ภิกษุสกุลโพธิ (จบ) : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ

23 ธ.ค. 2566 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2566 | 07:00 น.

ภิกษุสกุลโพธิ (จบ) : บันทึกข้อคิดที่ได้จากการอุปสมบท ณ แดนพุทธภูมิ คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

17. จิตได้แม้กายแพ้
 
ที่สำนักวัดดอนยายหอม จ.นครปฐมนั้น มีผู้สืบทอดสายวิชาจากพระเดชพระคุณพระราชธรรมาภรณ์ ที่ยังมีชนมชีพอยู่ คือพระครูสังฆรักษ์อวยพร มีโยมกล่าวกับท่าน เมื่อรองเท้าท่านขาดว่า รองเท้าคู่ละไม่กี่ร้อยบาททำไมท่านไม่ซื้อเล่าเงินโยมทำบุญมาเปนแสนๆ? พระครูตอบว่า “เงินพวกนี้เขาฝากฉันไปทำบุญให้เขา เปนสะพานบุญให้เขา ไม่ใช่มาใช้ส่วนตัว จึงใช้เพื่อการนี้ไม่ได้”
 
นี่เปนข้อธรรมอีกข้อหนึ่งที่ได้สมาทานไว้ก่อนออกเดินทางมาแดนพุทธภูมิ ฉะนั้นสตุ้งสตางค์ใดๆที่โยมถวายมาขณะบวชจึงได้ยกถวายวัดแต่ละแห่งในย่านนี้ไปหมดสิ้น โดยคำนึงถึงอานิสงส์ที่แต่ละคนแต่ละท่านจะได้รับ เช่นอยู่ในวงการก่อสร้างก็ถวายทำกุฏิ อยู่ในวงการอาหารทำกองทุนฉันเพล เปนต้น
 
วันหนึ่งออกบิณฑบาตที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้พบนายพลทหารอากาศท่านหนึ่งเดินทางมาแสวงบุญด้วย

ท่านถูกไฟคลอกทั้งร่าง คาดว่าด้วยเหตุเครื่องบินตก อำนาจแห่งพระเพลิงนั้นหลอมละลายผมของท่าน ผิวหนังของท่าน ละลายใบหูของท่านทั้งสองข้าง ละลายจมูกของท่าน ละลายนิ้วข้อปลายของท่าน แต่ท่านยังกระฉับกระเฉงมีกำลังใจดี ท่านนายพลไม่อาจอุปสมบทได้ด้วยสภาพกายของท่าน ไม่อาจถือศีล 10 ได้ ไม่อาจถือศีล 8 ได้ ด้วยสภาพทางกายของท่านต้องมีอาหารรองท้องเพื่อรับประทานยา เเต่เพียรพยายามสมาทานศีล 5 ตลอดการเดินทาง
 
ท่านได้พยายามใส่บาตรให้ขณะออกบิณฑบาต ได้ปรารภข้อธรรมขึ้นมาว่า
 
“เสียดายขณะร่างกายยังดีๆ ไม่ได้ทำบุญตักบาตรเลยอย่าเอาอย่างผมนะ วันนี้ขนาดเอามือประคองของใส่บาตรยังทำแทบไม่ได้”
 
เห็นดังนี้แล้วจึงได้ย่อตัวลงให้ใกล้ท่านมากขึ้นเพื่อให้ท่านใส่บาตรได้สะดวก และคอยสำรวม ระวังกายวาจาใจตลอดเวลาในเพศบรรพชิตเพื่อท่านนายพลไดัรับกุศลเต็มที่ตามที่ท่านคาดหวัง


 

สาระข้อสรุปที่ได้แก่ใจคือ ความคาดหวังต่อการเปนพระสงฆ์นั้น ผู้ศาสนิกมีความคาดหวังไว้สูง อย่างน้อยหากเราไม่มีคุณวิเศษใดๆในตัว ก็พึงต้อง “ทำให้ดีที่สุด” ด้วยการสำรวมใจกายรักษาพระวินัย รักษาศีล

18. การบริโภคแต่พอดี
 
ทุกครั้งที่จะฉันภัตตาหาร ภิกษุจำจะต้องพิจารณาอาหารเสียก่อน ด้วยบทปฏิสังขาโยฯ แปลความเปนไทยว่าอาหารนี้บริโภคเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ โดยอัตภาพ เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้เปนไปเพื่อความเพลิดเพลิน สนุกสนานเมามัน เพื่อประดับหรือตกแต่ง
 
ก่อนจะเดินทางมาได้ลองปฏิบัติงดข้าวเย็นมาบ้างแล้ว ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คนทางบ้านบอกว่าไปถึงจะอดได้เอง ก็เปนจริงอย่างว่า ด้วยอำนาจของผ้ารัดอกที่ท่านพระครูปัญญารัดให้แน่นหนา ๑, ด้วยอำนาจของรัดประคตที่กลัวสบงหลุด ๑, ด้วยสิ่งแวดล้อมไม่มีใครเขากินกัน ๑, ด้วยอำนาจการสมาทาน วิกาละโภชนังใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์อีก ๑
 
ระลึกรู้ได้ว่าไม่มีใครตายจากการอดข้าวเย็นหรอก มีแต่แสบท้องรำคาญจากน้ำย่อยฉีดออกมาเท่านั้น เรากินผงคาร์บอนเข้าไปซับก๊าซเสียก็สิ้นเรื่อง ก็เปนจริงอย่างนั้น
 
พระพุทธองค์ทรงเปนสัพพัญญู ทรงรู้แน่ชัดจึงทรงบัญญัติห้ามโภชนายามวิกาล เช่นนี้แล้ว เมื่อปริมาณอาหารน้อย กระเพาะลำไส้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นไม่โหลดหนักเหมือนคราวเปนฆราวาส ปริมาณกากอาหารตกค้างมีน้อย อัตราการเคลื่อนที่ผ่านครูดลำไส้ใหญ่ต่ำลง ย่อมส่งผลให้ใครที่มีอาการริดสีดวงทวารต้องทุเลาลงไปตลอดระยะเวลาที่รักษาศีลข้อนี้ คงเปนไปตามหลักแห่งความจริงข้อที่ว่า เมื่อเราท้องเสีย แพทย์จะสั่งงดอาหาร ให้กินน้ำเกลือแทน ถามคุณหมอว่าทำไมทำอย่างนี้หิวจะตาย ท่านว่าที่ถ่ายไม่หยุดก็เพราะมีกากอาหารในระบบให้ถ่าย ถ้าท่านหยุดมีกากอาหารในระบบเสียแล้วจะเอาอะไรมาถ่ายเล่า ดังนั้น อาการท้องเสียก็เปนอันหายไป


 
ดังนี้ตรงกับพจน์คาถาหัวใจแห่งพุทธศาสนา ที่ว่าธรรมใดเกิดแต่เหตุ ตถาคตทรงแสดงเหตุเเห่งธรรมนั้น และความดับแห่งธรรมนั้นฯ

19. คุณวิเศษ
 
วันหนึ่ง ณ สวนป่าเวฬุวัน คณะของเราได้พบกับคณะของอาจารย์ซ้ง สมพงษ์ รัตนสุมาวงศ์ ผู้ซึ่งพระกรรมวาจาจารย์กล่าวว่าท่านมาสังเวชนียสถานนี้กว่า 70 ครั้งแล้ว อาจารย์ซ้งมีรูปขันธ์เปนชายจีนท้วมร่างสูงใหญ่ มีชนมายุมากแล้วสวมแว่นสายตา คล้องล็อกเก็ตรูปพระพุทธองค์ อาจารย์นั่งราบไม่ใคร่สะดวกมีศิษย์ถือเก้าอี้พับคอยกางให้เมื่อจะนั่งฟังพระสวด คณะนี้สวมเสื้อขาวเขียนว่า “อาจารย์ซ้ง พ่อในแดนธรรม” ระหว่างคณะของเราทำการสาธยายพุทธมนต์ อากาศร้อนอบอ้าว เกิดมีโยมสตรีท่านหนึ่งเปนลมล้มลง คณะได้พากันเข้าช่วยเหลือ 

เวลานั้นพระกรรมวาจาจารย์ปรารภออกมาว่าไม่เปนไร อาจารย์ซ้งอยู่เป่าหัวทีเดียวฟื้น ซึ่งการณ์ปรากฏว่าเปนจริงทุกประการตามที่ท่านปรารภ ได้ฟังมาจากหลายๆปากก็ทราบว่าอาจารย์ซ้งท่านนี้มีบุตรเปนแพทย์แผนปัจจุบัน หากคนไข้อาการเกินความสามารถทางปัจจุบันแพทย์แล้ว จะเปนหน้าที่ของอาจารย์ซ้งขจัดปัดเป่า ตัวอาจารย์ท่านเองก็ไม่ได้แพร่งพรายโอ้อวดว่าท่านทำได้อย่างไรหรือมีคุณสมบัติวิเศษอย่างไร แต่พูดกันโดยปากต่อปากเปนกระแสกันว่าท่านมีอภิญญา และมีความเมตตาเปนคุณธรรมประจำใจคอยช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยความสามารถประจำตน
 
ก็ให้นึกถึงอาจารย์ฆราวาสท่านหนึ่งของเราคืออาจารย์แห้ว ณรงค์ศักดิ์ คูกิตติรัตน์ ผู้มีคุณวิเศษหยั่งรู้ความคิดของเรา ทราบอดีตของเรา และบอกเราถึงภาคอนาคตได้ ซึ่งท่านได้ให้การสงเคราะห์แลอนุเคราะห์ ทั้งตัวเราเองเมื่อคราวเปนคฤหัสถ์ รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้หลายครั้ง และทั้งผู้มีทุกข์ที่พากันมารอพบท่านวันๆหนึ่งหลายร้อยคน ซึ่งอาจารย์แห้วก็ได้ช่วยเหลืออนุเคราะห์ทุกๆคนด้วยความเมตตาโดยลักษณะวิธีต่างๆกันไป
 
ครั้งหนึ่งเห็นท่านบากบั่นรับแขกมาถึงคนที่ราวสองสามร้อย เกิดระโหยโรยแรงต้องดื่มเกลือแร่เสียสองขวด จึงได้เรียนถามท่านว่า ที่ทำไปทุกวันนี้เพื่ออะไรดูลำบากเหลือเกิน ต้องการอะไรหรือ ท่านวิสัชชนาว่า หนุ่มๆท่านเคยเปนพระสร้างโบสถ์ได้สิบหลังมาแล้วแต่เพศสภาพของภิกขุภาวะ ไม่เหมาะกับท่าน จึงลาเพศ ที่ทำทุกวันนี้จะเอาโสดาบัน หมดชาตินี้แล้วค่อยไปบากบั่นทำนิพพานต่อในชาติภพถัดๆไป เวลานั้นเราถามว่าทำอย่างไรจึงจะได้โสดาปัตติผล ท่านอมยิ้มตอบว่า เอาแค่ไม่โกรธก่อนทำได้ไหมเล่า ด้วยท่านหยั่งรู้สภาพแห่งจิตของเราดีว่ามีโทสะเปนเจ้าเรือน
 
พระกรรมวาจาจารย์ได้ปรารภข้อธรรมว่า อันบุคคลธรรมดาซึ่งยังมีกิเลสอยู่นั้นสามารถบรรลุโสดาปัตติผลได้อยู่ เมื่อได้คุณวิเศษที่ชั้นนี้แล้วจะเปนอริยะทรัพย์ชนิดหนึ่งมีอานุภาพปิดทางอบาย ในภพชาติถัดๆไปจะไม่ตกกลับสู่ที่ต่ำอีก เหลือแต่ว่าจะมีความเพียรบำเพ็ญต่อไปในชั้น สกิทาคามี ได้หรือไม่เท่านั้นเอง ในเวลาเดียวกันท่านชิงตอบเราเสียก่อนว่า “ผมไม่มีคุณวิเศษอะไร ไม่เห็นอดีต เห็นอนาคต รึทายใจอะไรได้ทั้งนั้น”
 
ข้อวิสัชชนานี้กระตุกใจยิ่งนัก เราเองกลับมองเห็นว่า ท่านนั้นแม้จะรับพระราชทานสัญญาบัตรเปนที่พระครูนิโครธบุญญากร มีหน้าที่ รับธุระพระศาสนา เปนภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ แลสงเคราะห์ภิกษุสามเณรในอาราม ตามพระบรมราชโองการแล้ว ท่านยังรับธุระเปนเจ้าอาวาส รับหน้าที่ศึกษาทางธรรมเปนถึงมหาเปรียญ ทางโลกก็เปนดุษฎีบัณฑิตหลายปริญญาทั้งทางวิปัสสนา ทางปรัชญาศาสนาเปรียบเทียบ ไหนจะเปนงานในฐานะพระธรรมทูต งานวิทยากรซึ่งเฉียบคมในการขยายอรรถให้ชัดเจน งานสังฆกิจรับผ้าป่า สังฆกิจลาสิกขา สังฆกิจอุปสมบทอีกเล่า ท่านเดินขึ้นเขาคิชภูฎจ้ำไปบรรยายธรรมออกไมโครโฟนไปไม่เหนื่อยเลย ดึกดื่นค่ำคืนท่านยังนำปลงอาบัติไม่อ่อนล้า ปฏิบัติต่อเราอย่างครูผู้เมตตา มีความกรุณาไม่เอียงเอน คอยแกล้งเกณฑ์ให้เราฉลาดแลแหลมคมในสมณวิถี

......เหล่านี้ย่อมเรียกภาษาทางโลกย์ว่า multiple tasking นับได้ว่าเปนคุณวิเศษในตัวท่านอย่างหนึ่ง....เรายกมือไหว้ท่านเพื่อบูชาคุณวิเศษของท่านทุกครั้งที่พบเจอ ไม่ว่าจะตอนขึ้นรถ หรือ ลงรถ หรือฉันจังหัน
 
หากแม้นว่าคุณธรรมสำคัญที่จะเปนพื้นฐานไปสู่โสดาปฏิมรรคคือความเมตตาธรรมแล้วไซร้ ท่านคงไม่แคล้วจะได้รับคุณสมบัตินี้ได้ในกาลข้างหน้า       
 
แม้ท่านจะนิยมให้ผู้คนเรียกขานท่านตามชื่อเล่นว่า “มหาน้อย” เราไม่ใคร่พึงใจนัก ด้วยสำหรับเราแล้วท่านเปน “มหาเยอะ” ต่างหาก.

20. สังฆกิจ
 
ตามที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาตั้งแต่เมื่อครั้งมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในวิชาพระพุทธศาสนาคราวนั้นว่า ภิกษุนั้นคือผู้ขอ คนบวชแล้วเปนภิกษุ แต่ภิกษุจะทำหน้าที่สงฆ์ได้ก็ต่อเมื่อมีจำนวนครบ 4 รูปเสียก่อน จึงจะปฏิบัติหน้าที่ของสงฆ์ได้ พระอุปัชฌายาจารย์ของเรานั้นท่านรับหน้าที่เปนหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาลอยู่เป็นหลักตามคำสั่งของมหาเถรสมาคม เราเปนสัทธิวิหาริกของท่านก็มีหน้าที่ต้องช่วยงานสังฆกิจของท่านตามแต่จะได้รับมอบหมาย
 
วันหนึ่งวัดไทยสิริราชคฤห์ที่คณะไปพำนักนั้นท่านเจ้าวัดติดภาระกิจอยู่อีกเมืองหนึ่ง จำนวนภิกษุในวัดมีไม่เพียงพอจะประกอบสังฆกิจรับผ้าป่าที่ญาติโยมจะนำมาถวายบำรุงวัดได้
 
พระกรรมวาจาจารย์ได้ประกาศหานวกะโพธิว่ารูปใดสามารถสวดยถาฯ สัพพีฯ ได้ขอให้เข้าทำหน้าที่ของพระธรรมทูตเพื่อประกอบสังฆกิจนี้ จึงกราบเรียนขันอาสา เนื่องจากเราเองนั้นสวดบทดังกล่าวได้ด้วยโยมคุณตาหัดให้มาตั้งแต่เมื่อยังเยาว์หลังจากที่ตั้งตำถามแก่ท่านว่าพระพูดอะไรฟังไม่เข้าใจ ท่านได้อธิบายและต่อคาถาให้โดยละเอียดห้ามจด และแถมด้วยคำคล้องจองให้เด็กช่างสงสัยเข้าใจว่า “ยถาฯ ให้ผี , สัพพีฯ ให้คน” หมายว่า ตอนพระสวดยถาฯ ให้กรวดน้ำไม่ต้องพนมมือเพราะไม่ได้สวดให้เรา ทว่าพอสัพพีฯ พระสวดให้เราก็จงหยุดกรวดน้ำ มาประนมมือรับพร เปนอันว่าได้นำเอาความรู้ในกรุออกมาใช้เพื่อการประกอบสังฆกิจได้โดยสมประโยชน์

21. เมื่อไหร่จะตาย
 
มีผู้ตั้งคำถามว่า พอจะทราบไหมว่าตัวเขาจะตายเมื่อไหร่ คำถามนี้ทำให้ย้อนระลึกนึกถึงเพื่อนรักสมัยเรียนคือโยมแจ็ค ศิษย์เก่าปริ้นซ์รอย เชียงใหม่ ผู้ทำการคำนวณให้ดูเมื่อหลายปีก่อนครั้งต่างฝ่ายต่างดิ้นรน ฝ่าแรงโลกย์เสียดทานมหาศาล ก่อร่างสร้างฐานะ จนบาดแผลเต็มตัวเริ่มจะท้อใจ มาถึงจุดสนทนาที่ว่า จะต้องดิ้นรนกันไปอีกสักเท่าใดจึงจะหยุดได้ พักได้ พอได้ ผู้คำนวณบอกว่าต้องรู้วันตายเสียก่อน อนุมานดูจากอายุขัยเฉลี่ยของชายไทยก็แล้วกัน คำนวณแล้วพบว่า จะต้องมีเงินสดบัดนี้สัก 12 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพเดือนละสองหมื่นบาทเศษ เงินจะหมดตอนอายุ 72 พอดีและจำเป็นมากที่จะต้องตายเสียให้ได้ในวันนั้นเพราะเงินหมดแล้วพอดีพอดิบ
 
อนึ่งความเก่งกาจของนักการเงินนั้นในทางส่วนตัวอาจวัดกันที่สามารถใช้เงินที่หามาได้หมดเกลี้ยงทุกบาททุกสตางค์ในวันตายพอดี ไม่เหลือไม่ขาด จึงจะนับว่าแน่จริง ฉะนี้แล้วจึงจำเปนนักที่จะต้องรู้ให้แน่ชัดถึงกำหนดวันมรณะในอนาคตกาลเพื่อปักหมุดสร้างสมการคำนวณเงินที่ต้องหาและเงินที่ต้องใช้ “ให้พอดี” กับระยะเวลาชีวิต (life expectancy)ของเราแต่ละคน
 
พระเดชพระคุณพระอุปัชฌายาจารย์ ได้กรุณาให้พระกรรมวาจาจารย์นำหนังสือคำแปลของบทสวดมนต์มาให้ไว้เล่มหนึ่งที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ พลิกดูแล้วไปต้องใจกับบทที่ชื่อว่า สักกัตตะวาฯ ด้วยบทนี้ ก่อนออกมาอุปสมบทท่านอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ แห่งหมู่บ้านสุขิโตได้กำชับให้สวดภาวนาทุกค่ำคืนเพื่อพ้นศัลยภัย
 
ความหมายของบทนี้คืออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย เปนโอสถัง หรือเปนยาบำบัดทุกข์_ภัย_โรค ท่านพระเดชพระคุณพระอุปัชฌาย์ผู้รจนา ได้แทรกธรรมปริทัศน์ ของบทสักกัตตะวานี้ทำให้เราเข้าใจแจ้งว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นเปนโอสถที่แท้จริงของชีวิตเรา... ใช่... เรา....เราผู้เดินทางล่วงภพชาติมาหลายแล้ว และจะต้องเดินทางต่อไปอีกไม่รู้สิ้นกี่ภพชาติ ความข้อนี้จับใจเรายิ่งนักด้วยเปนความจริงที่ยิ่งเสียกว่าความจริง อันทุกข์_ภัย_โรค นั้นเปนของซึ่งมาคู่กับการเดินทางในสังสารวัฏแห่งภพชาติ หากว่าตัดภพตัดชาติได้เสียแล้วสามอย่างนี้ย่อมเปนอันดับไปสิ้นเชิง..ดับไปโดยแท้..อย่างเอาเปลวเทียนจุ่มลงน้ำฉะนั้น โอสถอันชะงัดนี้ดับทุกข์เข็ญได้เช่นนั้นเอง
 
จึงขยายอรรถให้เราเชื่อมโยงต่อไปได้ถึงความจำเปนของการขอไตรสรณคมน์ ที่ว่า...สรณัง คัจฉามิ
 
ย้อนกลับไปข้อที่ว่า จะตายเมื่อไหร่ ...มาจนถึงชั้นนี้สังเคราะห์ได้ว่า เมื่อรู้กำหนดเวลาตายเข้าเสียแล้ว ก็จะรู้สึก relief โล่งอก ด้วยว่ารู้เสียแล้วว่า ความเพียรที่จะต้องดิ้นรนแสวงหาทรัพย์ในวิถีฆราวาสนั้นจะต้องดำเนินไปถึงเมื่อไหร่