เรืองามๆของโลก 2 นักสราช

26 ก.ค. 2567 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 01:47 น.

เรืองามๆของโลก 2 นักสราช คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ทีนี้ก็กลับมาที่ว่าการจะชมกระบวนเรือประวัติศาสตร์ทำพยุหยาตราทางชลมารคมาตามลำน้ำเจ้าพระยานั้น นอกจากจะดูตัวเรือแล้วการดูเจ้าพนักงานในเรือทำงาน ก็น่าสนุกเพลิดเพลินไม่น้อย
 
เริ่มจากการแต่งกายของชาวเรือแต่ละลำเสียก่อน_ไม่มีเหมือนกันเปนอันขาด ชาวเรือเสือนั้น แต่งชุดเสือคล่องแคล่วสมกับเปนเรือพิฆาตสวมกางเกงผ้าขาวริ้วทางแดง คาดผ้ารัดประคดสีแดงดอกขาว สวมหมวกกลีบลำดวนสีแดงติดแถบเหลือง 
 
ในขณะที่เรือรูปสัตว์อื่นคนเรือใช้เสื้อเสนากุฎ หมวกสังกะสีลงยันต์ กางเกงริ้วทางน้ำเงิน รัดประคดแดงดอกขาว


 
ชาวเรือเอกไชยคู่ชัก ลู่ลมหน่อยสวมหมวกหูกระต่ายแดงขลิบลูกไม้ใบข้าว ใส่เสื้อขาวขลิบคอ ข้อมือเหลืองแดง กางเกงริ้วทางแดงรัดประคดแดงดอกขาวเหมือนกัน ชาวเรือแตงโมสวมหมวกหูกระต่ายน้ำเงินขลิบเหลือง ใส่เสื้อขาวขลิบคอข้อมือน้ำเงิน กางเกงผ้าพื้นสีน้ำเงิน รัดประคดน้ำเงินดอกขาว ชาวเรือพระที่นั่งแต่งกายรัดกุม ฝีพายทุกนายสะพายดาบปลอกไม้ลงรักแดงขัดไว้หลัง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยไปในเวลาเดียวกัน
 

อนึ่งว่าแบบธรรมเนียมการบังคับเรือพระที่นั่งล่องตามลำน้ำนั้น ท่านเคร่งครัดมากเรื่องการสื่อสารกันผ่านทางกรับ และพุ่มหางนกยูง คนสัญญาณที่หน้าเรือ, กัปตันเรือ, ฝีพาย, พันท้าย สื่อสารกันโดยอาณัติสัญญาณนี้เท่านั้น จะไม่มีการสื่อสารทางวาจาแก่กันเลย ด้วยเหตุที่ว่าตรงกลางเรือนั้นเปนบัลลังก์กัญญาทอดเปนที่ประทับ มารยาทของไทยเราไม่ตะโกนคุยกันข้ามหัวผู้อื่นฉันใด การสื่อสารที่มีลักษณะต้องพูดจากันข้ามสิ่งสำคัญสูงยิ่งกลางลำเรือก็มิบังควรปฏิบัติกันฉันนั้น
 
เจ้าพนักงานในเรือแต่ละนายจึงเปนทรัพยากรบุคคลที่มีค่ามากในความเปน multi -tusking human ที่ต้องจำกัดการสื่อประสาทสัมผัสที่คุ้นชิน มาพัฒนาทักษะประสาทสัมผัสอื่นไปด้วยอย่างผู้เจริญด้วยวัฒนธรรมอันสูง


 
คนเชิญธง ท่านเรียกว่า พวกนักสราช (นักสะราด)  ทำหน้าที่ถือคันธงท้ายเรือพระที่นั่ง ในอดีตนั้นพวกนักสราชต้องเก่งงานยิงธนู เพราะเดิมทีให้ประจำอยู่หน้าเรือพระที่นั่ง เพื่อยิงผู้ต้องสงสัยว่าจะเปนอันตรายต่อกระบวนเรือระหว่างเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค นักสราชจะสวมเสื้อผ้ามัสรู่ไหม นุ่งผ้าเกี้ยวลาย คาดผ้าโหมดเทศ สวมหมวกหูกระต่ายแดงติดลูกไม้ใบข้าว สวมถุงเท้ายาวสีขาว รองเท้าหนังสีดำ 
 

ในขณะที่ตำรวจหลวงรักษาพระองค์สี่ท่าน เมื่อลงเรือพระที่นั่งเปลี่ยนศาสตราวุธจากดาบมีกระบังเปนหอกยาว โดยสวมฝักหอกทองแกะสลักไว้ตลอดเวลา ไม่เปลือยฝักตามระเบียบการถวายความปลอดภัยแต่เดิม ซึ่งเปนที่ต้องทราบกันว่า การนำอาวุธไปในกระบวนเช่นนี้นั้นต้องให้มีลักษณะที่ไม่ประเจิดประเจ้อ แต่ให้สามารถนำออกใช้ได้ทันท่วงที ทั้งจะต้องจัดเตรียมห่อหุ้มป้องกันให้ปลอดภัยในการนำไปด้วย การนำอาวุธออกจากที่เก็บในขณะปฏิบัติหน้าที่อยู่เฉพาะพระพักตร์ จะกระทำได้ต่อเมื่อเปนที่ตระหนักแน่ชัดแล้วว่ามีเหตุการณ์ที่จะต้องใช้เกิดขึ้นหรือ’อาจจะ’เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ 
 
แต่ถ้าพิจารณาเห็นว่าในโอกาสใดจำเป็นที่จะต้องนำออก เพื่อเพื่อรับสถานการณ์ซึ่งไม่คาดฝัน ก็ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อน จึงกระทำได้ การใช้อาวุธอย่างใด เมื่อใด ท่านผู้ปฏิบัติหน้าที่มีหน้าที่จะต้องพิจารณาให้สมควรแก่เหตุและความจำเป็น ในโอกาสเดียวกันจะต้องทำการให้เปนผลดีในการป้องกันรักษาพระองค์และรักษาพระเกียรติยศด้วย
 
ส่วนมูลเหตุที่จะเสด็จพระราช ดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราทางน้ำนี้นั้น ก็เนื่องมาแต่ในสมัยก่อนยามที่ว่างศึกสงครามทางราชการก็จำเป็นที่จะต้องกะเกณฑ์เอาผู้คนมาฝึกการรบทางเรืออยู่แล้ว เพื่อรับมือให้พร้อมหากเกิดศึกเสือเหนือใต้
 
ผู้บัญชาการทหารเรือยุคกลางรัชสมัยรัชกาลก่อนเล่าว่า การอันนี้มักกำหนดกระทำกันในในฤดูน้ำ เพราะสะดวกแก่การฝึกทางเรือ บังเอิญว่าฤดูน้ำนี่ยังตรงกับฤดูที่ราษฎรว่างจากการทำไร่ไถนา การระดมผู้คนมาฝึกในระยะนี้จึงไม่ทำให้กระทบกระเทือนงานทำมาอาชีพของราษฎรมากนัก
 
อีทีนี้ระยะเวลาในฤดูน้ำนี่ก็ประจวบกับเทศกาลทอดกฐินพอดี ดังนั้นเพื่อมิให้ การฝึกข้อมไพร่พลเสียเวลาไปเปล่า ๆ องค์สมเด็จพระมหากษัตริย์จอมทัพจึงทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินตามพระอารามหลวงริมน้ำโดยตั้งกระบวนเปนกระบวนพยุหยาตราทำนองว่าเสด็จกรีฑาทัพเรือ


 
ครั้นเมื่อใด้กระทำไปแล้วก็เปนที่สบอัธยาศัยถูกใจของชาวประชาที่ถือว่าการทอดกฐินเปนงานสำคัญในทางพระศาสนา ส่วนบรรดาไพร่พลที่ถูกเกณฑ์มาเมื่อมีจังหวะได้เข้ากระบวนเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบในแม่น้ำนี้ก็ปลื้มใจอิ่มในบุญ กลายเปนที่นิยมและกระทำต่อเนื่องกันเรื่อยมาแม้จะหมดสมัยที่จะใช้เรือเหล่านั้นเปนเรือรบแล้วก็ยังคงไม่เลิกกระบวนเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้ากฐินโดยเรือรบโบราณเหล่านี้
 
ข้างนักประวัติศาสตร์ได้สันนิษฐานว่า ประเพณีที่พระมาหากษัตริย์ไทยเสด็จพระราชดำเนินไปตามท้องน้ำด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเปนราชธานี  โดยมีการกล่าวถึง กระบวนเรือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าที่สุด การจัดกระบวนเรือรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีศรีรัตนลังกา หลานพ่อขุนผาเมืองที่ได้ไปบวชเรียนอยู่ที่ลังกากลับสู่กรุงสุโขทัยสมัยพระเจ้าลิไท ข้างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อคราวเสด็จไปตีเมืองเมาะตะมะนั้นเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาทางชลมารค “โดยทรงให้พายเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อันทรงพระพุทธปฏิมากรทองนพคุณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุถวายพระนามว่า ‘พระพิชัย’ ออกไปก่อน แล้วเรือกระบวนหน้าทั้งปวงไปโดยลำดับ”
 
และอีกครั้งหนึ่งเมื่อคราวทรงยกทัพไปรับพระชัย นำกระบวนกันไปเปนสวัสดีมงคลตามขนบนิยม สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรสได้พระราชนิพนธ์พรรณนาความงามสง่าของกระบวนเรือตอนนี้ไว้ในหนังสือลิลิตตะเลงพ่าย ท่านผู้สนใจสามารถศึกษาต่อได้เอง


 
ลุมาถึงในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ปรากฎหลักฐานการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเรียกว่า “กระบวนเพชรพวง” ซึ่งเปนริ้วกระบวนที่ยิ่งใหญ่งดงาม จัดเปนสี่สายพร้อมริ้วเรือพระที่นั่งตรงกลางอีกสายหนึ่งใช้เรือไม่น้อยกว่าร้อยลำจากบันทึกของชาวต่างประเทศจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาเปน อาคันดูกะในครั้งกระนั้น  คราวนี้นิโคลาส แชร์ แวล์ บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสผู้หนึ่ง ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้บรรยายไว้ในหนังสือ ชื่อ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ถึงกระบวนพยุหยาตราชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจว่า “จะไม่สามารถเทียบความงามกับขบวนเรือที่มโหฬารมีเรือตั้ง ๒๐๐ ลำ โดยมีเรือพระที่นั่งพายเปนคู่ ๆไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้นใช้ฝีพายของพวกแขนแดงที่ได้รับการฝึกพายมาจนชำนาญทุกคนสวมหมวก เสื้อ ปลอกเข่า ปลอกแขน มีทองคำประกอบ เวลาพาพายจะพายพร้อมกันเปนจังหวะจะโคน พายนั้นก็เปนทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบน้ำเปนเสียงประสานไปกับทำนองเพลงยอพระเกียรติของพระเจ้าแผ่นดิน” 
 
นี่! กระบวนเรือก็ช่างงดงามถึงเพียงนั้นแม้จะเปนเพียงร้อยแก้วตัวอักษรบรรยาย ภาพความรุ่งเรืองในอดีตที่เรืองรองไปด้วยความปราณีตวิจิตรศิลป์ยังปรากฏเข้ามาในมโนสำนึกได้ถึงขนาดนี้
 
ลุมาถึงรัชกาลพระเจ้าตากสิน เรืองามๆถูกทำลายหายสิ้นไปในการสงครามเสียหมด เมื่อทรงกอบกู้เอกราชได้แล้ว จึงทรงเร่งให้สร้างเรือพระราชพิธีขึ้นสำหรับใช้ในราชการศึกสงความ จะเห็นได้จากหมายรับสั่งครั้งกรุงธนบุรี ในการพระราชพิธีสมโภชรับพระพุทธปฏิมาพระแก้วมรกตซึ่งอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์และแห่มาพักไว้ที่กรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา มีข้อความในหมายรับสั่งพรรณนากระบวนเรือที่แห่มาจากต้นทางว่า รวมเรือแห่ทั้งปวง ๑๑๕ลำ และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปสมทบที่พระตำหนักบางธรณีกรุงเก่า ความว่า มีเรือแห่มารวมกันเปนจำนวนถึง ๒๔๖ ลำ


 
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีกฐินพยุหยาตราชลมารคมาแต่รัชกาลพระพุทธยอดฟ้าฯซึ่งนอกจากจะมีกระบวนหลวง ซึ่งจัดเปนพยุหยาตรากรีฑาทัพเรืออย่างโบราณแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎร์ยังได้ตกแต่งเรือด้วยลักษณะต่าง ๆ เช่น ทำเปนจระเข้ เปนปลา เปนสัตว์ต่าง ๆ มาสมทบเข้ากับกระบวนด้วย ท่านว่าเรือบางลำก็มี วงปี่พาทย์และการละเล่นต่าง ๆ ไปในเรือด้วยต่อมารัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้แต่งเรือกระบวนยาตราอย่างยิ่งใหญ่เสด็จไปถวายผ้าพระกฐิน มีเรือพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทแต่งเปนรูปต่าง ๆ เข้ากับกระบวนเช่นในรัชกาลพระราชบิดา
 
ในรัชกาลต่อมายังมีการจัดกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่บ้างอย่างน้อยบ้าง ไปถวายผ้าพระกฐินสืบต่อกันเรื่อยมา แม้ต่อมาจะพ้นยุคสมัยที่จะใช้เรือโบราณเหล่านี้รบทางแม่น้ำกันแล้ว ท่านก็ยังคงรักษาเรืองามๆเหล่านี้ไว้สำหรับพระราชพิธี เช่น เสด็จเลียบพระนคร และเสด็จตามโบราณราชประเพณีเรื่อยมา