รัฐอิสระ สงครามเย็น “เพื่อไทย-ธปท.”

07 พ.ค. 2567 | 10:18 น.

รัฐอิสระ สงครามเย็น “เพื่อไทย-ธปท.” : รายงานพิเศษ โดย...บากบั่น บุญเลิศ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

เวทีอีเวนต์การเมืองของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 3 พ.ค. 2567 ปรอทแตก เมื่อ คุณอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาอัดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แบบโจ๋งครึ่ม ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ในหัวข้อ “เติมเพื่อไทยให้เต็ม 10 สนับสนุนรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ” ถึงความเป็นอิสระของ ธปท. ว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

เธอยังกล่าวว่า นโยบายการเงินของ ธปท. นั้น “ไม่ยอมเข้าใจและให้ความร่วมมือ” และ เป็นการขัดขวางความพยายามในการลดเพดานหนี้ของประเทศที่อยู่ในระดับสูง 

“ตอนนี้กฎหมายพยายามที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมากๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด และทำให้ประเทศของเรามีหนี้ที่สูงมากขึ้น และสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ยอมที่จะเข้าใจ และไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย” แพทองธาร กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในวันดังกล่าว

คล้อยหลังจากนั้น บรรดาแม่ทัพนายกองของพรรคเพื่อไทย ต่างยาตราทัพออกมาขย่มผู้ว่าฯ ธปท. ยังกะการยิงสลุต จากบรรดานักการเมือง “Nobody and Somebody”

“สงครามเย็น” ระหว่างคนในรัฐบาลเพื่อไทย กับ “เศรษฐพุฒิ” ผู้ว่าการฯ ธปท.ได้ปะทุขึ้นเร็วและหนักหน่วง 

ประเด็นที่ต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อน คือ “ธปท.” เป็น “องค์กรอิสระ” จากรัฐบาล” เช่น ป.ป.ช.-กกต.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-กสทช. ที่กฎหมายให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจะสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้ หรือเป็นเพียง “หน่วยงานอิสระ” เช่น ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ-คปภ.ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลกันแน่!

คำตอบที่เด่นชัดที่สุด คือ ธปท. เป็น “หน่วยงานอิสระ” ที่อยู่ภายใต้รัฐบาล ยึดโยงการทำงานกับรัฐบาลแน่นอน

เพียงแต่ “พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย” ที่ได้มีการปรับปรุงไปครั้งใหญ่สุด เมื่อปี 2551 ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทำการแก้ไขยกร่าง พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ขึ้นมาใหม่เกือบทั้งฉบับ

กฎหมายใหม่ทำให้ ธปท. มีความเป็นอิสระมากยิ่งขึ้นจากฝ่ายการเมือง เพราะให้อำนาจ รมว.คลัง ที่มีหน้าที่กำกับตามกฎหมายในอดีต เหลือเพียงแค่ “การกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ ธปท.” 
แต่ รมว.คลังไม่ใช่ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ธปท.และไม่ใช่ป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ว่าการฯ ธปท.เหมือนก่อนหน้านั้นอีกต่อไป
การปลดผู้ว่าฯ ธปท. จึงไม่ง่ายเหมือนในอดีต 

เดิมการปลดผู้ว่าการฯ ธปท. หรือ การให้พ้นจากตำแหน่ง ผู้ว่าฯธปท. ให้เป็นไปตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ธปท. 2485 คือ “พระมหากษัตริย์ทรงถอดถอน ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี”

แต่กฎหมาย ธปท.ฉบับปัจจุบัน การปลดผู้ว่าฯ ธปท.ทำได้ยากมาก เพราะใน พ.ร.บ.ธปท.มาตรา 28/19 ระบุว่า การให้ผู้ว่าการฯ ธปท.พ้นจากตำแหน่ง หรือ "ปลดออก" นั้น จะทำได้ 2 กรณี 

 (4) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือ ทุจริตต่อหน้าที่

(5) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคําแนะนําของรัฐมนตรี หรือการเสนอของรัฐมนตรี โดยคําแนะนําของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือ หย่อนความสามารถ โดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง…
 

เป็นการสกัดกั้นอำนาจทางการเมือง ที่เป็น “ผู้ใช้เงิน” ลงไปล้วง กระบวนการทำงานของ ธปท.ที่เป็นเสมือน “ผู้ดูแลเงิน” ของประเทศและประชาชนเท่านั้น

นอกจากนั้น พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขปี 2551 ซึ่งผมได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็น แนวคิด บทบาทการทำหน้าที่ การวิพากษ์ วิจารณ์ ไปด้วยในห้วงเวลานั้น ได้พยายามออกแบบการกำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตการทำงาน โครงสร้างองค์กร และการตรวจสอบที่ค่อนข้างจะรัดกุมพอสมควร

แต่หากใครพิจารณาในบทบัญญัติตามกฎหมายจะพบว่า “ธปท.ยึดโยงกับรัฐบาล” แน่นอน

แต่ได้คุ้มครอง “ความเป็นอิสระ-ความโปร่งใส-ความรับผิดชอบ” ของผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ 

ผู้บริหาร “ธปท.” ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกดดันจากทางการเมือง ผู้มีอำนาจให้ทำอะไรนอกเหนือพันธกิจ จึงกำหนดให้ ผู้ว่าการฯ ธปท.มีอิสระที่ชัดเจน

กล่าวคือ ในมาตรา 28/16 กำหนดว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ผู้ว่าการมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการกิจการของ ธปท.”

ความมีอิสระในการทำงานตามบทบัญญัติทางกฎหมายของ ผู้ว่าการ ธปท.มี 3 เรื่อง

@ ให้อำนาจการทำงานและบริหารองค์กร ที่แยกออกจากรัฐบาล

@ ให้อำนาจการดำเนินงาน โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ในการดูแลเสถียรภาพการเงิน-สถาบันการเงิน-ระบบการชำระเงิน โดยไม่ขึ้นต่อ รมว. คลัง

@ กำหนดให้ผู้ว่าการ ธปท.และกรรมการ มีวาระชัดเจน หากใครจะถอดถอน ต้องระบุสาเหตุชัดเจน

แต่ “ความรับผิดชอบ” ของ ผู้ว่าฯ ธปท. ยังต้องมีต่อการทำงานตามวัตถุประสงค์ ไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะแยกตัวออกไปโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม

1.ต้องรายงานการดำเนินกิจการและบัญชีการเงิน ให้ รมว.คลัง รับรู้ รับทราบ และต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้สาธารณะชนทราบ

2.ต้องรายงานสภาพเศรษฐกิจนโยบายการเงิน นโยบายระบบการชำระเงิน แนวทางการดำเนินงานและประเมินผลต่อ รมว.คลัง และ ครม.ในทุก 6 เดือน และทุก 1 ปี

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการคะคานอำนาจกันชัดเจน เห็นได้จาก

1.การกำหนดเป้าหมายและดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ ของ ธปท. ได้ถูกถ่วงดุลอำนาจผ่านความเห็นชอบจากฝ่ายการเมืองรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกด้วยที่มาจากคณะกรรมการ ธปท. ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกถึง 8 คน จากทั้งหมด 12 คน โดยมีคนในของ ธปท.แค่ 4 คน

2.การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก รมว. คลัง และต้อทำข้อตกลงร่วมกัน

ข้อตกลงนี่แหละ เป็น“ตัววัดฝีมือ” ผู้ว่าการ ธปท.

เนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา 28/8 แห่ง พรบ.ธปท.ที่แก้ไขเพิ่มเติมปี 2551 กำหนดไว้ดังนี้ 

1.แต่ละปีจะมีการกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคา 

2. รมว.คลัง+ ผู้ว่า ธปท. ในฐานะประธาน กนง. ต้องลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี  
ตามปกตินับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ข้อตกลงร่วมกัน ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี นั้น มี 5 ข้อ**

ข้อ 2.3 จะมีข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน
รมว.คลังและ ธปท.จะหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือ เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

-กนง.จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี

2.4 มีข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึง รมว.คลัง หากอัเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมาย

2.5 มีข้อตกลงการแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน หากมีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น

เห็นมั้ยละว่า มีการยืดโยงกับรัฐบาล ไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระ

ถ้าการเมือง รัฐบาล เห็นว่า ผู้ว่าการ ธปท.ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็สามารถจัดการได้ จัดการอย่างไร คอยติดตาม จะชี้เป้าให้ตรงจุด!