*** ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นเอาไว้ที่ 0.00-0.25% และระดับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเอาไว้ที่ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยให้เหตุผลว่า แม้ทุกอย่างดูดีขึ้น แต่เฟดก็จำเป็นใช้เวลาประเมินความคืบหน้าในการประชุมครั้งต่อๆ ไป
ขณะที่ค่าเงินบาท เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ มาระยหนึ่ง ก็ถูกดราม่าในโลกออนไลน์ มีการจุดประเด็นเรื่องนักลงทุนต่างชาติ กำลังทิ้งหุ้นไทย เพราะค่าเงินบาทอ่อน
แน่นอนว่า อาจจะสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนหน้าใหม่ได้บ้าง แต่หากเป็นนักลงทุนที่อยู่ในตลาดหุ้นมาพอสมควร ก็จะทราบว่า จริงๆ แล้วต่างชาติทิ้งหุ้นไทยมาหลายปี จากหลายสาเหตุ โดยค่าเงินบาท เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ค่าเงินอ่อนลงหรือแข็งขึ้น มีทั้งข้อดีและเสียขึ้นอยู่กับจับเอาประเด็นใด มาใช้ประโยชน์เท่านั้นเองค่ะ
*** ช่วงนี้หุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่ไม่ว่าจะเป็น KBANK SCB BBL KTB หรือ TTB คือกลุ่มหุ้นที่เจ๊เมาธ์มองว่า ถ้ายืนดูอยู่ข้างเวทีอาจดีกว่าลงไปลุยบนกระดาน สาเหตุที่บอกอย่างนั้นก็มาจากผลการดำเนินงาน 2/64 ที่ปรับลงอย่างมีนัยสำคัญ และแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ที่ยังถูกกดดันจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาลง
อย่างไรก็ตาม หุ้น BBL ก็ยังเป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำว่าน่าสนใจ เนื่องจากทำสำรองและเงินปันผลที่สม่ำเสมอ ว่ากันในระยะยาวๆ ต้องยอมรับว่า หุ้นกลุ่มธนาคารก็ยังเป็นตัวชี้วัดทิศทางของเศรษฐกิจ ประมาณว่า ถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว หุ้นธนาคารจะเป็นหุ้นกลุ่มแรกๆ ที่มีสัญญาณการขึ้นของราคา เพียงแต่ถ้าสนใจอาจจะต้องใช้วิธีในการถือยาว หรือการเอาชนะราคาหุ้นด้วยระยะเวลาที่มากขึ้นอีกหน่อยเท่านั้นเอง
*** ราคาหุ้นของ SMK ปรับตัวลงไปกว่า 20% ขณะที่ปริมาณการซื้อขายต่อวันของหุ้นตัวนี้ก็กลับไปอยู่ที่วันละไม่กี่บาทหลังจากที่ SMK หรือ “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย” ได้ยกเลิกประกาศแจ้งการยกเลิก “จดหมายบอกเลิกกรมธรรม์” การประกันโควิด-19 ซึ่งเป็นการเปลือยตัวตนในเรื่องจริยธรรมกาซื้อขายของ “บมจ.สินมั่นคงประกันภัย” ให้โลกได้รู้ว่าผู้บริหารของบริษัทมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างไร
หลายคน ฟันธง ราคาหุ้น SMK ร่วงลงรอบนี้ เป็นเรื่องของความเชื่อมั่นทั้งในตัวบริษัทและผู้บริหาร ที่เสื่อมลงในสายตาของนักลงทุนล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับผลการดำเนินงานใด ๆ หากนักลงทุนหวังผลเรื่องราคาไม่ได้อย่างที่คิด เอาเป็นว่า ตอนนี้เจ๊เมาธ์ มองไม่เห็นอนาคตของ SMK เลยเจ้าค่ะ
*** เบื้องหลังเกมหุ้น XPG ถ้ามองลงไปลึกๆ แล้ว จะเห็นว่า เป็นการรวมกลุ่มของเพื่อนพ้อง “เสี่ย บ.” อดีตเงาของ แนเชอร์รัล พาร์ค (N-PARK) เก่า พ่อมดตัวจริง ผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมด หลายคนในแก๊งนี้ พัวพันอยู่กับกลุ่มเอก (เอกธนกิจ, เอกธนา) หรือ กลุ่มฟินวัน และถ้าลงลึกไปถึงกรรมการ XPG หรือ พันธมิตร XPG ล้วน แล้วแต่เป็น ก๊วนเพื่อนเสี่ย “บ.” ทั้งนั้น เชิงยุทธ์ของเสี่ย “บ.” นี่ ไม่เป็น 2 รองใคร บู๊แหลกราญ ดูจากหุ้น N-PARK ที่พังยับพินาศกับมือ
การรีเทิร์น ขอ งเสี่ย “บ.” กับหุ้น XPG กลับมาพิสูจน์ ฝีมืออีกครั้ง และหลังจากบริษัทแจ้งการปรับสิทธิ์ XPG-W4 จากเดิมอัตราใช้สิทธิที่ 1หน่วย ต่อ 2.48 หุ้น ที่ราคาใช้สิทธิ 2.177 บาท มาเป็น 1 หน่วย ต่อ 6.621 หุ้น ราคาสิทธิที่ 0.815 บาท ซึ่งดู ๆ ไป เป็นการให้ประโยชน์กับผู้ถือหุ้น แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนอัตราใช้สิทธิ์วอแรนท์ครั้งนี้ เป็นเพียงหนึ่งในเกมการเงินที่กำลังถูกงัดมาใช้เท่านั้น
จริง ๆ แล้ว เจ๊เมาธ์อยากจะบอกว่า XPG เดินเกมดันราคาหุ้นมานานมากกว่าที่เห็น เริ่มต้นการแจกเงินครั้งแรกโดย “ระเฑียร ศรีมงคล” ซื้อหุ้นจาก “สุเทพ วงศ์วรเศรษฐ” จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.047% ของทุนจดทะเบียน ราคาหุ้นละ 1.60 บาท ก่อนที่จะก้าวขึ้นมานั่งบริหาร XPG ด้วยตัวเอง ก่อนที่ราคาหุ้นของ XPG จะวิ่งขึ้นไปถล่มทลายจนแตะ 11 บาท/หุ้น แล้วค่อยๆย่อลง ต่อมา XPG ก็มีสตอรี่แจก ด้วยการเพิ่มทุนในอัตรา 2 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่ โดยมีกลุ่มแสนสิริ ขยับขึ้นมาถือหุ้น 14.08% และ วิริยะประกันภัย ถือหุ้น 9.38% ที่ราคา เฉลี่ย 4.10 บาทต่อหุ้น ก่อนที่ราคาหุ้นของ XPG จะถูกดันขึ้นไปแตะ 5 บาทต่อหุ้น
สำหรับหุ้นที่ติดแคชบาลานซ์ระดับ 3 (T3) การดันราคาขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้แบบนี้ บอกเลยว่าไม่ธรรมดา เอาเป็นว่า เรื่องผลการดำเนินงาน หรือ การทำธุรกิจของ XPG ดูเหมือนจะเป็นเรื่องรองลงไป อย่าหาว่าเจ๊เมาธ์ ไม่เตือนนะคะ แรงๆ แบบนี้ ระวังดอยก็แล้วกันเจ้าค่ะ