ปิกัสโซ่ ชื่อจริงว่า ปาโบล ดิเอโก โฆเซ ฟรันซิสโก เด เปาลา ฆวน เนโปมูเซโน มาริอา เด โลส เรเมดิโอส ซิเปรียโนเด ลา ซานติชิมา ตรินิดัด รุยซ์ อี ปีกัสโซ่ นามกรยืดยาวบ่งบอกสายสกุลรุนช่องและสาแหรกแห่งหนตามธรรมเนียมชาวสเปญผู้อารยะ
เมื่อยังเล็ก เด็กอื่นเริ่มหัดพูดด้วยคำว่า ‘แม่/มาม่า/’ ปิกัสโซ่ กลับเริ่มพูดคำว่า “ปิช ปิซ” ซึ่งย่อมาจากคำว่า ลาปิช ที่แปลว่าดินสอ ! ปิกัสโซ่มีคุณพ่อเปนครูสอนศิลปะ ตัวเลยได้รับจานสีและพู่กันเปนของขวัญวันเกิดตอน 6 ขวบและเริ่มละเลงงานศิลปะของตนเองมาตั้งแต่นั้น
ครั้งหนึ่งท่านบิดาของปิกัสโซ่กำลังวาดรูปนกพิราบอยู่ในห้องวาด สิ่งที่น่าทึ่งก็ได้บังเกิดขึ้นเมื่อท่านบิดาออกไปจากห้องเพื่อทำธุระบางอย่าง เด็กน้อยปิกัสโซ่เดินผลุบเข้าไปในห้องแล้ววาดภาพนกพิราบต่อจนเสร็จ ท่านบิดากลับเข้ามาจึงได้พบผลงานแสนวิเศษนกนั้นเสร็จสมบูรณ์และแลดูว่าสวยกว่าที่ตนเองวาดเสียอีก !?! เมื่อย่างเข้าวัยรุ่น ปิกัสโซ่ก็ได้สตูดิโอห้องวาดเปนของตนเอง
จิตรกรเอกของโลกผู้นี้เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1881 ที่เมืองมาลากา แคว้นอันดาลูเซีย ทางตอนใต้ของประเทศสเปญ ท่านบิดา_โฆเช รุยช์ อีบลัสโก, ตามที่เรียนไว้, มีอาชีพครูสอนศิลปะในวิทยาลัย มารดาชื่อ มาริอา ปีกาโช อี โลเปช
ตลอดอายุ 91 ปีของปิกัสโซ่ เขาสร้างสรรค์ผลงานชั้นยอดหลากหลาย จนนิตยสารชื่อดังอย่าง ไทม์ ยกย่องให้เปนศิลปินที่มีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์มากที่สุดในคริสต์ศตวรรรษที่ 20
งานของปิกัสโซ่แบ่งได้เปนหลายยุคตามแนวคิดของคนเสพงาน ยุคเเรกเรียกกันว่า ยุคสีน้ำเงิน ซึ่งมีนัยยะลามปามไปถึงความโศกและเศร้าซึม_Blue อยู่ด้วยบ้าง กล่าวคือว่า ในช่วงระหว่างปี 1901-1904 ปีกัสโซ่จมลงไปในภาวะซึมเศร้ารุนแรง ภาพวาดยุคนี้เน้นสีหลักในเฉดสีของสีฟ้า มีสีเขียวและสีฟ้าอ่อนผสมกับสีอื่น ๆ เปนบริวารให้ความรู้สึกอึมครึม นักวิจารณ์งานศิลปะเล่ากันว่า แรงขับดันในยุคแรกนี้มาจากการเดินทางผ่านเมืองต่างๆในสเปญและ ปรากฏการณ์การฆ่าตัวตายของ ฆาลอส กาซาแฌมัส เพื่อนรักของเขา เมื่อเข้ามาอยู่ในปารีส ปิกัสโซ่หันมาใช้สีที่เรียบง่ายและยังคงถ่ายทอดเรื่องราวความเศร้าโศก เช่นเรื่องโสเภณี, ขอทาน, คนขี้เมา มาเปนผลงานภาพวาดสะท้อนชีวิตของผู้คนในสังคมเมืองปารีสที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ (ออกแนวเพื่อชีวิต)
ถัดมาเปนยุคสีชมพู อยู่ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1904-1906 ปิกัสโซ่เริ่มใช้โทนสีที่สดใส เช่น สีส้ม สีชมพู และสีเนื้อ ใส่ในงาน ซึ่งจะเปนโทนสีที่ตรงกันข้ามกับยุคสีน้ำเงินพอควร นักประวัติศาสตร์ศิลปะเล่าว่า จังหวะนั้นปิกัสโซ่ กำลังมีความสุขจากความสัมพันธ์กับคนรักแรกของเขาคือ แฟร์น็องด์ ออลีวีเย ประกอบกับว่าสภาพจิตใจเขาดีขึ้น ส่งผลให้งานยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซิกเนเจอร์ในยุคชมพูนี้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับลวดลายข้าวหลามตัด นักแสดง และตัวตลก
ต่อมาช่วงปี 1906-1909 จักรวรรดิฝรั่งเศสขยายตัวไปเอาอาณานิคมในแอฟริกา ประดางานประติมากรรมแอฟริกา งานศิลปะที่ค่อนข้างปฐมภูมิจากวัฒนธรรมแอฟฟริกา ถูกนำกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ในกรุงปารีส เปนที่นิยมของชาวปารีเซียง และสร้างแรงบันดาลใจพื้นฐานให้ปิกัสโซ่ ซึ่งต่อมามาจุดประกายให้พุ่งพล่านโดยงานแสดงหน้ากากจากภูมิภาคต่างๅในทวีปแอฟริกา งานปิกัสโซ่ยุคนี้จึงเรียกกันว่ายุคแอฟริกา
และแล้วก็มาถึงยุคสำคัญ ยุคคิวบิสม์ฯ หรือ บาศกนิยม บาศกนิยมเปนยุคความเคลื่อนไหวทางศิลปะล้ำยุคในศตวรรษที่ 20 ริเริ่มโดยปิกาโชและฌอร์ฌ บรัก อีงานคิวบิกส์นี้ได้เปลี่ยนรูปโฉมของจิตรกรรมและประติมากรรมยุโรป ไปไกล พากันฉีกไปถึงงานศิลปะฝ่ายดนตรีและงานเขียนที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ยุคแรกของบาศกนิยมคิวบิสม์ เปนที่รู้จักกันในชื่อ “บาศกนิยมแบบวิเคราะห์” (analytical cubism) ส่งความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่มีอิทธิพลรุนแรงและมีความสำคัญอย่างมากในฝรั่งเศส สี่ห้าปีถัดมาจึงเกิดลักษณาการ “บาศกนิยมแบบสังเคราะห์” (synthetic cubism) เกิดขึ้นและได้แพร่กระจายสร้างความตื่นตัวในวงการเปนการทั่วไป โดยผู้เสพงานยังประสาทเสียกับคำนิยามของนักวิจารณ์เรื่องวิโขลกวิเคราะห์ และสังโขลกสังเคราะห์นี่กันอยู่
อย่างไรก็ดีจนเมื่อย่างเข้าปี ค.ศ. 1919 พวกชาว เซอร์เรียลปรากฏตัว ลัทธิเหนือจริงเกิดเปนที่นิยม ปิกัสโซ่ก็ขยับมาลุยงานทางนี้บ้าง แกก็พยายามเน้นคุณค่าของปริมาตรกับอากาศซึ่งสัมพันธ์กันเต็มไปหมดในภาพ โดยแขวะนิดหน่อยไปกับพวกอิมเพรสชั่นนิสม์ ที่จงใจละเลยความสำคัญของรูปทรงและปริมาตร ศิลปินต่างสำรวจความละเอียดของสิ่งที่พวกเขาต้องการวาด ด้วยการทำลายรูปทรงเหล่านั้นให้กลายเปนชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่ปะติดปะต่อกัน รูปทรงบางรูปอาจทับซ้อนกัน หรือเหลื่อมล้ำกันและกัน โดยมีจุดประสงค์สำคัญในเรื่องปริมาตรเป็นเป้าหมายสูงสุด การสร้างภาพที่มีการจัดวางแบบผสมผสานแปลกใหม่ไม่เน้นกฎเกณฑ์ และนำเสนอภาพแง่มุมต่าง ๆ และที่สำคัญปิกัสโซ่เน้นว่า ผลงานบาศกนิยมไม่ใช่งานสามมิติ ! แต่มีมิติที่สี่เข้ามา ซึ่งได้แก่ มิติของเวลา ที่สัมพันธ์กับการรับรู้ของมนุษย์ !?!_เอากะเขาเซ่!!
อย่างไรก็ดีผลงานศิลปะของบาศกนิยมคิวบิสม์นั้น วัตถุจะถูกทำให้แตกเปนชิ้นๆก่อน จากนั้นศิลปินจึงจะวิเคราะห์ และประกอบกลับชิ้นส่วนเข้ากันใหม่ในรูปลักษณ์ที่เปนนามธรรรม แทนที่จะแสดงวัตถุให้เห็นจากเพียงมุมมองเดียว ดังนี้จิตรกรคิวบิสม์นั้นจึงแน่กว่าคนวาดภาพเหมือน ตรงที่ได้ถ่ายทอดวัตถุจากหลายแง่มุม เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างขึ้น และลึกซึ้ง
บ่อยครั้งที่ผืนราบดูเหมือนจะตัดกันในมุมที่เปนไปโดยบังเอิญปราศจากความสอดคล้องของความลึก ส่วนพื้นหลังและผืนราบแทรกเข้าไปในระหว่างกันและกันเพื่อที่จะทำให้เกิดพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนอย่างผิวเผิน ซึ่งเปนหนึ่งในคุณลักษณะเฉพาะ ของคิวบิสม์ ยุคต่างๆ
พักนี้คิดถึงปิกัสโซ่ก็ให้พอดีว่า ประดาคนรักงานศิลปะเขาจัดแสดงงานกันที่ พระโขนง ภายใต้ชื่อว่า “Hello, Picasso at Mini Xspace Gallry” แวะไปเยี่ยมชมดูก็พบว่างานว่าด้วยนิทรรศการศิลปะที่เล่ามุมมองของสามศิลปินคนไทยต่อผลงานของจิตรกรเอกชาวสเปญผู้นี้ประกอบด้วย แป้ง ต่อสุวรรณ , นวัต คิวบิก และ เดเมี่ยน แฟคตอรี่
แป้ง ต่อสุวรรณ นั้นเปนผู้มีใจรักต่อศิลปะมาตั้งแต่เด็กและเริ่มหันมาสนใจศึกษาการวาดภาพสีน้ำมันอย่างจริงจังในปี 2017 โดยงานของแป้งมักมีเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของผู้หญิงในแง่มุมต่าง ๆอยู่เสมอโดยมีแนวคิดว่า
“ฉันเลือกที่จะสื่อสารเรื่องราวผ่านภาพผู้หญิงมาโดยตลอดเพราะมันคือตัวฉันเองที่กำลังพูดกับผู้ชม และฉันไม่ต้องการให้ใบหน้าผู้หญิงในภาพแสดงออกซึ่งอารมณ์ใดๆ ฉันอยากให้สีสันและแปรงรวมถึงรูปทรงต่างๆในงานนำพาผู้ชมให้รู้สึกในแบบของพวกเขาเอง เหมือนเป็นบทสนทนาเฉพาะตัวระหว่างเรา”
ส่วนนวัต cubic ผู้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันแตกกระจายออกมาเปนรูปทรงเรขาคณิตที่สวยงามตั้งแต่วัยเด็กจนเกิดเปนจุดมุ่งหมายที่จะบันทึกภาพในจินตนาการของเขาบนผืนผ้าใบให้ผู้คนได้เห็น
สำหรับนวัตการได้ขายผลงานให้ชาวต่างชาติคือจุดเริ่มต้นให้เขาได้ซึมซับกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของผู้คนที่หลากหลายจนเกิดเป็นคำถามว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้โลกของเรามีสิ่งสวยงามซับซ้อน เขาคิดว่าประวัติศาสตร์ได้สอนเขาว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ทำให้สนใจในพฤติกรรมของผู้คนบนโลกที่กำลังกระทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจคาดเดาได้ โดยในปัจจุบันภาพวาดจำนวนร้อยกว่าชิ้นของเขาถูกจัดกระจายไปกับนักสะสมตามประเทศต่าง ๆ กว่า 20 ประเทศ
สุดท้ายคือDemian Factory ผู้ซึ่งเริ่มต้นฝึกวาดภาพสีน้ำมันด้วยตนเองเมื่ออายุ 15 ปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบทางศิลปะต่าง ๆ ทั้งอิมเพรสชั่นนิสม์ โพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ และเอ็กเพรสชั่นนิสม์ จนในปี พ.ศ. 2560 เดเมี่ยน ณัฐธวัช ได้หันมาสนใจศิลปะคิวบิสม์ เซอร์เรียลลิสม์ และลัทธิอื่นๆ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยเริ่มศึกษาจากผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบ เช่น ปิกัสโซ่ บราค มงเดรียนและมาเลวิช เดเมี่ยนเปนศิลปินมือรางวัลได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด PMAC World Art Contest เมื่อปี 2561 โดยหัวข้อที่เขามักหยิบยกมาวาดมักเปนเรื่องใกล้ตัวหรือสิ่งที่เขาสนใจ เช่น คนรัก, ดนตรีที่, ความเจ็บป่วย ไปจนถึงเรื่องราวทางพุทธศาสนา ทวยเทพเทวา และความเชื่อของคนไทย ปัจจุบันเขาเปิดสตูดิโอเล็กๆ และตั้งชื่อว่า Demian Factory ได้รับความนิยมจากนักสะสมต่างชาติ ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย โดยเฉพาะจีนเซี่ยงไฮ้ และ นักสะสมชาวฮ่องกง
ค่ำวันนี้เดินชมงานและสนทนากับท่านผู้มีใจรักภาพเขียน ทั้งรุ่นใหญ่อย่าง วินนี่ เดอะ ปุ๊ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นใหม่ อย่าง teteakape ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความงามของภาพ คิวบิสม์ ทรงเรขาคณิตภาพนี้ ซึ่งแลละม้ายคล้ายท่านท้าวเวสสุวรรณ กำลังทรงดนตรี ความแตกชิ้นส่วนของภาพนี้สร้างจินตภาพไปได้ไกลทั้งส่วนกลไก และสีสันลวดลาย
ตามที่เคยเล่าแล้วว่าท่านท้าวเวสสุวรรณนั้น ชื่อท่านแปลว่า พ่อค้าทอง บ่งนิยามความหมาย ว่าเปนผู้เก่งผู้กล้า และสามารถในวงการค้าขาย ครั้งหนึ่งท่านเสวยชาติเปนพ่อค้าน้ำอ้อย สีทองเจือน้ำตาลอ้อยที่มุมหนึ่งของภาพ อาจสอดคล้องตามนัยยะนี้ ในขณะที่โทนสีเขียวแดงนั้นชวนให้รฤกถึงเทศกาลคริสต์มาสซึ่งใกล้เข้ามา สีของวัน_เวลาแห่งความสุขรุ่งเรืองนี้คือสีแดงเขียว ผู้แทนของเทศกาลเปี่ยมสุขนี้ก็คือ ซานต้า ผู้มีลักษณาการอ้วนใหญ่ใจดีมีแต่ให้
ในความรำพึงถึงวัน_เวลาแสนสุขเหล่านั้น ท่านซานต้าก็เปนนักบุญอยู่เหมือนกัน ในนามกรว่า เซนต์ นิโคลาส คิวบิสม์ มีดีอย่างนี้ในการประสมรมธาตุ เอาส่วนเกร็ดกระจายวับวายวิบอันคล้ายผลึกสำคัญที่ตกตะกอนแน่ชัดเเล้วของบุคคลากรแต่ละท่าน ที่มีลักษณาการเชื่อมโยงเหมือนกันในอริยะบุคคล มาใส่ซ้อนเข้ามุมมองเปนมิติที่หลากหลายบนผืนผ้าใบ คิดได้ดังนี้ก็มีอันจำจะต้องจ่ายไปซึ่งความงามอันน่าพิศวงในงบประมาณเฉียดแสน !
ท่านผู้สนใจสามารถไปชมกันได้ที่ Mini Xspace ชั้น 2 ได้เลยภาพท่านท้าวเวสสุวรรณทรงดนตรี x Santa Clause ยังแขวนไว้ประกอบนิทรรศการแบ่งปันให้ผู้นิยมงานศิลป์ได้เสพสรร จนถึงวันที่ 30 กันยายนที่จะถึงนี้ จึงจะเข้ากรอบไม้และเก็บเข้าแกลลอรี่ส่วนตัวที่ mute studio56 แห่งเขาใหญ่