เดิมทีนั้นธุรกิจครอบครัวมักมุ่งเน้นไปที่ลูกชายคนโตในฐานะผู้สืบทอดที่มีศักยภาพ ในการเข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว โดยคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำครอบครัว พร้อมกับความรับผิดชอบในการดูแลสมาชิกที่ “อ่อนแอกว่า” รวมถึงการรวบรวมรายได้ของครอบครัวและจัดสรรรายได้ให้เป็นที่ยอมรับ จัดการลงทุนและเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของครอบครัวทั้งหมด
นั่นหมายความว่าหน้าที่ของลูกชายคนโตถูกกำหนดไว้แล้ว และยังถูกคาดหวังให้เสียสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ของครอบครัวที่ถือว่ายิ่งใหญ่กว่า ซึ่งแนวทางนี้ทำให้มั่นใจได้ถึงโครงสร้างครอบครัวที่ยั่งยืน โดยจะมีรายได้ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถมากที่สุด
ขณะที่คนรายได้น้อยจะได้รับการดูแลจากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว ซึ่งระบบการทำงานเช่นนี้จะดำเนินต่อไปได้ตราบที่สมาชิกทุกคนตกลงที่จะทำงานภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยสังคมหรือผู้นำครอบครัว ขณะที่พี่น้องคนอื่นๆก็จะได้รับการคาดหวังให้ดำเนินการตามกฎเหล่านี้ตามความต้องการของผู้นำครอบครัวเช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบทบาทของลูกชายคนโตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงสร้างสังคมของโครงสร้างธุรกิจครอบครัวแบบดั้งเดิม
แต่ในช่วงไม่นานมานี้ความเชื่อเรื่องนี้เริ่มเสื่อมความนิยมลงเนื่องจากลูกชายคนโตจำนวนมากเลือกที่จะหลีกเลี่ยงบทบาทดังกล่าวและแสวงหาความเป็นอิสระให้กับตัวเอง และมีครอบครัวจำนวนมากที่มีแต่ลูกสาว ซึ่งลูกสาวก็มักไม่ได้รับการยอมรับในการขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจเนื่องจากยังคงเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่
ดังนั้นหน้าที่นี้จึงตกไปเป็นของลูกเขยแทน โดยลูกเขยถือเป็นตัวแทนความต้องการของครอบครัว และคาดหวังว่าจะรับหน้าที่แทนพ่อตา ซึ่งลูกเขยจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เป็นการแก้ปัญหาความต้องการของสังคมในการต้องมีทายาทชาย
โดยจะเห็นแนวโน้มรูปแบบนี้ได้ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นด้วย เช่น ในสหรัฐอเมริกามักมีกรณีที่สมาชิกในครอบครัวเจ้าของธุรกิจ ซึ่งเป็นลูกเขยมีความใกล้ชิดกับครอบครัวภรรยาเป็นอย่างมาก เมื่อเวลาผ่านไปบ่อยครั้งที่พ่อตาแสดงความนับถือความสามารถของลูกเขยมากกว่าลูกของตนเอง และพิจารณาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะให้ดูแลธุรกิจครอบครัวต่อไป แต่นี่ก็อาจเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในอนาคตได้เช่นกัน
ขณะที่ในญี่ปุ่นก็มีประเพณีที่คล้ายกันนี้ โดยที่พ่อแม่ในครอบครัวเจ้าของธุรกิจจะเลือกสามีให้กับลูกสาว โดยคาดหวังว่าลูกจะแต่งงานกับคนที่เลือกให้ และลูกเขยจะเป็นผู้ดูแลธุรกิจครอบครัวต่อไป ขณะเดียวกันครอบครัวก็จะรับลูกเขยเป็นบุตรบุญธรรมด้วยเพื่อที่จะได้ใช้นามสกุลของครอบครัว นอกจากนี้ยังมีบางครอบครัวเลือกที่จะรับเด็กชายเป็นบุตรบุญธรรม โดยอาจมาจากพี่ชายหรือญาติเพื่อสืบทอดมรดกของตน ซึ่งรูปแบบนี้ยังใช้ได้ผลกับครอบครัวเจ้าของธุรกิจจนถึงทุกวันนี้
สำหรับครอบครัวเจ้าของธุรกิจแม้ว่าลูกสาวจะได้พิสูจน์ความสามารถของตนแล้ว แต่ครอบครัวจำนวนมากยังคงมอบความรับผิดชอบในการนำพาครอบครัวขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้กับทายาทชาย และในกรณีที่ไม่มีลูกชาย ลูกเขยก็จะได้รับเลือกให้ทำหน้าที่นี้แทน อย่างไรก็ตามการให้ลูกเขยเข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัวถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนไม่น้อย ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากมีความกังวลเกี่ยวกับมรดกของตน เนื่องจากผลกำไรและมรดกที่ได้รับจากครอบครัวภรรยาอาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกเขยที่เข้ามาในครอบครัวจะรู้สึกชื่นชมและหวงแหนเต็มที่เสมอไป
นอกจากนี้ในครอบครัวที่ลูกเขยอาศัยอยู่ร่วมกับทายาทชายคนอื่นๆ ผู้นำครอบครัวอาจใช้สถานการณ์ดังกล่าวเพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่สร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของธุรกิจ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างคนรุ่นต่อไปในภายหลังด้วย อย่างไรก็ตามการจะนำธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้นำในการดำเนินงานที่ไว้วางใจได้ และมีสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถไว้วางใจให้บริหารกิจการและมั่นใจว่าจะไม่ทำลายธุรกิจ
ดังนั้นหากไม่มีผู้สืบทอดที่มีความสามารถทั้งชายหรือหญิง ก็ควรให้ลูกเขยที่มีความรู้ความสามารถทำหน้าที่นี้แทน ท้ายที่สุดแล้วธุรกิจครอบครัวควรดำเนินงานโดยบุคคลที่มีความสามารถมากที่สุด และไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับอาวุโสภายในครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยความสามารถอย่างแท้จริง
ที่มา: RAJIV AGARWAL, Mar 5, 2020. The role of sons-in law in family businesses. Available: https://www.fortuneindia.com/opinion/the-role-of-sons-in-law-in-family-businesses/104226