ยังคงมีเบาเแสอีกประการ ของกลุ่มอักษรย่อ ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ปรากฏอยู่ที่ดวงตราสำคัญของเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญตระกูลหนึ่งซึ่งมีลำดับเกียรติยศสูงยิ่ง ถึงขั้นที่นามเรียกขานต้องใช้ให้ถูกต้องว่า เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์
เปนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ( ม.จ.ก. ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระประมุขของไทยเรา สร้างขึ้นมาแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในมงคลวรโอกาสสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี ศิลปินผู้ออกแบบดวงตราสำคัญนี้ได้แก่ หม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย ผู้สืบวิชาช่างมาจากพระบิดากรมขุนราชสีหวิกรม ในสำรับหนึ่ง จะประกอบด้วย ตรามหาจักรี, ตราจุลจักรี, ดาราจักรี และ สายสร้อยและแพรแถบ
ข้างดวงตรามหาจักรีนั้น ท่านออกแบบด้านหน้าเปนรูปจักร 8 กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงินระหว่างกลีบจักร กลางวงจักรเปนรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชร พื้นลงยาสีฟ้า ขอบลงยาสีแดง มีอักษรทองเปนคาถาภาษิตเขียนอักษรไทยว่า
“ติรตเน สกรฏฺเฐ จ สมฺพํเส จ มมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐภิวฑฺฒนํ” แปลว่า ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเปนเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง
รอบขอบเปนมาลัยชัยพฤกษ์ ใบลงยาสีเขียว ดอกลงยาสีชมพูใต้พวงมาลัยเปนแพรแถมลงยาสีชมพู มีอักษร ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ย่อมาจาก เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ สวยงามลงตัวยิ่งนัก
เบื้องบนมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ บ.ร.ร. ๔ ไขว้กัน โดยย่อมาจากคำว่า บรมราชาธิราช_รามาธิบดีที่ ๔ อันหมายถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
มาถึงบรรทัดนี้ก็ต้องขออนุญาตประทานกราบเรียนว่า พระนาม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงออกพระนามถวายภายหลังเสด็จสวรรคตแล้ว ตามชื่อของพระพุทธรูปสำคัญที่ทรงจัดสร้างขึ้นทรงพระราชอุทิศถวายพระราชกุศล
ในขณะที่ครั้งสมัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ยังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ เมื่อทรงปราบดาภิเษกขึ้นเปนปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้วพระองค์ทรงมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
“พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ”
แต่เนื่องจากพระปรมาภิไธยที่จารึกลงในพระสุพรรณบัฏนี้เปนพระปรมาภิไธยเดียวกับพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาถึง ๓ พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง), สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พระเชษฐาธิราชเจ้า) และสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ดังนั้น พระองค์จึงทรงมีพระราชสถานะเปน “สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๔”
ศิลปินผูกออกแบบผูกตราจึงเชิญ อักษรย่อ บ.ร.ร.๔ แห่งพระองค์ท่านขึ้นฉลองพระมหามงกุฎทองรัศมีเงิน ด้านหลังเปนรูปครุฑ (ตราประจำพระองค์รัชกาลที่ ๒ - พระนามเดิมว่าฉิม ครุฑอยู่วิมานฉิมพลี), รูปปราสาท (ตราประจำพระองค์รัชกาลที่ ๓ - พระนามเดิมว่า ทับ ทับคือที่อยู่คือปราสาท), รูปมหามงกุฏ (ตรารัชกาลที่ ๔ King Mongkut) และ รูปจุลมงกุฏ (ตรารัชกาลที่ ๕ จุลจอมเกล้า) ทำด้วยทอง พื้นลงยาสีเขียว ขอบรอบลงยาสีแดง และมีอักษรทองว่า ปีมะเมีย จัตวาศก ศักราช ๑๒๔๔ และ ปฐมรัชกาลเปนปีที่ครบร้อย
ส่วนสายสร้อยเปนรูปอุณาโลมลงยา กลางอุณาโลมประดับเพชร สลับกันไปกับจักรีแฝดลงยา มีสร้อยทองยึดตลอด ยาว ๕๕ เซนติเมตรไว้สำหรับห้อยตรามหาจักรี
ในขณะที่ดาราจักรี เปนรูปจักร ๑๐ กลีบ ลงยาสีขาว มีรูปตรีศูลเงินและรัศมีเปลวสีเงินสลับกันไปรอบกลีบจักร กลางดาราเปนรูปปทุมอุณาโลมประดับเพชรขอบลงยา และมีคาถาภาษิต ติรตเน สกรฏฺเฐ จ สมฺพํเส จ มมายนํ สกราโชชุจิตฺตญฺจ สกรฏฺฐภิวฑฺฒนํ เช่นกัน
ตามที่ได้กราบเรียนไว้ว่า ชุดบทความนี้เพื่อเทิดพระเกียรติโดยพาท่านย้อนไปในวันเวลาแห่งอดีต ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร์มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
หลายครั้งที่พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงเครื่องแบบทหาร แต่ทรงเครื่องแบบฉลองพระองค์ที่คนสามัญ อาจแลดูว่าคล้ายกับเครื่องแบบพลเรือน เครื่องแบบนี้มีอินทรธนูบุผ้ารองขลิบเขียว ไม่มีเครื่องหมายที่คอปก กระดุมทองห้าเม็ดเปนกระดุมเกลี้ยงไม่ดุนลายครุฑ ปากกระเป๋าเปนปีกค้างคาวใบโพธิ์ ไม่เปนปากกระเป๋าแหลม สอบอย่างเครื่องแบบทหาร
จากพระบรมสาทิสลักษณ์รูปเมื่อทรงพระเยาว์ที่สุด จะเห็นเครื่องหมาย จักรี-จักรและตรีบนบ่าอินทรธนูเข้าดิ้นทองคำ ด้านในบุกำมะหยี่เขียว กระดุมทองเปนกระดุมเกลี้ยงไม่ดุนตรา เช่นนี้ย่อมเปนเครื่องแบบสำหรับท่านผู้ที่ถือตรามหาจักรีบรมราชวงศ์
จากภาพขยายจะเห็นสายสะพายมหาจักรีสีเหลืองเกลี้ยง พาดจากพระอังสะช้ายพร้อมด้วยสายสร้อยมหาจักรี เปนรูปจักรและตรีไขว้ที่พระอุระประดับตรารัตนาภรณ์ในรัชกาลที่ 8 ชั้นที่ 1 ล้อมเพชรเพียงดวงเดียว
เหตุที่อินทรธนูสำรับนี้บุกำมะหยี่เขียว อาจเนื่องจาก สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ต้นปฐมพระบรมราชวงศ์พระองค์ท่านประสูติในวันพุธวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรัชกาลที่ 7 เสด็จเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็ทรงฉลองพระองค์เขียวทั้งชุด ถวายพระเกียรติยศแด่สมเด็จพระบูรพกษัตริย์เจ้าพระองค์นั้น
อนึ่งว่าอย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวแก่เครื่องแบบซึ่งฉลองพระองค์
- ทรงเปนจอมทัพไทย และ ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารทั้งสามเหล่าทัพ แต่ยังไม่พบว่ามีผู้ใดได้บันทึกว่าทรงฉลองพระองค์ตำรวจ
- เครื่องแบบทหารบกที่ทรงแบบเต็มยศนายทหารพิเศษรักษาพระองค์นั้น แม้จะมีหน่วยทหารรักษาพระองค์หลายหน่วย มีสีเครื่องแบบต่างกันไป ทั้งกำมะหยี่แดง/ เขียว/เหลือง/ ฟ้า แต่ทรงเฉพาะเครื่องแบบแดงคาดแขนดำของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร1.รอ.) เท่านั้นเนื่องจากเปนหน่วยรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช
ส่วนเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์นี้ ได้มีพระมหากรุณาพระราชทานแต่ประมุขต่างประเทศ เช่น ประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล แห่งฝรั่งเศส และพระราชทานถวายแด่พระเจ้าชาห์ แห่งอิหร่านด้วย
ขอขอบคุณภาพสวย ฝีมือวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ของท่านอาจารย์จักรพันธ์ โปษยะกฤต ท่านอาจารย์สุวัฒน์ วรรณมณี Thomas Ghysdael ฯลฯ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,925 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2566