โฉมหน้าการค้าชายแดนยุคใหม่

26 พ.ค. 2567 | 22:30 น.

โฉมหน้าการค้าชายแดนยุคใหม่ คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ท่านทูตพาณิชย์ไทยประจำเมียนมา ได้ส่งข่าวมาให้ผมทราบว่า ทางการเมียนมาได้ร้องขอให้ไทยเรา ช่วยปรับปรุงท่าเรือระนอง เพื่อรองรับการประกาศให้การขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือจังหวัดระนอง ให้เป็นการค้าชายแดน ซึ่งที่ผ่านๆ มา การค้าชายแดนทางช่องท่าเรือระนอง มักจะใช้เรือขนส่งแบบเทกอง (Bulk Carrier) ซึ่งไม่ได้ใช้เรือขนส่งขนาดใหญ่ด้วยตู้คอนเทนเนอร์มาก่อน เพราะนั่นจะทำให้โฉมหน้าการค้าชายแดนเปลี่ยนไปหรือไม่? บทความนี้คือคำตอบครับ

ด้วยเหตุการณ์ไม่สงบทางด่านชายแดนเมืองเมียวดี ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามที่พวกเราได้ทราบข่าวจากหน้าสื่อต่างๆ ทำให้การค้าชายแดนได้รับผลกระทบอย่างมาก แม้ว่าต่อมาการเจรจาระหว่างชนชาติพันธุ์กับทางฝ่ายรัฐบาลเมียนมา จะสามารถทำให้ความสงบกลับมาอีกครั้ง แต่รายระเอียดของข้อตกลงต่างๆ แม้เราจะไม่ทราบได้ เพราะไม่มีฝ่ายใดออกมาประกาศอย่างเป็นทางการ

แต่ก็ได้เห็นภาพจากการที่ฝ่ายกระเหรี่ยงบางฝ่าย ได้อนุญาตให้กลุ่มทหารจากค่าย 275 ที่ตกค้างอยู่ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่สอง กลับเข้าสู่กรมกองที่ฐานทัพได้อีกครั้ง และเหตุการณ์บินถล่มของเครื่องบินมิกซ์ 29 ก็ได้หยุดลง ต่อมาวันที่ 30 เมษายน สะพานมิตรภาพแห่งที่สองก็ได้เปิดให้ใช้อีกครั้ง หลังจากถูกปิดไปหลายวัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว เราก็พอจะเดาได้ว่า ได้มีการตกลงกันได้ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกระเหรี่ยงแล้วนั่นเองครับ

ต่อมาในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็ได้มีการวางระเบิดสะพานบนถนนที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างเมืองเมียวดีกับกรุงย่างกุ้งแห่งหนึ่งที่เมืองบิริน ทำให้สะพานที่สร้างด้วยเหล็ก เกิดความเสียหายหนัก แม้ภาครัฐเมียนมาจะออกมาเร่งรีบสร้างทางเบี่ยงเพื่อให้เส้นทางเดินรถกลับมาใช้ได้ชั่วคราวก่อน จากนั้นก็ได้ส่งกำลังเข้ามาทำการปรับปรุงสะพานใหม่ ซึ่งก็คาดว่าอีกไม่นานก็จะแล้วเสร็จก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นให้แก่กลุ่มพ่อค้าชายแดนไทย-เมียนมา ดังนั้นการหาช่องทางใหม่ไว้เป็นการสำรอง หากเกิดปัญหาอีกในอนาคต เพื่อจะได้ไม่ส่งผลทำให้การค้าชายแดนไทย-เมียนมาชะงักลงได้ จึงเป็นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าในอนาคตของรัฐบาลเมียนมานั่นเองครับ

อย่างไรก็ตามส่วนตัวผมเอง ผมก็เชื่อว่าการขนส่งของการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ก็ยังคงให้ความสำคัญของด่านแม่สอด-เมียวดีอยู่ เหตุผลที่ทำให้เส้นทางเมียวดี-แม่สอด มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่นั้น คือ

ประการแรก เส้นทางจากประเทศไทยที่เข้าสู่กรุงย่างกุ้งที่ใกล้ที่สุด อีกทั้งยังสามารถแยกกระจายสินค้าสู่ภาคกลางและภาคเหนือของเมียนมาได้ง่ายที่สุดด้วย ประการที่สอง การขนส่งสินค้าจากกรุงเทพฯ-แม่สอด เป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุดเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ เช่นกัน

ประการที่สาม การใช้เส้นทางทางบกจะสามารถเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งบนดินและใต้ดินได้ดีกว่าเส้นทางทะเล เพราะทางทะเลจะต้องส่งขึ้นบกที่ท่าเรือได้เท่านั้น ในขณะที่ทางบกจะไปทางไหนก็ได้ ประการสุดท้าย การขนส่งทางเรือจะต้องรอเวลานาน กว่าที่จะมีสินค้าเต็มลำเรือ อีกทั้งต้องใช้เวลาเดินเรืออีกเป็นอาทิตย์ กว่าจะเข้าสู่ท่าเรือย่างกุ้ง และเคลียร์สินค้าออกจากท่าเรือได้ ในขณะที่ทางบกโดยผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี ใช้เวลาเพียงสองวันสินค้าก็ส่งถึงย่างกุ้งแล้ว 

แม้ว่าการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทางเรือ จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความสูญเสียของสินค้า หรือถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ “ลดการช้ำของสินค้า” ในระหว่างขนส่งได้ อีกทั้งยังแก้ปัญหาเรื่องของมรสุมในช่วงฤดูฝนได้ แต่ความนิยมที่จะใช้เส้นทางขนส่งทางเรือ ไม่น่าจะมีมากกว่าทางบกอย่างแน่นอน เพียงแต่การขนส่งทางเรือที่ท่าเรือจังหวัดระนอง จะสามารถเป็นการลดปัญหา ในช่วงที่ทางด่านแม่สอด-เมียวดีมีปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น

แม้ช่องทางในการค้าชายแดนทางบกอื่นๆ มีให้เลือกอีกหลายช่องทาง เช่น ด่านแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก ซึ่งระยะทางอยู่ไกลจากกรุงย่างกุ้งมาก และจะต้องผ่านเขตอิทธิพลอีกหลายด่าน กว่าจะถึงเมืองมัณฑะเลย์หรือกรุงย่างกุ้ง ส่วนด่านสังขะบุรี-พระยาตองซู แม้จะไม่ไกลจากกรุงย่างกุ้งมากนักเมื่อเทียบกับแม่สอด-เมียวดี แต่ถนนหนทาง ยังคงไม่ค่อยสะดวก เพราะเป็นถนนเก่าและเล็กแค่สองเลนเท่านั้น 

อีกด่านหนึ่งคือด่านบ้านพุน้ำร้อน-ทีกิ เส้นทางของทีกิ-ทวาย ยังเป็นของเอกชนอยู่ จะต้องได้รับอนุญาตจากเอกชนก่อน ปัจจุบันนี้ยังไม่ได้ลาดยาง ดังนั้นในช่วงฤดูฝน ก็จะมีความยากลำบากพอสมควร อีกอย่างจะต้องวิ่งไปทางเมืองทวายแล้วต่อเข้าไปกรุงย่างกุ้ง ซึ่งก็ไม่ง่ายเลยครับ

ส่วนอีกด่านหนึ่งคือด่านสิงขร-มุเตา เส้นทางนี้แม้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่เส้นทางจะต้องลงไปที่เมืองมะลิดก่อน แล้วจึงนำลงเรือต่อไปยังกรุงย่างกุ้ง ดังนั้นเส้นทางนี้ หากจะใช้มาเป็นช่องทางการค้าชายแดน จะทำได้แค่ส่งสินค้าเข้าไปได้แค่ภาคใต้ของเมียนมา ที่เมืองมะลิดกับเมืองต่างๆ ของรัฐตะเหน่งดายี่หรือตะนาวศรีเท่านั้น แต่ถ้าใช้ในการนำเข้าสินค้าจากเมียนมาเข้ามาสู่ไทยเรา ก็จะมีสินค้าประมงทุกชนิด รวมถึงสินค้าเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพารา ที่มีปลูกมากที่รัฐนี้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ เท่าที่ทราบการนำเข้ามาขายในประเทศไทย ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการไทยอยู่ครับ

จะเห็นว่าแม้ทางการเมียนมาและการท่าเรือจังหวัดระนอง จะเปิดให้มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ มาทดแทนการขนส่งทางเรือแบบดั่งเดิม ซึ่งสามารถแก้ปัญหาความไม่สงบที่เห็นอยู่เฉพาะหน้าในปัจจุบันนี้ได้ แต่ในอนาคต ถ้าหากความสงบทางด่านแม่สอด-เมียวดีกลับมาสู่เมียนมาอีกครั้ง ความสำคัญของด่านแม่สอดก็จะยังคงเป็นทางเลือกอันดับแรกของผู้ประกอบการการค้าชายแดนอยู่ดีครับ