นานเปนสิบๆปีแล้ว เห็นป๋าเปรม (รัฐบุรุษ) ท่านชอบกินเต้าคั่ว
ถามว่ามันคืออะไร?
ก็มีคนเขาตอบให้ ว่ามันคือสลัดทะเลสาบ
ช่างเรื่อยเปื่อยลากไปโน่น ไม่ได้มีความตรงประเด็น!!
บนเส้นทางสายเหมืองแร่ ถ้าแวะไปทางเลียบอันดามัน ระนอง_พังงา_ตะกั่วป่า_ภูเก็ตหาเต้าคั่วกินมันจะไม่ค่อยมี ต้องใช้เส้นทางสายหนีภาษี เลาะอ่าวไทยไปชุมพร โผล่หาดใหญ่
ที่ตรงเวิ้งทะเลสาบสงขลานั้น เขาว่าเปนบ้านเกิดรัฐบุรุษ ซึ่ง ณ ที่แห่งนี้บุคคลมีลักษณะสำคัญต่อกิจการบ้านเมืองมีอยู่หลายคนมาก โบราณไปจะไม่พูดถึงว่าเจ้าเมืองเปนโจรสลัดจีนก็มี เปนแขกเคราชาวเปอร์เซียก็มี ย่นเวลามาว่า คราวแผ่นดินสิ้นร่มโพธิ์ทอง ขุนนางสองพี่น้อง มี เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ กับ พระยามานวราชเสวี เปนผู้ดั้นด้นไปสวิส_กราบบังคมทูลขอร้องอัญเชิญ พระองค์เจ้าสองพี่น้องรับภาระการทรงราชย์ สองท่านนี้ก็สกุล ณ สงขลา
หาดใหญ่มีทำแน่ๆเต้าคั่ว แต่ในเมืองสงขลามีอยู่เจ้าหนึ่งชื่อ ‘ป้าจวบ’ แกทำเหมือนกัน รสชาติก็ต้องว่าดีเพราะไม่มีคู่แข่งเครื่องดื่มป้ามีน้ำใบเตยเข้มข้นให้เอาละลายน้ำเปล่ารับประทานชื่นใจ
ล่าสุดลงไปปัตตานีย้อนกลับขึ้นมาสงขลา แวะจะกินเข้าก็เวรกรรม_ไม่เปิด!
สิบปีแล้ว ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ท่าน มาเปน ผอ. ฝ่ายอุตสาหกรรม ที่ สกว. พากันลงไปบ้านนักวิจัยคู่สามีภริยาที่พัทลุง คุณแม่พวกท่านน่ะ ทำเต้าคั่วไว้รอรับ ไม่ใช่สลัดทะเลสาบอะไรหรอก เต้าคั่วมันก็คือเต้าคั่ว
ท่านประจงหั่นหูและหัวหมูต้มเข้าเครื่องพะโล้เปนบางๆ ตั้งผักบุ้งลวก แตงกวาสด หมี่ขาวลวก และหมี่ขาวกรอบ กุ้งฝอยทอดชุบแป้งขาดไม่ได้เลยคือ เต้าหู้ทอด น้ำราดท่านใช้น้ำส้มหมักลูกโตนดตำพริกกระเทียมใส่น้ำหวานตาลเชื่อมเติมเผ็ดพริกแดงตำน้ำส้มได้เอง มีไข่เป็ดต้มยางมะตูมฝานครึ่งมา กินกันโดยล้อมวงตักเติมของชอบของเกลี่ยกันตามใจ
เอร็ดอร่อยหนักหนา
ที่ชวา/จาร์กาต้าก็มี ของเขาเรียกกีโตปรักเอาพริกนกขยี้กับน้ำตาลมะพร้าวและลูกมะกรูด ตั้งต้นน้ำพริกก่อน ค่อยใส่ถั่วดิน(ยี่สง) บดทั้งน้ำมันแต่งรสหวานด้วยซอสคีกัปมานีสที่เคยเล่าไว้ ใส่เครื่องทั้งหลายเหมือนเราเว้นหูหมู เปลี่ยนเปนข้าวเกรียบแทน ใส่ถั่วงอกลวกแทน
ที่ไชยาก็มีคล้ายกัน แต่เขาไม่เรียกเต้าคั่ว เรียกผักบุ้งไต่ราว น้ำราดออกจะแดงกว่าจะสีเปนน้ำเต้าหู้ยี้เย็นตาโฟเข้าไปทุกที ชั่วแต่ว่าไม่มีมันแห่งรสเต้าหู้ยี้อยู่
คนภาคกลางไปร้านแถบไชยานี้ถึงสับสน เรียกเย็นตาโฟว่าผักบุ้งไต่ราวโดยเข้าใจว่ามันคือเย็นตาโฟแห้ง 55
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,789 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2565