กูรูผู้รอบรู้ในความเป็นไปของครอบครัวท่านบันทึกไว้ว่า “ครอบครัวเป็นรากฐานของสันติภาพ!” ในสนามอันกว้างใหญ่เป็นอาณาเขต “เส้นรุ้ง” สำหรับมหกรรม “สวนสนาม” ต่างกับพื้นที่ในโลกโซเชียลเป็นแว่นแคว้น “เส้นแว้ง!” สำหรับ “มหกวน” เพื่อ “สวนสนอง!” เพราะว่า โลกโซเชี่ยล เหมาะเหม็งที่จะใช้เป็น “ศูนย์กร่าง!” ในการสื่อด้วยลีลา “แว้ง!” และ “กวน!” คล้ายกับสำนวนที่ผมพิมพ์ไว้นี่แหละ (ฮา)
มีคนเข้ามาร่วมวงให้ความเห็นเป็น หลัก และ รั้ว ฝากเอาไว้ว่า “ครอบครัวใดที่มีท่าที ตกลง ปรองดอง สงบ เงียบ เป็นนิมิตอันดีว่า ครอบครัวนั้นจะอบอวลไปด้วยสันติภาพ” อีกคนหนึ่งก็มุดเข้ามา “ขวาก!” เพิ่มเอาไว้ไฉไลซะไม่มีว่า “ถ้าหาก ความเงียบ คือ สันติภาพ ผู้นำ ความเงียบ ในทุกครอบครัวจะเป็นผู้ใดใครอื่นไปไม่ได้ นอกจาก ภรรยา เนื่องจากเธอมักจะประกาศสันติภาพกับสามีอยู่เสมอว่า หุบปาก!” (ฮา)
ในมุมมองของผม “หัวใจ ของ สันติภาพ” คือ “ทัศนคติ!” คติ เป็น ที่มาของเรื่องราว ทัศนะ เป็น ความเห็นที่หยิบเอาเรื่องจากราวที่มีผู้นำมาแขวนไว้เพื่อหาข้อสรุป ทุกกรณีจะมี สติ ช่วย X-RAY ทัศนคติ
“สติ” คือ “อ.ย. ของ ทัศนคติ!” ด้วยเหตุผลอันควรว่า อ.ย. ของ ทัศนคติ คือ “อนุมานอย่างแยบยล!” ขนาดผมอุตส่าห์พยายามจะอนุมานอย่างแยบยลให้ตรงจุด แจ็คพอตก็ยังไม่วายเจอควันหลงโดนแฟนคลับแซวสำนวน ในมุมมองของผม ซะหนึ่งดอกว่า “มองให้มันแม่นทั้งทีทำไมจะต้องไปซุ่มอยู่ในมุม!” (ฮา)
ครอบครัวสมัยไหน ไม่ว่าจะเป็น 6.0 หรือ 7.0 ในใต้เวทีมองของผม (ฮา) ผมขอปักหมุดจุดปังชั่งใจให้ความสำคัญกับ สันติภาพชีวิตคู่ เหตุผลที่เงยหน้ามองเลือกเอา “สันติภาพชีวิตคู่!” มาคุย เพราะว่า เจ้าสาวไม่คิดจะอุ้มภาระ เจ้าบ่าวไม่ฝันจะแบกภาระ
ถ้าใครไม่ตกข่าวครอบครัวในรอบสิบปีก็คงจะนึกออกทันทีตรงที่ “ภาระ!” ออกอาการไม่แคร์ พ่อ + แม่ ครั้นเมื่อ อดีตทารก เริ่มมีแววไม่ อุแว้ อุแว้ เติบโตขึ้นมาร้อง อุวะ อุวะ ใครล่ะจะสนใจยื้อแย่งแข่งกันคลอด (ฮา)
ครูให้ นักเรียน ม.1 เขียน “เรียงความสามบรรทัด!” ตั้งชื่อหัวข้อ “แพ้อะไรก็ไม่แย่เท่าแพ้ใจ!” วางแนวไว้สามประเด็น ประเด็นแรก “ศาสนา” ประเด็นที่สอง “เพศศึกษา” ประเด็นที่สาม “ปริศนา” ปรากฏว่า นักเรียนหญิงวัยเยาว์เจ้าปัญญา เธอคิดได้เขียนเด่นเล่นเอาครูนั่งตาปริบๆ
○ ประเด็นที่ 1 “ศาสนา” เขียนว่า “โอ้พระเจ้า”
○ ประเด็นที่ 2 “เพศศึกษา” เขียนว่า “ฉันท้อง”
○ ประเด็นที่ 3 “ปริศนา” เขียนว่า “ใครเป็นพ่อเด็กล่ะเนี่ย”
พ่อแม่ไหนบ้างที่อ่านผลงานของลูกแล้วจะไม่ดีใจ แต่ก็แฝงความกังวลเอาไว้ว่า ลูก คือ คนในเรียงความ!
แง่มุมที่ว่า “ทัศนคติไม่ตรงกันสันติภาพก็มีแววจะสิ้นใจ!” ไม่ใช่กระแสใหม่ถอดด้าม ถ้อยคำที่เอ่ยมาอ้างอิงว่า สามี กับ ภรรยา กัดฟันเซ็นหย่าก็อาศัยนัย “ทัศนคติไม่ตรงกัน” มาใช้เป็นคาถาเชิดฉิ่ง แต่ก่อนผมก็เห็นใจแต่ฝ่ายหญิง ทำไปทำมามันก็จริงอยู่ไม่น้อย
ภรรยา ซื้อ ขนมบ๊ะจ่าง เอามาจัดวางไว้ในถาดเพื่อเลี้ยงแขกและทานกันเอง แขกมากันหลายคนเกินคาด ขนมบ๊ะจ่าง ในถาด จึงมีอยู่เพียง 4 ลูก สามี กลับดึก เดินเข้ามาเปิดฝาครอบถาดก็เจอ ขนมบ๊ะจ่าง มีอยู่เพียงลูกเดียว เขาจึงไม่กิน
ด้วยความรู้สึกติดอยู่ในความทรงจำมานานว่า “มันเป็นของเหลือ” คะยั้นคะยอกันสักกี่ครั้ง สามี ก็ไม่เปลี่ยนใจ ง้อไปไม่ง้อมาก็เริ่มเป็นปัญหาจิ๊บๆ ค่านิยมดิบๆ กลายเป็นพยาธิกัดกร่อนทัศนคติจึงโต้แย้งกันจนมันบานปลาย ลืมคำที่ผู้เฒ่าชี้แนะว่า “อย่าทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่!”
ผมกำลังร่างหลักสูตร “กุศโลบายในการล้างสมอง” กรณีนี้ถ้ามีวาสนาได้คุยกัน ผมจะบอกกับ สามี ว่า “สมมุติกันให้เห็นภาพว่า ถ้าเราแปะตัวเลขไว้กับ ขนมบ๊ะจ่าง เรียงลำดับตั้งแต่ลูกแรกไปจนถึงลูกสุดท้าย ใครคิดมากว่าลูกสุดท้ายมันเหลือเดน คราวหน้าเอาลูกที่เหลือเดนไปแปะเป็น ลูกที่หนึ่ง เอาลูกที่หนึ่งไปแปะเป็นลูกเหลือเดนท้ายสุด ถามจริงว่าคราวนี้จะเลือกกินบ๊ะจ่างลูกไหน” (ฮา)
“สมมุติอีกทีว่า สามี ไปซื้อ บ๊ะจ่าง มาเองดีกว่า จะได้กินให้มันสะใจไม่ฝืดคอ แน่ใจไหมว่า บ๊ะจ่าง ที่ซื้อมาล่าสุด เป็น บ๊ะจ่างซิงๆ แม่ค้าเขาบอกว่า ถ้าคุณมาช้านี่อดเลยนะ เข้าใจใช่ไหมว่า บ๊ะจ่างล็อตนั้น มันคือ ล็อตสุดท้าย เราจะเลิกกินไหมเพราะมันกลายเป็น บ๊ะจ่าง เหลือเดน?” (ฮา)
ซดกันให้สุดหมัดกันเลยว่า “แฟนที่คุณเลือกมาเป็นภรรยา เธอเป็นสาวโสดคนสุดท้ายในละแวกนั้น แล้วเราจะเรียกเธอว่า ภรรยาเป็นแฟนเหลือเดนหรือเปล่า คิดให้มันใช่ ทำใจให้มันสะอาด มูลเหตุที่คุณได้เธอมาเป็นภรรยาก็เพราะคนอื่นเขาไม่เอา เหตุผลที่เขาไม่เอาไม่ใช่ว่าเธอไม่ดี ที่เขาไม่เอาเพราะไม่ใช่สเปคที่ชอบ ในเมื่อเธอเป็น คนดีมีน้ำใจ เป็นผู้มีการศึกษา มีปัญญาแตกฉาน ทำงานมีประสิทธิผล จะเอารึยังล่ะ!” (ฮา)
ใครที่ยังเป็นโสด ควรจะชวนแฟนไปกินข้าวที่บ้าน ให้แม่สอบสัมภาษณ์เนียนๆ จะได้รู้ว่า ทัศนคติ เขามีคุณภาพแค่ไหน สมมุติว่ากินไปคุยไปเกี่ยวกับการ “เผือก” ถ้าเขาพูดโพล่งขึ้นมาว่า คนที่มีนิสัย “เผือก” ถือว่าเขาเป็น “ผู้มีจิตอาสา” เพราะว่า “ทำให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน” (ฮา) เช็คให้ชัดนะว่า เขาพูดเอาฮาแบบขำกลิ้งลิงกับหมา หรือว่า ครอบครัวสอนมาอย่างนั้น?