ถอดบทเรียน.....วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน 2

19 พ.ย. 2566 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ย. 2566 | 23:10 น.

ถอดบทเรียน.....วิกฤติการศึกษาของไต้หวัน 2 คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงวิกฤติการศึกษา แต่ก็ยังไม่ทันได้สรุป หน้ากระดาษก็หมดเสียก่อน ครั้งนี้ผมจึงต้องขออนุญาตเล่าต่ออีกนิดหนึ่ง เพื่อให้จบสมบูรณ์นะครับ แม้ว่าสองอาทิตย์ที่ผ่านมา จะมีเรื่องราวการสู้รบกันในประเทศเมียนมาอย่างรุนแรงหลายพื้นที่ และมีเสียงเรียกร้องให้ผมช่วยเล่าสู่กันฟัง จากแฟนคลับเข้ามาก็เยอะมาก แม้แต่รายการวิทยุก็ส่งเสียงมา ให้ผมช่วยวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ฟัง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ผมก็คิดว่ายังพอรอได้ เอาเรื่องที่ค้างๆ ไว้ให้จบเป็นเรื่องๆ ก่อนดีกว่านะครับ เรื่องประเทศเมียนมา ไว้อาทิตย์หน้าผมจะวิเคราะห์เหตุการณ์ให้ฟังครับ โปรดติดตามอ่านกันนะครับ

ในยุคที่ท่าน เติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านได้ริเริ่มโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเริ่มจากปีค.ศ.1979 โดยเกิดจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศจีน จากการปกครองในระบบคอมมิวนิสต์ ที่ค่อนข้างจะเคร่งครัด สู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบเกิดขึ้น

ในยุคนั้นเป็นยุคที่กลุ่มนักศึกษาจากไต้หวัน ได้เริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศฟากฝั่งตะวันตกพอดี ซึ่งโดยส่วนตัวผมเอง ก็อยู่ในยุคนั้นเช่นเดียวกัน ผมจึงมีเพื่อนๆ ร่วมยุค ที่มีทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียน ได้เดินทางไปฝังตัวอยู่ในประเทศฝั่งตะวันตกเยอะมาก ซึ่งต่อมารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่กำลังต้องการกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) เข้าสู่ประเทศจีนด้วยเช่นกัน เขาจึงได้ใช้นโยบายชักจูงเอากลุ่มคนรุ่นนี้ เข้าไปลงทุนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่จูงใจคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ที่ให้มากจนยากจะปฏิเสธได้

อีกทั้งต้องยอมรับว่า คนไต้หวันซึ่งเป็นคนเลือดเนื้อเชื้อไขของคนจีนเกินร้อย อีกทั้งภาษาพูด-ภาษาเขียน ก็เป็นภาษาเดียวกันกับจีน แม้ตัวอักษรจะแตกต่างกันบ้าง แต่ก็สามารถใช้ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน จึงทำให้มีการไหลออกของมันสมองที่เป็นหัวกะทิล้วนๆ เยอะมากในยุคนั้น

ในยุคดังกล่าวนั้นภายในประเทศไต้หวันเอง สิ่งที่เป็นรายได้ที่เข้ามาสู่ประเทศ ที่เกิดจากการลงทุนในต่างประเทศ(จีนแผ่นดินใหญ่) แน่นอนว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจในไต้หวัน ได้เพิ่มตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ทำให้ไต้หวันในยุคนั้นจะทำอะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมด นี่ก็จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาประเทศ สังคม การค้า-การลงทุน และอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ถ้าเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  ก็เริ่มแข็งค่ากว่าทั้งสองประเทศดังกล่าว สิ่งที่ตามมาคือค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยอัตราเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ค่าแรงจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ก็วิ่งตามค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น จนรายได้โตไม่ทันรายจ่ายอยู่ดีครับ

เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าว จึงส่งผลให้การเลือกแสวงหาโอกาสในการประกอบอาชีพ จึงมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าปัจจัยที่มีผลต่อการแสวงหาอาชีพที่มั่นคง ย่อมมี “การศึกษา” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องพยายามแก่งแย่งชิงดีกัน เพื่อได้รับโอกาสทางการศึกษา เราจึงเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยที่เป็นดาวเด่น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เด็กๆ ต่างต้องแข่งขันกันเพื่อจะเข้าไปศึกษาให้ได้

ต่อมาไม่นาน เมื่อการแข่งขันเพื่อเข้าศึกษาเริ่มมากขึ้น จึงได้เกิดการขยายตัวของสถาบันการศึกษา จากเดิมในยุคที่ผมเรียนมัธยมปลายที่นั่น ได้มีสถาบันที่เป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา ที่มีทั้งระดับปวช. ที่เรียน 3 ปี และระดับปวส. ที่เรียน 5 ปีเยอะมาก สถาบันเหล่านี้มีการก่อตั้งขึ้นมา เพื่อรองรับนักศึกษา ที่ไม่สามารถเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีได้ อีกทั้งยังมีมหาวิทยาลัยเอกชน ก็เติบโตขึ้นมาเป็นดอกเห็ดเลยครับ

แต่วันเวลาผ่านไป สถาบันอาชีวศึกษาเหล่านั้น ก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัยกันเยอะมาก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเอกชน ก็ได้ยกระดับขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเช่นกัน ซึ่งยกระดับกันเกือบจะหมดสิ้นเลยละครับ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ถ้าเอ่ยถึงชื่อมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ขึ้นมา ผมเองก็ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ซึ่งทำให้ Demand กับ Supply ของการศึกษาไม่สมดุลกันเลย  จึงเป็นบ่อเกิดของวิกฤติการศึกษาของไต้หวันในปัจจุบันนี้ครับ

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากนโยบายส่งเสริมการศึกษาของไต้หวัน ในยุคที่ผมเรียนอยู่ อย่างที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไต้หวันแทบจะอุ้มนักเรียนลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ให้เดินทางกลับไปเล่าเรียนที่ไต้หวัน แต่ต่อมา เมื่อสภาวะเศรษฐกิจของไต้หวันเติบโตจนได้ที่ การพัฒนาของไต้หวันก็ไม่จำเป็นต้องมาโอบอุ้มนักเรียนต่างชาติกลับไปเรียนแล้ว เขาก็ลดนโยบายส่งเสริมดังที่กล่าวมา จนกระทั่งหดหายไปหมดสิ้นเลยครับ

พอเข้าสู่ยุคปัจจุบันนี้ การศึกษาเริ่มเข้าสู่วิกฤติอีกครั้ง จากนักเรียนในยุคนี้ เป็นกลุ่มที่เกิดในยุคของ Baby Boomer age นักเรียนก็ลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย อีกทั้งนักเรียนเองก็จะเลือกเรียนแต่เฉพาะกลุ่มสาขาวิชาที่มีอนาคต หรือไม่ต้องไปแข่งขันกันในตลาดแรงงานเป็นหลัก ส่วนสาขาวิชาที่การแข่งขันสูงมาก เขาก็ไม่อยากเลือกเรียนกัน จึงทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนแรงงานในบางสาขาวิชาชีพนั่นเอง 

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลไต้หวันจึงได้นำเอานโยบายส่งเสริมให้นักเรียนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนต่างชาติที่มีเชื้อสายจีนและไม่มีเชื้อสายจีน ให้กลับมาเล่าเรียนที่ไต้หวัน โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ลึกๆ เขาก็คงต้องการกลุ่มคนเหล่านั้น ลงหลักปักฐานกันที่ไต้หวันนั่นเองครับ จะเห็นว่าในช่วงที่ผมกลับไปเยือนไต้หวันในอาทิตย์ก่อน จะพบเห็นนักเรียนต่างชาติที่เป็นทั้งผิวสีเหลือง สีขาว สีดำมีหมดเลยครับ ก็แปลกตาแปลกใจไปอีกอย่างเลยครับ ส่วนจะได้ผลหรือไม่อย่างไร? ก็ไม่สามารถตอบได้ในปัจจุบันนี้ คงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตละครับ