เมื่อวันก่อน ผมได้นั่งคุยกับเพื่อนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ที่มีอายุเลยวัยเกษียณมาแล้ว แต่เพื่อนท่านนี้ยังคงอยากที่จะใช้ความสามารถของท่าน มาทำงานช่วยเหลือสังคมอยู่ ซึ่งท่านก็บอกผมว่า ท่านชื่นชมผมที่ยังคงทำงานอยู่ไม่หยุด ทั้งๆที่อายุย่างเข้า 70 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งผมก็บอกท่านว่า ผมยังไม่ยากให้ความรู้ที่อยู่ในสมองผม ตายไปกับตัวผม โดยที่ยังไม่ได้ถ่ายทอดให้แก่ลูก-หลานและสังคม ซึ่งก็แนวคิดที่คล้ายๆกับความคิดของท่าน
อันที่จริงแล้ว ผู้สูงวัยหลายๆท่านที่พ้นวัยเกษียณไปแล้ว แต่ยังคงมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กระฉับกระเฉงเสมือนคนหนุ่มคนสาวทั่วไป ยังสามารถนำเอาความสามารถที่มีอยู่มาทำประโยชน์ได้ การใช้ผู้สูงวัยมาสรรค์สร้างเศรษฐกิจให้แก่สังคม ผมเชื่อว่าเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก จำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นผลจากการพัฒนาทางการแพทย์ ที่ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ยังเป็นผลที่มาจากการลดลงของอัตราการเกิด ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงทำให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว
การใช้ผู้สูงวัยมาแรงงานหรือเป็นผู้ประกอบการ ไม่เพียงแต่เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ยังเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ในสังคมอย่างคุ้มค่า โดยทั่วไปผู้สูงวัยมักจะมีประสบการณ์และความรู้ ที่สั่งสมมาจากการทำงานหรือการดำเนินชีวิต ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้ การที่สังคมสามารถนำประสบการณ์และความรู้ของผู้สูงวัย มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมและประเทศชาติเป็นอย่างยิ่งครับ
ในอดีตที่ผ่านมา ผู้สูงวัยมักถูกมองว่าเป็นภาระทางสังคม อาจจะเป็นเพราะว่าเนื่องจากความสามารถในการทำงานลดลง หรือบางท่านอาจจะต้องการการดูแลทางสุขภาพเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้นและ เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก ทำให้มนุษย์เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม อายุยืนยาวมากกว่าเดิม จึงทำให้การมองผู้สูงวัยในเชิงเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมที่เริ่มมีการตระหนักถึงความสำคัญของประสบการณ์ และความรู้ความสามารถที่ผู้สูงวัยมี ทำให้การใช้ผู้สูงวัยในการสร้างเศรษฐกิจ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้สูงวัยทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุ การสร้างงานที่เหมาะสมกับความสามารถของผู้สูงวัย หรือถ้าหากผู้สูงวัยมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีพอ ก็สามารถส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเป็นผู้ประกอบการของตนเองได้
ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เยอรมนี และในประเทศฝั่งยุโรปบางประเทศ ก็มีการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าทำงานในหลายภาคส่วน เช่น งานบริการ งานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ หรือแม้กระทั่งงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงวัยเอง ที่สามารถนำเวลาทำงานนั้น มาใช้คิดคำนวนเป็นคะแนนในการรับสวัสดิการทางสังคมได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนให้ผู้สูงวัยทำงานเป็นผู้ประกอบการ โดยมีโครงการฝึกอบรมและสนับสนุนทางการเงิน สำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า เขาได้นำเอาความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้สูงวัย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าการใช้ผู้สูงวัยในการสร้างเศรษฐกิจของสังคม จะมีประโยชน์หลายประการ แต่ยังมีความท้าทายและอุปสรรคหลายประการที่ต้องเผชิญอยู่ เช่น การปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย การสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงวัยเข้าทำงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคม ที่ยังคงมองว่าผู้สูงวัยเป็นภาระมากกว่าทรัพยากรที่ผู้สูงวัยมีอยู่ ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ คือการปรับปรุงสถานที่ทำงาน ให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย เนื่องจากผู้สูงวัยมักมีปัญหาทางกายภาพ เช่น การมองเห็น การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหวที่ช้าลง ทำให้การทำงานบางประเภท อาจเป็นเรื่องยากหรือเป็นอันตรายสำหรับพวกเขา การปรับปรุงสถานที่ทำงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของผู้สูงวัยได้อีกด้วย
อีกปัญหาหนึ่งคือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงวัยเข้าทำงาน แม้ว่าผู้สูงวัยหลายคนจะต้องการทำงานต่อไปหลังจากเกษียณอายุ แต่บางครั้งก็อาจรู้สึกว่าการทำงานต่อไปนั้น ไม่คุ้มค่า หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่า พวกเขายังมีคุณค่าและสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจได้ จะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้สูงวัยเข้าทำงานมากขึ้น และไม่ทำให้การใช้ชีวิตในบั้นปลาย อย่างว่างเปล่า หรือผ่านไปอย่างไม่มีความหมาย แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีผู้สูงวัยบางคนที่คิดว่า “ฉันก็ทำงานหนักมาทั้งชีวิต ก็ควรจะได้พักผ่อนในบั้นปลายบ้าง” ซึ่งในขณะที่บางครั้งการพักผ่อนนั้น อาจจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลงไป การมีงานทำโดยเหมาะสม ผมก็ยังเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการช่วยส่งเสริมสุขภาพ ให้มีพละกำลังที่ดีขึ้นก็ได้
อย่างไรก็ตาม การใช้ผู้สูงวัยในการสร้างเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำได้โดยปราศจากการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรต่างๆของรัฐบาล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน โดยอาจมีการปรับปรุงกฎหมายแรงงานให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย หรือการออกนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่รับผู้สูงวัยเข้ามาทำงาน หรือการสนับสนุนด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน หรือการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน สำหรับผู้สูงวัยที่ต้องการทำงาน ก็จะทำให้มีการจ้างงานหรือตำแหน่งงานมากขึ้นในองค์กรเอกชน เฉกเช่นการจ้างงานบุคคลทุพพลภาพ ที่มีกฎหมายกำหนดให้องค์กรใหญ่ๆ ต้องรับเข้ามาทำงานตามสัดส่วนนั่นเองครับ
นอกจากนี้ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน ยังมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย การฝึกอบรมและพัฒนาทักษะใหม่ๆให้กับผู้สูงวัย เพื่อให้สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ รวมถึงการสร้างโครงการและกิจกรรม ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้สูงวัยในภาคเศรษฐกิจ
การใช้ผู้สูงวัยในการทำงาน เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างเสริมสุขภาพของผู้สูงวัย ยังเป็นการทำให้ผู้สูงวัยมีชีวิตบั้นปลายอย่างมีคุณค่าและมีความสุข การมองผู้สูงวัยในเชิงเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆ ในการใช้ประสบการณ์และความรู้ของผู้สูงวัย ผมเชื่อว่าเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของสังคมไทยเราได้ครับ