ภิกษุสกุลโพธิ 2 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบทณ แดนพุทธภูมิ

02 ธ.ค. 2566 | 06:21 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2566 | 06:29 น.

ภิกษุสกุลโพธิ 2 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบทณ แดนพุทธภูมิ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 1)
 
กล่าวคือ ศีลของพระมี 227 ข้อ แลดูมากมายนัก แต่แท้จริงแล้วข้อห้ามเหล่านี้มีกำกับพระไว้ในทุกอิริยาบถ กิน เดิน ยืน นั่ง นอน ถ่ายทุกข์ จึงเหมือนว่าจะมาก พระจะทำอะไรทุกครั้งต้องนึกก่อนว่าจะทำอย่างนี้เราจะผิดศีลหรือไม่ 
 
นี่เองคงเปนอุบายการฝึกสติให้อยู่กับตัวตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ได้กระจ่างใจในวันที่ 2 ของการบวชว่า ที่ว่าศีล นำสู่สมาธิ สมาธินำสู่ปัญญานั้น
 
กลไกการทำงานเบื้องหลัง คือศีลเปนข้อห้าม เราต้องมีสติในการระวังไม่ให้ทำผิดข้อห้าม เมื่อมีสติมากๆ เข้าจิตเราจึงมีพื้นฐานสำหรับบันไดขั้นต่อไปคือสมาธิ เนื่องจากสมาธิเกิดจากการมีสติระลึกรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่และจดจ่ออย่างไร

อนึ่ง เมื่อเอากระจกส่องความจริงนี้อีกด้านหนึ่งก็จะได้พบว่า เมื่อเรารักษาศีล เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่พูดปด ไม่ละเมิดใครๆ แล้ว สภาวะของจิตใจก็สบายไม่ขุ่นมัว ไม่พะวักพะวน การเจริญสมาธิจึงทำได้ง่าย ฉะนั้นแล้วเพศสภาพของบรรพชิตที่สมาทานศีล 227 จึงเอื้ออำนวยแก่การปฏิบัติธรรมมากกว่าเพศอื่น
 
3. ใจกับกาย
 
การจะฝึกจิตให้ได้ดีนั้น สำคัญควรต้องมีพื้นฐานการฝึกกายที่ดีเสียก่อน การสำรวมด้วยท่านั่งของสงฆ์ เช่นคุกเข่า พับเพียบ หากไม่คุ้นเคย กล้ามเนื้อจะอ่อนล้า เกิดปวดชา เต้นสั่น ทำให้ประคองสังขารได้ลำบาก จิตที่ไม่ได้รับการฝึกหัดต้องแบ่งส่วนมาประคองมาดูกาย ทำให้การปฏิบัติวิปัสสนาทำได้ไม่เต็มที่ ควรใช้ความรู้ทางโลกเช่น โยคะ หรือ การยืด_คลายกล้ามเนื้อมาช่วย
 
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติทางธรรมนั้นเปนขั้นเปนตอนต่อเนื่องกันไปเหมือนก่อเจดีย์ต้องมีฐานฉะนั้น จะใช้วิสัยทางโลกย์ในการย่นย่อหาทางที่ลัดช่างเปนไปได้ยากจริงเทียว

4. เนื้อนาบุญอันยอด
 
ในดินแดนพุทธภูมินั้น ชนผู้เปนศาสนิกทั้งหลายได้ตั้งปณิธานมาสักการะปฏิบัติแสวงบุญ หนทางหากจะว่าตามศัพท์ของพระเจ้าสิบทิศกรุงหงสาวดียกทัพเรียกว่า “จำจะต้องยกมาโดยวิถีทุเรศกันดาร” 
 
จำ คือ จำเป็น หมายว่าถ้าประสงค์จะได้ก็จำเป็นจะต้องมา
 
วิถี คือ เส้นทาง
 
ทุเรศ คือ ทุเรศตาทุเรศใจ ทุเรศสิ่งแวดล้อม
 
กันดาร คือ ลำบากต้องทรหดอดทน ไม่สะดวกสบายอย่างที่คุ้นเคย
 
หากความทุเรศกันดารนั้นไม่อาจเบียดบังศรัทธาแห่งจิตของศาสนิกได้ 
 
ผู้มาแสวงบุญจำจะต้องประสบกับทุกขเวทนานานาประการ ทั้งกายใจ เมื่อยขบ บาดแผลเล็กๆน้อยๆ ขาดของขบฉับ สภาวะจิตขึ้นๆลงๆ ปัญหาการปลดทุกข์ ความกังวลในหนทาง ซึ่งแน่นอนในระยะทาง แต่ไม่อาจกำหนดระยะเวลาเดินทางตายตัวได้ บางคราวติดอยู่บนถนนกว่า 12 ชั่วโมง คล้ายปลาถูกขังในตู้
 
เมื่อได้เข้าถึงที่พัก ได้เข้าถึงสถานที่ปลดทุกข์ อันเปนที่สงบ เปนที่สบาย เปนที่จำเริญต่อกายสังขารแล้ว โดยอัตโนมัติจะต้องนึกอนุโมทนาในจิตใจ ถึงท่านผู้สร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นไว้ให้ 
 
หากบุญกิริยานั้นกระทำโดยศาสนิกจำนวนมากเปนคันๆรถบัส วันหนึ่งมีมากถึงสิบคณะ ยี่สิบคันรถ ซึ่งตั้งจิตตั้งใจสมาทานศีลแล้วเพื่อเดินทางมาแสวงบุญ การอนุโมทนาดังนั้นจึงมีกำลังมาก มีความบริสุทธิ์มาก รวมกันเป็นมวลมหาอนุโมทนา ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงเกิดเป็น “บุญใหญ่” มหาศาลต่อเนื่อง ให้อานิสงส์แก่ท่านผู้สร้างอย่างไม่มีสัณฐานประมาณเลย
 
ตรงนี้จึงหมดข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้บริจาคบำรุงสถานที่นั้นๆ จึงมีความเจริญงอกงาม ก็ด้วยพื้นที่นั้นเปนเนื้อนาบุญชั้นเยี่ยมนี่เอง

5. พระบริสุทธิคุณ 
 
ก่อนนี้ได้ยินได้ฟังจากผู้เคยมาแสวงบุญยังสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งว่า มีความรู้สึกพิเศษ มีความปลาบปลื้ม มีความปีติ มีความสุขใจอย่างอธิบายไม่ได้ ก็ได้เก็บความลังเลสงสัยเปนวิจิกิจฉาในใจเรื่อยมา
 
จนได้สนทนาธรรมกับท่านโฆสกโพธิภิกขุ ผู้มีพรรษาอ่อนกว่าป่วยด้วยลิวคิเมีย ซึ่งได้ปรารภถึงมรณะ ณ กุฎีสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ระหว่างนั้นเกิดไฟฟ้าดับ ท่ามกลางความมืดมิดนั้น จนมาถึงตอนสนทนาว่า กรรมฐาน ๕ คือ ผม ขน ฟัน เล็บ หนัง ล้วนเป็นสิ่งน่ารังเกียจเมื่อหลุดล่อนออกจากกายสังขารแล้ว เกิดระลึกได้ว่า แม้สิ่งปฏิกูลจากพระอรหันต์นั้นไม่ได้น่ารังเกียจเช่นของปุถุชนเลย เช่น เลือดของหลวงตาพวงที่เจาะทิ้งไว้ ณ รพ. วิชัยยุทธ แปรสภาพเป็นเกล็ดใสดั่งทับทิม ชานหมากของพระอริยสงฆ์ที่โยมเอามือไปรองจากปากท่านนั้นเกิดเปนเกล็ดเพชรพร่างพราวขึ้น เส้นเกศาที่ปลงออกมาเกิดการรวมกันเปนกระจุกมีหยาดใสอย่างเพชรพร่างพรายอยู่โดยรอบ แม้อัฐิธาตุยังแปรจากกระดูกเปนพระธาตุสุกใส อย่างที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว ท่านโฆสกะฯเสริมว่าคงจริงอย่างพี่ว่า กระดาษชำระหลวงตาบัวยังแปรสภาพปฏิกูลเปนเกล็ดใสอย่างเพชรไม่มีกลิ่นเลย
 
จึงเกิดความกระจ่างขึ้นในใจว่า นี้เองคือสิ่งที่ควรจะเรียกว่า “พระบริสุทธิคุณ” คือความpurity ของคุณธรรมที่พระอริยบุคคลท่านมีนั้น สามารถเเผ่ออกมา มีอำนาจฟอกซัก ทำการpurify สิ่งต่างๆที่อยู่ใกล้ท่านทั้งในกายสังขารของท่านและสิ่งที่ท่านสัมผัสให้บริสุทธิ์เช่นเดียวกับท่านได้
 
ฉะนั้นแล้วประดาสิ่งปรักหักพังต่างๆ ซึ่งสำนักงานโบราณคดีแห่งอินเดียได้สืบค้นจนยืนยันว่าเปนสถานที่ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ เช่นมูลคันธกุฎีบ้าง เปนสถานที่ซึ่งพระสาวกได้มาเข้าเฝ้าบ้าง เปนสถานที่ซึ่งพระสงฆ์หลายร้อยได้ฟังธรรมแล้ว บรรลุอรหันตผลพร้อมกันบ้าง จึงเปนที่สถิตแห่งพระบริสุทธิคุณอันนั้นๆ อันเกิดเปนผลพวงมาแต่การสำเร็จมรรคผล
 
เมื่อเดินทางขึ้นมาถึงยอดเขาคิชภูฏ (เขาหัวแร้ง) อันเปนที่ตั้งของซากมูลคันธกุฏีของพระพุทธองค์ ที่ตั้งของกุฎีพระอานนท์ ถ้ำพระโมคคัลลานะ เมื่อได้ทำวัตรสวดมนต์แล้ว พระกรรมวาจาจารย์ให้เข้าสมาธิเจริญจิตภาวนา จึงได้กระจ่างแจ้งแก่ใจตนเองในขณะนั้นว่า จิตใจรวมกันเข้าสู่สมาธิภาวะได้ง่ายอย่างรวดเร็วมาก ไม่ติดขัด ไม่ขุ่นมัว ไม่พะวง ย่อมเปนด้วยอำนาจพระบริสุทธิคุณที่สถิตอยู่ตรงนั้นๆเปนแน่แท้ แลอำนาจนั้นได้แผ่มาถึงเราผู้อยู่ใกล้ เปนอันหมดความสงสัยในกิจการพระศาสนาไปอีกข้อหนึ่ง
 
ส่วนสาระน่าคิดมีอยู่ประการหนึ่งว่า โดยธรรมดาของบริสุทธิ์จะไม่ปนเปื้อนอยู่กับสิ่งโสโครก ฉะนั้นแล้วการจะได้รับเอาพลังแห่งพระบริสุทธิคุณมาได้ตัวเราเองควรต้องกระทำจิตกระทำใจให้บริสุทธิ์เสียก่อน ซึ่งอาจทำได้โดยการรักษาศีล ชำระร่างกายให้สะอาด สงวนประคองวาจาไม่ให้ทุจริต รักษากายวาจาใจเปนอย่างที่เรียกว่าเปนการบูชาพระบริสุทธิคุณ โดยนัยนี้จึงได้รับเอาอำนาจแห่งพระบริสุทธิคุณมาได้เพราะคติดั้งเดิมมีว่าเมื่อผู้ใดตั้งใจบูชาแล้วย่อมได้รับการบูชาตอบ
 
ทั้งนี้เคยได้ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกระดูกคนกลายเปนพระธาตุมาก่อนหน้านี้แล้วว่าเปนไปได้อย่างไรหนอ จนมาเข้าใจเมื่อมีข่าวฝรั่งสามารถนำกระดูกคนตายไปอัดควบผ่านกรรมวิธีจนกลายเปนอย่างเพชรได้เพื่อให้ลูกหลานเลี่ยมทำหัวแหวนเก็บเปนที่รฤกถึงผู้วายชนม์ จึงกระจ่างว่าแท้จริงเพชรนั้นก็เป็นสารประกอบคาร์บอน กระดูกก็เปนสารประกอบคาร์บอน โดยธรรมชาติเมื่อหมื่นแสนล้านปีก่อนเพชรก็เคยเปนกระดูกเปนซากพืชซากสัตว์มาก่อน ฉะนั้นเทคโนโลยีสมัยนี้ เอากระดูกคนตายเมื่อผ่านกรรมวิธีอัดคอมเพรสทางวิทยาศาสตร์ย่นเวลาก็แปรสภาพให้เปนอย่างเพชรได้ มีความบริสุทธิ์สวยงามดีไม่มีปฏิกูลน่ารังเกียจอันเปนลักษณะเดิมเหลืออยู่เลย พระอริยะท่านก็มีเทคโนโลยีของท่านในการย่นเวลาฟอกซักธาตุขันธ์ของท่านจนเปนพระธาตุได้ฉะนั้น

6. อนุโมทนามุ้ง
 
ฝูงกีฏะคือแมลงนั้นมีอยู่มากมายในชมพูทวีปแห่งนี้ ที่เห็นบ่อยก็คือยุงขนาดใหญ่ นอกนี้มีจิ้งหรีดขายาว แมลงเล็กปีกเเข็ง แมลงคลานเร็ว ฯลฯ ในเพศบรรพชิตนั้นไม่อาจกระทำปาณาติบาตได้จะขาดจากภิกขุภาวะ จำต้องสำรวมระวัง แม้ขันน้ำใช้แล้วยังต้องคว่ำเพื่อป้องกันมิให้เหล่ากีฏะหลงเงาแสงสะท้อนน้ำตกลงไปตายในขัน เปนการยังชีวิตสัตว์ให้ล่วงไป
 
ภยันตรายอันมาแต่แมลงสัตว์กัดต่อยหรือเข้าหูย่อมเปนที่น่าหวั่นใจ ด้วยไม่อาจลงมือพิฆาตพวกเขาเหล่านั้นได้เช่นคราวอยู่ในวิถีฆราวาส
 
ท่านโฆสกโพธิ มีชนมายุน้อยกว่าทศวารหนึ่ง แต่ลำดับอาวุโสสำเร็จภิกขุภาวะติดกันจึงมีความคุ้นเคยกัน ท่านมีความไม่สบายทางระบบเลือด ถูกยุงกัดแล้วอาจอาการกำเริบได้ ได้ทราบถึงเจตนาว่าท่านทุเลาป่วยแล้วจึงมาบวชเพื่อสนองคุณบุพการี รู้สึกอนุโมทนาสาธุการ แลสังเวชใจว่าตัวเราหนอมาช้าไปกว่าสิบปี มิเช่นนั้นโยมตา โยมยายผู้สนิทสเน่หาแลอุปถัมภ์แก่เราคงจะได้จับชายผ้าเหลืองผู้หลานสักคนหนึ่งก่อนจะล่วงภพชาติไป
 
จึงได้กล่าวแก่ท่านโฆสกโพธิ ขอแสดงปาวารณา หากมีอะไรติดขัดเรื่องการป่วยไข้ขอให้ได้บอกอย่าได้เกรงใจใดๆเลย 
 
ในเวลาค่ำท่านได้เสียบอุปกรณ์ไล่ยุงไฟฟ้าที่ปลายเตียงห้องนอนรวม แลชโลมน้ำยากันยุงที่ตัว ด้วยความมีน้ำใจท่านได้แจ้งถามไถ่ส่งน้ำยามาให้ใช้ เรานึกขอบคุณในใจ แต่ได้แจ้งไปว่าไม่ใช้ดีกว่าเพื่อว่าหากยุงมีมาจักได้มากัดเอาเลือดเราไปแทนที่จะเปนเลือดท่านเพราะเราไม่มีปัญหาเรื่องเลือด แถมแลดูจะมีเลือดมากเกินไปด้วยซ้ำ ส่วนเมื่อเหตุยุงกัดเกิดขึ้นเปนตุ่มคันแล้วย่อมแก้โดยมียาวิเศษทำจากน้ำมันเลียงผาซึ่งโยมนายพลทหารเรือท่านหนึ่งปรุงพิเศษให้มาเคยพิสูจน์แล้วได้ผลชะงัดนัก
 
ราตรีกาลผ่านไปแช่มช้า เวลาเช้าเราโดนยุงกัดเพียง 2 แผล ไม่มากเท่าไหร่ แต่ท่านโฆสกะก็ไม่ได้ปลอดภัยจากพิษร้ายแห่งยุงเหล่านั้น อาการเลือดเริ่มกำเริบ ตกค่ำวันนั้นท่านพระครูปลัดนำเต็นท์มุ้งมาให้ท่านโฆสกะใช้ เราเห็นชื่อผู้ถวายเขียนไว้เปนนายพลตำรวจผู้หนึ่งกับภริยา ซึ่งอยู่เมืองไทยนับเรียกท่านว่าคุณอา ก็เกิดปีติโสมนัสขึ้นยกมืออนุโมทนาแก่โยมคุณอาทั้งสองว่าอันของที่ท่านได้บริจาคบำรุงแด่สงฆ์นั้นได้ใช้สมประโยชน์ดังนี้ ท่านโฆสกะฯ ก็ได้โมทนา ท่านญาณวชิระโพธิ์ กับท่านอื่นๆ คือท่านกิตติสทฺธโพธิ ท่านกนฺตธีรโพธิ ก็ได้อนุโมทนามาช่วยกันกางกั้นให้ท่านโฆสกะฯจนใช้นอนบนเตียงบางๆนั้นได้ รวมแรงอนุโมทนาที่โยมคุณอาทั้งสองได้รับจากพระนวกะที่มีศีลสิกขาบริสุทธิ์ในเพลานั้นไม่ต่ำกว่า 5 แรง
 
อนึ่งที่วัดไทยสิริราชคฤห์นั้นมีเหตุเหล่าแมลงเช่นนี้เหมือนกัน แต่ท่านพระครูปัญญาสารพินิต พระครูพี่เลี้ยงได้แสดงข้อธรรมะปฏิบัติโดยนำสังฆาฏิกางออกห่อหุ้มคลุมโปงตั้งแต่ศีรษะจรดเท้านอนหงายนิ่งสนิทอยู่ แลละม้ายคล้ายร่าง อสุภะ ทำให้เกิดความกระจ่างในใจว่า อันผ้าอันตรวาสกนี้พระพุทธองค์บัญญัติให้ใช้ผ้าห่อศพมาทำด้วยหมดความจำเปนแก่ร่างผู้วายชนม์แล้ว เมื่อย้อมเสียด้วยน้ำฝาดกลับกลายเปนยังประโยชน์แก่คนเปนได้ฉะนั้น ข้อนี้ทำให้สังวรณ์ว่าหากเราเองวายชีพไปแล้วจะยังคงมีประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างไรบ้างหนอ จึงได้ลงมือเขียนบันทึกนี้ไว้