กลโกงในยุคนี้ของเมียนมา

11 มิ.ย. 2566 | 22:30 น.

คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา กลโกงในยุคนี้ของเมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อสองอาทิตย์ก่อนที่ผ่านมา ผมได้รับข้อความจากแฟนคลับของรายการ Good morning Asian ส่งเข้ามาสอบถาม ท่านชื่อคุณปรีชา จากเขตคลองเตย กรุงเทพมหานครนี่เอง ท่านได้ส่งข้อความมาว่า “ได้ไปลงทุนในประเทศเมียนมา ในช่วงที่มีการปฎิวัติที่ผ่านมา ผู้จัดการคนเมียนมาที่เคยได้รับการไว้วางใจ ได้ยึดเอาสินค้าของบริษัทไปเป็นของตนเอง สืบทราบมาว่า เขายังดำเนินธุรกิจต่อในนามของบริษัทเราด้วย มีทางทำอะไรได้บ้างครับ 55555” ท่านยังหัวเราะออก แสดงว่ายังไม่เครียดมาก อาทิตย์นี้ผมเลยตอบไปว่า แล้วผมจะโทรศัพพ์ไปหานะครับ ขอให้เตรียมเอกสารหลักฐาน และใบสำคัญต่างๆ ให้พร้อม เพื่อจะได้ให้คำปรึกษาได้ตรงประเด็นครับ

จากนั้นช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี หลังจากจบรายการ ผมก็โทรศัพท์ไปพูดคุยด้วย และหลังจากได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ เสร็จ ผมจึงขออนุญาตคุณปรีชาว่า ผมขอนำเอาเรื่องราวนี้ มาเขียนลงในบทความในคอลัมน์ โดยเรียนท่านไปว่า ผมจะไม่เปิดเผยชื่อของตัวละครทั้งหมด จะพยายามใช้นามสมมุติ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการอีกหลายท่าน ที่ประสบกับปัญหาในลักษณะเดียวกัน

ซึ่งคุณปรีชาก็ใจดีมาก ได้กรุณาอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ อีกทั้งยังบอกว่า ให้ใช้ชื่อจริงและบริษัทจริงไปได้เลย เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่ผู้ประกอบการไทยในอนาคต เพราะเชื่อว่าคงจะมีอีกไม่น้อย ที่จะถูกปฎิวัติยึดอำนาจ(บริษัท)จากลูกน้อง ที่เราทั้งรักทั้งชัง เอาบริษัทของเราไปเป็นของตนเอง แต่ผมก็คงยืนยันว่า ควรใช้นามสมมุติจะดีกว่า เพราะป้องกันความวุ่นวายและความเสียหายที่จะตามมาสู่ตัวท่านในอนาคตครับ

เรื่องของคุณปรีชามีอยู่ว่า บริษัทของท่านได้ผลิตสินค้าออกมาชนิดหนึ่ง ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทท่านมาก จนตัดสินใจที่จะโกอินเตอร์ ไปยังอาเชียนอีกหลายประเทศ ท่านจึงดำเนินการรับพนักงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ในแผนกต่างประเทศหลายชาติหลายคน หนึ่งในนั้นก็มีชาวเมียนมาด้วย ซึ่งในประเทศต่างๆ หลายประเทศ ท่านก็ไปเปิดตลาดที่มีทั้งการให้บริการด้านการขาย ที่ส่งออกสินค้าไปประเทศนั้นๆ และไปตั้งศูนย์บริการหลังการขายในประเทศเหล่านั้นด้วย หลังจากนั้นบริษัทก็ได้รับนายหม่อง หม่อง โกง (นามสมมุติ)เข้ามาทำงาน นายคนนี้ก็ขยันขันแข็ง เพราะเขาเรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังในประเทศไทย อีกทั้งด้วยหน้าตาและลักษณะโหงวเฮ้ง ก็ไม่น่าจะมีการขี้โกง ท่านจึงให้ใจเด็กคนนี้มาก อีกทั้งยังรับปากว่า ในอนาคตหากมีการลงทุนในประเทศเมียนมา ก็จะโปรโมทเขาให้มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีขึ้น

ต่อมาก่อนเกิดปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 สักประมาณสามปี คุณปรีชาจึงเข้าไปดำเนินธุรกิจในประเทศเมียนมา และหนีบเอาเจ้าหม่อง หม่อง โกง นี้เข้าไปด้วย ในช่วงที่เข้าไปนั้น คุณปรีชาได้ว่าจ้างบริษัทกฎหมายชั้นนำของโลก เป็นตัวแทนในการจดทะเบียนบริษัทให้ แต่ทางสำนักงานกฎหมายแจ้งว่า คนต่างชาติไม่สามารถใช้ชื่อตนเองถือครองบริษัทได้ (ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าเป็นบริษัทการให้บริการสามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ) คุณปรีชาจึงใช้ชื่อนายคนนี้ไปจดทะเบียนในนามของเขา แต่ก็ใช้สัญญากู้ยืมเงิน มาเป็นประกันไว้ โดยในสัญญานั้นระบุว่าจะชำระหนี้คืนด้วยการโอนหุ้นบริษัทให้ ผมเองก็งงๆ กับความคิดของทนายความของสำนักงานทนายความนี้ครับ เพราะนั่นมีความเสี่ยงสูงมาก ถ้ามาปรึกษาผมก่อนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท คงไม่ต้องเสียเงินเสียทองเหมือนในขณะนี้แน่นอนครับ

หลังจากดำเนินธุรกิจไปได้ไม่นาน ก็เกิดปัญหาโรคระบาดโควิด-19  ทางบริษัทก็ยังคงดำเนินการไปได้เช่นเดิม การติดต่อสื่อสารระหว่างนายหม่อง หม่อง โกง ยังคงสามารถติดต่อได้ตามปกติ และยังมีการโอนเงินกลับมาบริษัทแม่ที่เมืองไทยได้ตามปกติ แต่สถานการณ์ในช่วงนั้น ยารักษาโรคโควิด-19 ที่ประเทศเมียนมา ขาดแคลนอย่างหนัก มีการเสียชีวิตของประชาชนอย่างมากมาย คุณปรีชาซึ่งมีความเป็นห่วงและรักลูกน้อง จึงเสนอให้นายหม่อง หม่อง โกง ที่เพิ่งจะได้แต่งงานในช่วงที่กลับไปอยู่ที่กรุงย่างกุ้งใหม่ๆ ให้กลับเข้ามาทำงานในประเทศไทย พร้อมทั้งอนุญาตให้พาภรรยามาด้วย

นายคนนี้ก็เสนอกลับมาว่า อยากจะนำญาติพี่น้องทั้งหมดสิบกว่าชีวิตมาด้วย คุณปรีชาก็บอกกลับไปว่า คงลำบากที่จะขออนุญาตได้มากขนาดนั้น เขาจึงได้ยกเลิกการเดินทางเข้ามาทำงานไป แต่พอเกิดการรัฐประหารของรัฐบาลปัจจุบันขึ้น เจ้าหม่อง หม่อง โกง ก็ได้เข้าไปร่วมขบวนการต่อต้านกับกลุ่มฝูงชน ที่เดินลงมาบนถนนประท้วง เมื่อเหตุการณ์บานปลายมากขึ้น รัฐบาลก็ออกมาปราบปราม กลุ่ม CDM ที่ประท้วงอยู่ ก็หลั่งไหลไปหลบภัยและฝึกอาวุธกับกองกำลังชาติพันธุ์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนายหม่อง หม่อง โกง ก็เข้าไปร่วมกับกลุ่มนี้ด้วย ทำให้การติดต่อระหว่างนายคนนี้กับทางบริษัทจึงเริ่มมีปัญหา เงินที่เคยโอนมาให้ก็เริ่มขาดหายไป คุณปรีชาจึงร้อนใจมาก พยายามติดต่อไปหลายครั้ง ก็ติดต่อไม่ได้ จนทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าคนนี้ คงจะล้มหายตายจากไปแล้วอย่างแน่นอน

จนกระทั่งต่อมาวันหนึ่ง พนักงานของบริษัทของคุณปรีชา ได้ไปพบ Facebook ของบริษัทตนเองในประเทศเมียนมาเข้า ก็รีบมารายงานให้คุณปรีชาทราบ จึงได้เริ่มเข้าไปสำรวจดู ปรากฎว่าความเลยแตก นายคนนี้ยังคงดำเนินการขายสินค้าคงคลังของคุณปรีชา ด้วยช่องทางออนไลน์อยู่เป็นประจำ ทำให้คุณปรีชาใจสลายเลยครับ เพราะอุตส่าห์รักและไว้ใจ เขากลับมาหักหลัง คงคิดว่าเจ้านายคงจะทิ้งบริษัทแล้วนั่นเองครับ

สิ่งที่คุณปรีชาเล่าให้ผมฟังนั้น ผมมีความเห็นว่า นายคนนี้คงจะเข้าไปร่วมขบวนการต่อต้านรัฐบาลอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่สินค้าทั้งหมด ก็อาจจะยังคงมีเหลืออยู่บ้าง เพราะเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ที่ไม่ใช่จะจำหน่ายจ่ายแจกได้ง่ายๆ ดังนั้นผมจึงแนะนำให้คุณปรีชา เดินทางเข้าไปพบกับทนายความ ที่เชี่ยวชาญด้านคดีทุจริต ยักยอกทรัพย์หรือ ฉ้อโกง เพื่อจัดการนำเอาบริษัทและสินทรัพย์กลับคืนมา 

ในขั้นต้นคุณปรีชาบอกผมว่า สินค้าอาจจะมีเหลือหรือไม่ ท่านก็ไม่ทราบได้ แต่ท่านได้ส่งคนไปดูโกดังที่ท่านเช่าไว้ สินค้าหายเกลี้ยง ท่านบอกว่า “เสียเงินไม่เท่าเสียใจ” ผมก็บอกให้ท่านใจเย็นๆ ลองเข้าไปหาทนายที่ผมแนะนำก่อน อย่าปล่อยให้คนร้ายลอยนวล สิ่งที่ทำได้ต้องรีบทำครับ นี่เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ และคนที่ไว้ใจคนง่ายๆ ครับ