ปลวก!!! ปลวก_เปนสัตว์ภัยของคนรักหนังสือ การเคลื่อนที่ของปลวก แทะหาของกิน จนถึงการสร้างรังจนเปนจอม และการพะเน้าพะนอราชินีปลวกผู้ผลิตประชากรหมื่นแสนล้านในพริบตา เปนเรื่องดีในสายตานักธรรมชาติวิทยา ผู้ยืนยันว่า ไม่มีปลวกสักอย่าง ต้นไม้ใบหญ้าบนภูเขาคงจะกองพะเนินเทินทึกยามว่าต้องสายลมร่วงกราว และเห็ดป่าเห็ดปลวกที่เอร็ดอร่อยเกิดให้กินฟรีในป่าก็จะหายหดอดกินกันหมด!
ก็ ไม่อยากจะทำความเข้าใจในคำอธิบายแห่งท่านแม้สักน้อย ค่าที่ว่าอีปลวกกัดหนังสือนี้นั้นมันเหยียบย่ำหัวใจคนรักและนักอ่าน (รวมไปถึงนักเขียนด้วย) สัตว์พิลึกชนิดนี้มันคอยแทรกคอยซึมเดินสายทำทางมาเขมือบกัดเขมือบกิน ตำราและประดาสมุดหนังสือ ให้พินาศฉิบหายสิ้น บางเล่มเหลือไว้แต่เพียงปก ข้างในกลวงเปล่า !
โบราณกาลท่านรู้ฤทธิ์ของปลวกดี จึงมีวิธีหลากหลายรับมือ หนึ่งในนั้นคือ ทำหอเก็บหนังสือไว้กลางน้ำ สะพานข้ามน้ำไปหอก็ไม่ทำ กระเดี๋ยวปลวกเดินสายตามแนวสะพานเลาะขึ้นไปบนหอบุกเข้ากินหนังสือได้ก็เสร็จกัน ท่านใช้เรือพายไปแทน ส่วนบันไดถาวรท่านก็ไม่ทำ ใช้บันไดชักเอากลัวปลวกไต่มากับบันไดอีก_น่าปวดหัว
แต่ทว่าในความปวดหัวนี้นั้น ก็กลับเกิดเปนสถาปัตยกรรมงามงดอย่างหนึ่งขึ้นมาเรียกกันว่า “หอไตร” หรือว่า หอ(ใส่)พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกอันเปนคัมภีร์จารจดพระธรรมคำสอน ซึ่งมีค่าควรเมืองหนึ่งในสามของพระรัตนตรัย สมควรได้เก็บไว้ให้ปราศจากภัยปลวกมอดมดแมลงบ่อนทำลาย สร้างกลางน้ำก็มี สร้างกลางดินก็มาก โดยบางที่เอาน้ำหล่อเสาไว้ งานหอไตรสวยๆมีทุกภาคในประเทศไทย แยกออกเปนคำขนานนามตามรูปทรงหอ ว่า
- หอไตรทรงคฤห์ (หลังคาจั่วแบบบ้านคน)
- หอไตรทรงโรง (หลังคาจั่วมีชายรอบ)
- หอไตรจตุรมุข มีหน้าหอสี่ด้าน
- หอไตรทรงมณฑป ยอดแหลม
- หอไตรทรงปราสาท และเครื่องยอด
แยกตามวัสดุก่อสร้างที่แตกต่างกันต่อไปอีก ว่าถ้าสร้างด้วยไม้ก็เรียกเครื่องไม้ แต่ถ้าสร้างด้วยปูนก็เรียกเครื่องก่อ ถ้าผสมระหว่างเครื่องก่อและเครื่องไม้ (ครึ่งตึกครึ่งไม้)!
หอไตรสวยๆ มีเช่นที่ วัดทุ่งศรีเมือง อุบลฯ วัดสันกำแพง เชียงใหม่ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี วัดหลุก ลำพูน วัดป่าแดด แม่แจ่ม วัดนกออก ปักธงชัย วัดใต้ต้นลาน พนัสนิคม วัดพลับ บางกะจะ หอไตรบ้านขุหลุ อุบลฯ วัดบ้านด่าน หัวไทร วัดจีบประดิษฐ์ ร่อนพิบูลย์ วัดโคกมะม่วง นราธิวาส หอไตรวัดสระ ยโสธร หอไตรวัดฉางข้าวน้อย วัดสันดอนรอมและ วัดมหาวัน ลำพูน
ในกรุงเทพเรานี้ หอไตรสวยงาม อยู่ในวังสวดผักกาด ท่านเจ้าของวังทำผาติกรรมมาจากอยุธยา ใช้เปนที่สงบสัปปายะแห่งท่านเรื่อยมาจนบัดนี้ทำเปนที่พิพิธภัณฑ์ ส่วนที่แม่กำปองนั้นหอไตรกลางน้ำมีหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่บรรพชนคนแม่กำปองทำอุโบสถทำโบสถ์กลางน้ำตกเสียเลย_สวยจับใจ ชื่อใหม่ว่าวัดคันธาพฤกษา ส่วนที่แม่แจ่มมีน้ำออกรูหิน โบสถ์ไม้กลางแอ่งนั้นเปนไม้ทั้งหลังก็แต่งสีสวยงามยิ่งกว่างามชื่อวัดพุทธเอ้น หอไตรนี้ ทางฝรั่งมังค่าก็มีอยู่เรียก scripture library เก็บคัมภีร์ความรู้ต่างๆ ใช้นั่งทำงานทางอักษรศาสตร์ศึกษาดวงดาวได้งานวิทยาศาสตร์อีกด้วยที่สวยงามเปนอมตะมากๆ คือ หอไตร_เอ้ย_Library แห่งกรุงปร้ากชื่อ Klementinum อยู่มาไม่ต่ำสามร้อยปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
โดยเปนส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Jesuit ได้รับการยกย่องว่าเปนงานสถาปัตยกรรมสไตล์บาโรกที่สวยงามยิ่งของโลก บรรจุหนังสือกว่าสองหมื่นเล่มส่วนใหญ่อยู่ในสาขาเทววิทยา รวมถึงหนังสือหายากจากทั่วโลก เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐเช็กฯ, วรรณกรรมประจำชาติฉบับพิมพ์ครั้งแรก มีห้องอ่านหนังสือและหอดูดาวที่ต้องตะกายขึ้นไปดูเพราะสูงจัด ภายในตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังและภาพเขียนสีน้ำมันอย่างปราณีต แล้วอย่างงี้สมควรเหรอที่ปลวกจะมากิน !
ประดานักอนุรักษ์หนังสือ จึงเปนคู่อาฆาตคนสำคัญของปลวก และจะต้องยืมมือนักกีฏวิทยาผู้รู้ดีกว่าถึงพฤติกรรมของปลวกมอดมดแมลงทำลายหนังสือ ถามไถ่ได้คำตอบจากท่านแบบวิชาการมาว่า ต้องปิดทางเข้าออกของแมลงให้มากที่สุด จัดเก็บวัตถุหนังสือไว้ในตู้/ลิ้นชัก หรือใส่กล่องหรือถุงที่กันแมลงได้ (พลาสติกห่อหนังสือช่วยได้นิดหน่อย)
ปิดห้องให้มิดชิดมิให้แมลงบินหรือเล็ดลอดเข้ามาได้ อุดช่องว่าง_รอยแตกในผนัง พื้น และวงกบประดู หน้าต่าง เลือกใช้แต่วัลดุที่ทนทานต่อแมลงในการจัดแสดงหรือจัดเก็บหนังสือ เช่น ไม้อาบน้ำยา โลหะ พลาสติก ในบางกรณีต้องใช้สารเคมีทาหรือพ่นบนพื้นหรือเครื่องเรือนเพื่อสกัดกั้นการเคลื่อนที่ของแมลงใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่แมลงวางไว้ในบริเวณที่(คาดว่า)จะพบแมลง
เพื่อให้ทราบว่ามีแมลงชนิดใดบ้างอยู่อาศัยภายในอาคาร จะต้องมีการตรวจจับแมลงโดยใช้กับดักหรือเหยื่อล่อแล้วบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด และปริมาณของแมลงที่จับได้ในแต่ละห้วงเวลา เพื่อพิจารณาหาวิธีการป้องกันและกำจัดต่อไป!!
ปวดหัวหนักเข้าไปอีก!!
กลับมาที่ว่ากรณีหอไตรนั้น ท่านเก็บเอกสารสำคัญพระไตรปิฎกกันเอาไว้ในตู้พระธรรมอีกที ตู้พระธรรมใบงามๆ ต้องยกให้ตู้ครูวัด ลายเซิงหวาย เปนงานลงรักปิดทองฝีมือครูช่างสมัยกรุงศรี ได้มาจากวัดนางนอง ตู้นี้ที่ฝาทำลายทองเขียนตกแต่งอย่างสิ่งของเครื่องใช้ในพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา
ผู้คนในแวดวงศิลปกรรมลายรดน้ำล้วนรู้จักตู้พระธรรมใบนี้เปนอย่างดีเพราะเปนตู้ที่งดงามที่สุดเท่าที่มีอยู่ให้สาธารณชนได้เห็นลายทองที่เขียนนี้เปนลักษณะลวดลายซ้อนเปนชั้นๆเหมือนกับ ‘เซิงหวาย’ ที่อยู่ในป่า
ในส่วนของคำว่า ‘ช่างวัด’ / ‘ครูวัด’ ก็เปนคำบอกระดับชั้นฝีมือ ในอดีตช่างฝีมือชั้นครูจะอยู่ที่สำนักในวัดต่างๆ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการเล่าต่อกันมาว่า ต่อมาอาจเรียกรวบเปนตู้ครูวัดเซิงหวายการเขียนลวดลายที่ว่างามนั้น เพราะ การออกแบบลวดลายทั้งหมดของตู้ช่างจะทำให้ออกมาจาก ‘เถาวัลย์’ ต้นเดียวกัน จึงเปน ‘ลายกนกเครือเถาวัลย์’ แล้วเลื้อยคดเคี้ยวซ้ายขวาขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มไม้ จำลองสภาพผืนแผ่นดินไทยที่มีผืนป่าไม้อุดมสมบูรณ์โดยผ่านสายตาช่างครูผู้ศิลปิน
นอกนี้ยังเปนเครื่องบ่งชี้ว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีความรุ่งเรืองมาก มีทองคำมากมายที่จะนำมาปิดชิ้นงาน ตัวลวดลายสัตว์ต่างๆ อยู่บนยอดพุ่มไม้ อาจชี้ว่าบ้านเมืองมีความสงบสุข จนประดาสล่าช่างศิลป์ไม่ต้องเตรียมซ้อมออกรบ มีเวลาเหลือพอจะสรรสร้างรังสรรค์ ผลงานศิลปะที่ละเอียดละออ วิจิตรงามงดเช่นนี้ได้
อนึ่งตู้ไทยของโบราณมักปิดทองแลเขียนลายแต่ ๓ ด้าน ด้านหลังเปนแต่ลงรักหรือทาสี การที่จะใช้ใส่หนังสือท่านได้คิดแก้ทางโดยติดบานกระจกเปิดข้างด้านหลังให้แลเห็นสมุดในตู้นั้นได้ โดยไม่ต้องจับทางข้างบานตู้ให้ลายทองเปื้อนมือมัวหมอง ส่วนหอไตรกลางน้ำบางหอ ทำสะพานข้ามน้ำไปแต่สะพานไม่ติดกับเรือนหอไตร เว้นวรรคไว้ ให้พระกระโดดขึ้นหอ แต่ไป ส่วนปลวกกระโดดไม่ได้ ไต่มาตามสะพานพอสุดทางก็จบเกมส์ 55
ดังได้เรียนแล้วว่าตู้พระธรรมสร้างขึ้นเพื่อพิทักษ์พระไตรปิฎก โดยธรรมเนียมจึงในตู้มีชั้นวาง 3 ชั้น
ไม่มีการตกแต่งลวดลายโดยนิยมแค่ลงรักแดงทึบ ชั้นบนสุดไว้สำหรับเก็บพระอภิธรรมปิฎกเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนชั้นที่ 2 สำหรับพระสุตตันตปิฎกว่าด้วยเรื่องพระธรรมเทศนา และชั้นล่างสุดเกี่ยวกับพระวินัย
ตู้แปลกๆฝ่ายตู้พระธรรมมีคำว่า ‘ตู้ทรงอายัด’ ซึ่งลักษณาการเปนตู้ลายรดน้ำทรงขาหมูมีลิ้นชักวาดภาพพระนารายณ์และภาพสัตว์ลายกนกโดยฝีมือช่างสมัยธนบุรี ตามประวัตินั้นแต่เดิมตู้ใบนี้อยู่ที่วัดโพธิ์ชัย จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อครั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จไปตรวจราชการเมืองสุพรรณบุรีได้ทอดพระเนตรเห็นความสวยงาม จึงทรงรับมาตั้งไว้ที่ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย วันหนึ่งพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดพระเนตรและมีพระราชกระแสรับสั่งอายัดไว้แก่กรมพระยาดำรงฯ ว่าอย่าให้แก่ใครไปเสียจึงได้เรียกตู้ใบนี้ว่า ตู้ทรงอายัด นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ข้างฝ่ายความนับถือในพระพุทธศาสนานั้นเจดีย์มี 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกะเจดีย์ ดังนั้นการสร้างตู้พระไตรปิฎกหรือตู้พระธรรม รวมทั้งหอไตรจึงเปรียบเหมือนการสร้างเจดีย์อย่างหนึ่งเพื่อพิทักษ์พระธรรมซึ่งเปนองค์ประกอบสำคัญตามพระศรีรัตนตรัยได้อย่างวิเศษ