จริยธรรมคืออะไร

15 ส.ค. 2567 | 22:35 น.

จริยธรรมคืออะไร ขอชื่นชม ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ยกระดับ มาตรฐานจริยธรรมมาแก้ปัญหาบ้านเมือง คอลัมน์ สังฆานุสติ โดย บาสก

ตามที่ผู้คนพูดกันจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดาคือ ปัญหานักการเมืองทุจริต ไม่ซื่อสัตย์ แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน และหมู่คณะโดยไม่ชอบ แบบหมดหวังเพราะมองไม่เห็นองค์กรใดจะมาแก้ปัญหาหมักหมมในประเทศได้นั้น

ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความหวังแล้วที่พิพากษา ให้นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่ง เพราะขาดจริยธรรมร้ายแรง คำพิพากษานี้ สร้างความเจ็บปวด แก่อดีตนายกรัฐมนตรี แต่สร้างความพึงพอใจแก่สาธารณชนว่ามีองค์กรหนึ่งพึ่งได้

จากการที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เนื่องด้วยคดี ที่ 40 อดีตสว. ร้องให้วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนาย เศรษฐา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 ( 4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ จากการที่ได้แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ที่ทุกคนรู้ว่ามีปัญหามาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ศาลวินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ควรรู้แล้วว่าบุคคลที่เขาตั้งเป็นรัฐมนตรีนั้น มีลักษณะต้องห้าม ไม่อาจอ้างได้ว่าไม่รู้ จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 อนุมาตรา 4 เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

"จริยธรรมคืออะไร"

ผมขอหยิบยก ความเป็นมาและความหมายของจริยธรรม มาเล่าสู่กันฟัง ตามข้อมูลที่อาจารย์เสฐียร พันธรังษี ราชบัณฑิต และอดีตนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้อธิบายเรื่องจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์ไว้ และมูลนิธิเสฐียร พันธรังษี จัดพิมพ์ เมื่อ 3 มิถุนายน พ.ศ.2548

ผมอ่านจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยกมาเป็นข้อๆ เทียบกับจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์เห็นว่าไม่ต่างกันมากนัก

จริยธรรม มีชื่อเรียกหลายอย่าง คือเรียกว่า ศีล, ธรรมะ, มารยาท, ความประพฤติ, จรรยามารยาท, จรรยาบรรณ หรือจริยธรรม แต่ตามความหมายของภาษา คำเหล่านี้ใช้ได้โดยมีความมุ่งหมายเป็นอย่างเดียวกัน

มีคำที่สับสนระหว่างกัน คือคำว่า จรรยาบรรณ กับคำว่าจริยธรรม คำนอกนั้นดูจะไม่มีปัญหา เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาพึงเข้าใจดังนี้

จรรยาบรรณ (จรรยา+บรรณ) แปลว่า หนังสือว่าด้วยเรื่องความประพฤติ

จริยธรรม (จริย+ธรรม) แปลว่า ธรรมะอันบุคคลพึงประพฤติ

คำเหล่านี้ ความหมายไม่แตกต่าง ความแตกต่างกันมีอยู่ระหว่างผู้ใช้ คือต่างฝ่ายต่างใช้ เช่น

สมาคมแพทย์ ใช้คำว่าจรรยาแพทย์

สมาคมนักข่าว ใช้คำว่าจรรยาบรรณของนักข่าว

นักกฎหมาย ใช้คำว่าจริยธรรมของตุลาการ

สมาคมหนังสือพิมพ์ ใช้ว่าจรรยามารยาทของนักหนังสือพิมพ์

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ทรงใช้คำว่า ธรรมะของหนังสือข่าว

สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ใช้ว่าจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์

ส่วนฝรั่ง ใช้ 2 คำ คือ Code of ethics หรือ Canon of ethics

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปอ.ปยุตฺโต) ให้ความหมายว่า จริยธรรม ธรรมะคือความประพฤติ ธรรมะคือการดำเนินชีวิต หลักความประพฤติ หลักการดำเนินชีวิต

1. ธรรมะที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ศีลธรรม หรือกฎศีลธรรม (ความหมายตามบัญญัติสมัยปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้จริยธรรม เป็นคำแปลสำหรับคำภาษาอังกฤษว่า ethics

2. จริยะ (หรือจริยธรรม) อันประเสริฐเรียกว่าพรหมจริยะ (พรหมจริยธรรมหรือพรหมจรรย์) แปลว่าความประพฤติอันประเสริฐหรือการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐหมายถึงมรรคมีองค์ 8 หรือศีลสมาธิปัญญา

อย่างไรก็ตามการมีจริยธรรม ก็คือมีสิ่งเชิดชูตนเองถึงความมีศักดิ์ศรี และปฏิญาณแห่งวิชาชีพแห่งตน หรือหมู่คณะ

ส่วนผู้ที่มีจริยธรรมบกพร่อง หรือประเภทที่รู้แล้ว ฝืนทำ หรือจงใจทำ เช่น ยังไปคบหาสมาคมกับคนที่ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพลหรือผู้มีความประพฤติ หรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสีย อันอาจกระทบต่อความศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่

และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น เขาไปตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จึงชื่นชมศาลรัฐธรรมนูญ ที่พิพากษา ถูกใจชาวประชายิ่งนัก