ภิกษุสกุลโพธิ 3 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ

09 ธ.ค. 2566 | 02:05 น.

ภิกษุสกุลโพธิ 3 : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 2)

7. พระกรุณาคุณ
 
วันที่ 2 ของการครองผ้ากาสาวพัตร นวกะโพธิหลายรูปประสบทุกขเวทนา บ้างหลังเท้าพุพองจากการนั่งท่าเทพบุตร สลับท่าเทพธิดา บ้างปวดหัวเข่าจากการพับเพียบ บ้างเส้นสะบักตึงรั้งปวดร้าวไปทั้งสรรพางค์กาย บ้างหัวไหล่ขวาต้องแสงแดดลอกพอง บ้างท้องอืดเฟ้อ บ้างธาตุผูก บ้างหวัดลง บ้างคันคะเยอจากลมพิษแลแมลงสัตว์กัดต่อย
 
พระเดชพระคุณพระอุปัชฌาย์มีวิธีการสอนเชิงประจักษ์ที่มีสัมฤทธิผลมาก ท่านให้เราเดินทางไปถ้ำดงสิริที่พระพุทธองค์จำพรรษาบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ 6 พรรษา เราฝ่าดงขอทานเดินขึ้นเขาลาดชันไปจนถึงยอด พระกรรมวาจาจารย์ให้สำรวมสวดมนต์หลายพระสูตรเพื่อบูชาคุณองค์พระชินสีห์ จากนั้นให้แต่ละรูปผลัดกันเข้าไปในถ้ำซึ่งพระพุทธองค์เคยประทับอยู่นั้นเป็นชุดๆละ 5-6 รูป กราบสักการะพระปฏิมาปางทรมานพระวรกายซึ่งเหลือเพียงพระตะโจหุ้มกระดูกแลเส้นเอ็นปูดโปน
 
ถ้ำนั้นเปนที่คับแคบอย่างยิ่ง จะต้องมุดเข้าไป ภายในอุดอู้ อากาศบางมากหายใจไม่ได้เต็มอิ่ม ไม่มีช่องแสง แลหนักไปกว่านั้นคือถ้าจะสว่างต้องจุดไฟเทียนซึ่งยิ่งดึงเอาออกซิเจนที่น้อยนั้นไปใช้ในการเผาไหม้ ทำให้อากาศยิ่งไม่พอหายใจเข้าไปอีก นึกถึงแล้วว่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 มาอยู่พร้อมพระพุทธองค์อัดแอกัน ณ ที่นี้ แลแล้วช่าง “ทุเรศกันดาร” ตามศัพท์พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง กะยอดินนรธา ซึ่งนิยมออกพระโอษฐ์ฉะนั้น

เมื่อกลับถึงวัดแล้ว เช้าวันรุ่ง พระเดชพระคุณพระอุปัชฌายาจารย์ ได้ลงอุโบสถนำเราทำวัตรสวดมนต์ และเทศนาแสดงธรรมใจความว่า ดูก่อนเถิดเหล่านวกะโพธิ สังเกตได้และรับรู้ได้ว่าท่านได้รับความไม่สุขกายสบายใจ หากแต่ท่านได้รับความทุกข์ทรมานเพียงเท่านี้ เปรียบเทียบกันเเล้วกับสมเด็จพระพุทธบิดรทรงได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสอย่างไรกว่า 6 ปี ในถ้ำดงสิริแห่งนั้น ซึ่งท่านได้ไปดูให้เห็นกับตา ไปสัมผัสให้เห็นกับตัวแล้ว ว่าทรงเสียสละความสุขอย่างพระราชาธิบดีตามเพศสภาพเดิมของท่านอย่างไร ทั้งในมิติความเจ็บปวดที่ลึก และมิติความยาวนานของเวลา เพียงเพื่อค้นหาสัจธรรมให้พบและประกาศข้อค้นพบนั้นแก่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติเพื่อล่วงทุกข์ภัย
 
เพียงเท่านี้ความกระจ่างที่มีต่อคำว่าพระมหากรุณาธิคุณจึงได้แจ้งชัดแก่ใจของเรา แลอำนาจของพระมหากรุณาคุณอันนั้นได้ทำลายทุกขเวทนาที่มีอยู่น้อยนิดในกายของเรา ในใจของเราไปหมดสิ้น ณ พัทธสีมาวัดไทยพุทธคยานั้น เกิดเปนเพียงความสำรวมแห่งจิต ความระวังแห่งกายมิให้สัดส่ายเปนที่น่าตำหนิของชนเหล่าอื่นๆอีกเลย

8. การทำบุญ กับการบำเพ็ญบารมี
 
หลังจากได้ข้อคิดและเข้าถึงนิยามของพระมหากรุณาธิคุณมาเปนชั้นต้นแล้ว พระเดชพระคุณพระอุปัชฌายาจารย์ ได้ต่อยอดภูมิธรรมะ โดยปรารภข้อธรรมว่าด้วยเรื่องการทำบุญในระหว่างทำวัตรวันหนึ่งว่า
 
ท่านทั้งหลายที่มาแต่คณะสปร.นั้นได้ดูแล้วก็เปนข้าราชการผู้ใหญ่ เปนนักธุรกิจผู้ใหญ่ คงเคยได้คุ้นเคยกับการทำบุญมาบ้างแล้ว หากจะกล่าวไปแล้วโดยเปรียบเทียบกับการมาอุปสมบทอยู่ ณ ที่นี้ซึ่งได้รับความยาก ความลำบากทั้งกายใจนั่น จะพบว่า การทำบุญนั้นง่ายกว่า ความสุขอันเปนผลจากการทำบุญนั้นก็ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี การที่ทุกท่านมาอยู่ในผ้ากาสาวพัสตร์นี้ประกอบด้วยความทุกขเวทนาต่างๆ นั้นเรียกว่าเปนการบำเพ็ญบารมี เหมือนอย่างเช่นพระพุทธองค์พระบรมศาสดาทรงบำเพ็ญเพียรในถ้ำด้วยทุกรกิริยานั้น การบำเพ็ญเพียรคือการสร้างบารมี เมื่อสำเร็จด้วยบารมีผลที่ได้คือปรมสุข ซึ่งเปนยิ่งกว่าความสุขอันเปนผลของการทำบุญ
 
ธรรมะซึ่งท่านอุปัชฌาย์ได้แสดงในข้อนี้เปนเสมือนน้ำทิพย์ประโลมใจ ให้เรามีกำลังตั้งมั่นผลักดันตัวเองในเส้นทางที่ยาวไกลแห่งการปฏิบัติในแดนธรรม
 
ขอกราบอนุโมทนาสาธุการ ด้วยเศียรเกล้า เปนการบูชาคุณ พระเดชพระคุณพระอุปัชฌายาจารย์ พระเทพโพธิวิเทศ พิเศษศาสนกิจดิลก สาธกธรรมวิจิตร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี มา ณ บรรทัดนี้


 
9. การอุปมาน/นิรมาน จากพระสงฆ์ ไปสู่พระพุทธ
 
พระอุปัชฌายาจารย์ได้เทศนาให้ฟังเปนส่วนรวมซึ่งตรงใจและจับใจเรายิ่งนักความว่า ในประดาพระรัตนตรัยทั้งสามนั้นพุทธศาสนิกชนไทยจะได้มาก็เปนจำเพาะส่วนพระสงฆ์ เนื่องจากได้สัมผัสใกล้ชิด มีความคุ้นเคย พบเห็นและจับต้องได้ แต่กับพระพุทธแล้วคล้ายจะมีความลังเลสงสัย คิดประหวั่นพรั่นพรึงคำนึงไปว่ามีหรือไม่ มีจริงไหมอย่างไร
 
ตัวเราเองนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ได้มาถึงแดนพุทธภูมิในครั้งนี้ ก็ด้วยพระสังฆานุภาพนำมา
 
เราอาจจะห่างเหินจากพระธรรมแม้กระทั่งพระพุทธ ด้วยว่าประสบพบเห็นแก่ตัวถึงคุณวิเศษสำคัญในองค์พระสงฆเจ้า มีพระเดชพระคุณพระราชธรรมมาภรณ์ ( เงิน) พระครูเกษมธรรมานันท์ วิ. (แช่ม) วัดดอนยายหอม เปนอาทิ ทั้งในเรื่องการประจักษ์ถึงความคงกระพันชาตรี น้ำมนต์ในบาตรที่เทอย่างไรก็ไม่ออก การปรากฏของจีวรสีส้มที่พุ่งออกมาช่วยชีวิต ฯลฯ ไปจนกระทั่งสรีระสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย จึงไม่มีความลังเลสงสัยใดๆเลยในกิจการฝ่ายสงฆ์นี้ และเปนจริงตามที่ท่านอุปัชฌาย์ได้กล่าวคือ เราเองได้บันทึกบทสอนธรรมะของท่านเหล่านั้นติดตัวมายังอินเดียด้วยเพื่อศึกษาและหาทางปฏิบัติ เช่น
 
“จงทำใจให้ว่างอย่างอากาศ ใสสะอาดแจ้งจบภพทั้งสาม ว่าเหมือนไฟไหม้ลุกและคุกคาม จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายยินดี”
 
หรือ
 
“ ลูกผู้ชายเมื่อทอดทิ้งความเพียรเสียแล้ว จะได้พึงบรรลุคุณวิเศษแม้แต่น้อยนิด ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้เลย”
 
เมื่อได้ฟังเทศนาของพระอุปัชฌาย์แล้วจึงได้รู้แจ้งว่าเราเองใช้วิธีนิรมาน “ย้อน” ทางการศึกษาจากปลายมายังต้น คือ พระสงฆ์ ไปหาพระธรรม พระธรรมไปหา พระพุทธ (เปนปฏิโลม) เปนโชควาสนาแท้แล้วที่มาอยู่ ณ แดนพุทธภูมิได้สืบทานความสงสัยใคร่รู้แลทำความเข้าใจ “ตาม” ทาง คือพระพุทธ ไปหาพระธรรม พระธรรมไปหาพระสงฆ์ (เปนอนุโลม) สอดคล้องกับระเบียบวิธีวิจัยทางโลกย์ ที่อุปมานได้ต้องนิรมานได้ ฉะนั้น
 
ทำให้เกิดความละเอียดชัดเจนในการศึกษาเปนอย่างยิ่ง


 
10. ของขวัญจากพ่อแม่ผู้มีวรรณะต่ำ
 
หลายครั้งที่ลงรถบัสแล้วจะเข้าไปนมัสการสังเวชนียสถานจะต้องพบกับเหล่าขอทานทั้งชาย_หญิง เด็ก_ชรา ปกติ_พิการ มารอพร่ำพรรณนาถึงความทุกข์เรียกขอเงิน ขอทรัพย์จากเราไม่ขาดสาย รองหัวหน้าพระธรรมทูตผู้ใช้ชีวิตในชมพูทวีปกว่า 2 ทศวรรษ เล่าว่า ที่นี่มีวิชายาจกศาสตร์ มีกระบวนการเล่าเรียนเปนเรื่องเปนราว มีกลเม็ดเด็ดพรายมาก ทั้งแบบให้สงสาร แบบให้รำคาญ แบบเยินยอสรรเสริญ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ ต่างก็มีฐานะดีไปตามๆกัน มีรถใช้ มีบ้านอยู่ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็จะแต่งตัวใส่เครื่องแบบออกมาขอทาน ด้วยว่าหลักการถือวรรณะมีกำหนดไว้ บางวรรณะจะเปนได้เพียงผู้ขอเพื่อการดำรงชีพเท่านั้น ประกอบอาชีพอื่นๆไม่ได้
 
วรรณะนี้มีบทบาทมากในสังคมอินเดีย วันหนึ่งได้ไปปลงสังเวชที่เขาน้ำพุตโปธาร ตะโป หรือ ตะปะ แปลว่าร้อน ธาร คือลำธาร เขานี้มีน้ำพุร้อนไหลออกมากว่าสองพันหกร้อยปีแล้ว ผู้มีวรรณะสูงอาบและซักล้างจากด้านบน น้ำที่เหลือไหลลงสู่เบื้องล่าง ให้พวกวรรณะต่ำกว่าได้ใช้อุปโภคบริโภค และน้ำที่เหลือไหลลงสู่เบื้องล่างกว่า ให้พวกวรรณะที่ต่ำต้อยกว่าได้ใช้อุปโภคบริโภค ให้น้ำที่เหลือไหลลงสู่พวกวรรณะต่ำที่สุดได้ใช้อุปโภคบริโภคซักล้าง ซึ่งพวกเขาและเธอก็ใช้อาบอุปโภคดำผุดดำว่ายอย่างไม่อนาทร ยังความสลดสังเวชขึ้นในหัวใจเมื่อเทียบกับเราชาวไทยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารไม่เคยต้องประสบพบพานสถานการณ์เช่นนี้ในแผ่นดินของเราเลย
 
ความวิเศษของพระพุทธศาสนานั้น อย่างน้อยหนึ่งอย่างคือการไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ผู้สนใจใฝ่ศึกษาทุกเพศวัยทุกชั้นชนม์เข้าถึงได้หมด แม้สมณะในผ้ากาสาวพัสตร์จะมีที่มายากดีมีจนอย่างไร เมื่อห่มครองผ้าอันตรวาสกแล้ว แม้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ายังทรงยอพระกรให้ความเคารพในเครื่องแบบพระสาวกของพระพุทธองค์


 
โดยเฉพาะที่ทางขึ้นถ้ำดงสิริซึ่งเปนสถานที่พุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยานั้น เราได้เห็นบรรดาผู้ขอทานมีร่างกายพิกลพิการ ขาขึ้นไปทัดหู หน้าตาเหยเก มือเดินต่างเท้า แลละม้ายคล้ายเเมงมุมผี พากันกรูเข้าหาเป็นจำนวนมากอย่างฝูงมดแมลงรุมเหยื่อฉะนั้น มีหมดทั้งชายหญิง จึงได้รำพึงถามท่านโฆสกโพธิ ผู้เคยมาเยือนที่แห่งนี้แล้วว่า นี่เปนด้วยโรคาพาธชนิดใดหนอทำให้คนหมู่บ้านนี้ ข้อต่อหลอมรวมติดกัน ดูเปนอุบาทว์จัญไร ครึ่งผีครึ่งคนเช่นนี้
 
คำวิสัชนาของท่านทำให้ลำคอของเราตีบตันอย่างมีก้อนอะไรมาจุกค้ำไว้ เมื่อทราบว่า พวกเขาและเธอเหล่านั้นหาได้เจ็บป่วยจากโรคเชื้อไม่ เกิดมาก็ปกติดีหากแต่ว่าได้ถือกำเนิดในวรรณะสุดต่ำต้อย ไม่สามารถเลี้ยงชีพด้วยวิธีอื่นได้ พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดจึงหักแข้งหักขาหักแขนลูกน้อยของตน เพื่อให้เกิดเปนสภาวะน่าสงสาร ผู้คนเห็นแล้วจะได้ทำทานให้โดยง่าย เรียกกันในหมู่ชนพวกเขาว่า เปนของขวัญที่ประเสริฐที่สุดเท่าที่พ่อแม่ผู้จัณฑาลจะพึงให้แก่ลูกน้อยของตนได้....โอ้...
 
@การเกิดเปนภัยเช่นนี้เอง การเกิดเปนทุกข์เช่นนี้เอง ประโยคที่ว่าคนเราเลือกเกิดไม่ได้นั้นอาจจะเปนความจริง แต่ความจริงที่ยิ่งกว่าคือคนเราเลือกที่จะไม่เกิดก็ได้ ท่านทั้งหลายพึงสลัดความยินดีในยางเหนียวเพื่อการไม่เกิดเถิดฯ 


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ หน้า 18 ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,947 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566