม่ได้เห็นพ้องกันในทุกสิ่งเสมอไป และนั่นก็เป็นเรื่องปกติ การมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในบางครั้งเป็นเรื่องดี เพราะทำให้สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้

แต่สำหรับในธุรกิจครอบครัวอาจเผชิญกับสถานการณ์ที่พ่อแม่และลูกเริ่มทะเลาะกันบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของบริษัท และหากความขัดแย้งเหล่านี้รุนแรงขึ้น ก็อาจนำไปสู่ความเกลียดชังที่ขยายออกมานอกที่ทำงานได้ แล้วครอบครัวยินดีจะเสี่ยงที่ความสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูกจะแย่ลงเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่องงานหรือไม่ ต้องชั่งน้ำหนักดูให้ดี

แม้การทำธุรกิจร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับลูกจะมีประโยชน์มาก แต่ต้องอย่าลืมคำนึงถึงหลุมพลางหล่านี้ให้มากด้วย รวมถึงหากเมื่อมีการตัดสินใจในเรื่องใดแล้ว จำเป็นต้องมีการแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นทราบ และรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาด้วย เนื่องจากการตัดสินใจในธุรกิจอาจมีผลกระทบต่อสมาชิกคนอื่นด้วยเช่นกัน

ที่มา: Maurie Backman.  Sept. 27, 2023.  3 Pitfalls of Starting a Small Business With Your Child.  Available:

https://www.fool.com/the-ascent/small-business/articles/3-pitfalls-of-starting-a-small-business-with-your-child/

ข้อมูลเพิ่มเติม:www.famz.co.th