เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เขียนเรื่องโรคไตเรื้อรังในผู้สูงอายุ โดยได้เขียนถึงคนใกล้ชิดของผมคนหนึ่งได้มีอาการดังกล่าว แต่ด้วยความที่ไม่ได้มีอาการแสดงออกมาให้เห็นมาก่อน แต่พอมารู้อีกที ก็ทำให้ผมและครอบครัวต้องเสียใจกับการจากไปของน้องสาวลูกผู้น้องของผมคนนี้เสียแล้ว
น้องสาวลูกผู้น้องของผมคนนี้ เป็นลูกสาวของน้าชายผม เธอได้มาช่วยผมทำงานที่บริษัทของผมนานกว่าสามสิบปี โดยมีหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัทผลิตข้าวสาร ที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร เมื่อครั้งปีพ.ศ. 2556 หรือเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา เธอกับเพื่อนที่ทำงานที่โรงงานอีกสองท่านได้ไปตรวจร่างกาย โดยผลของการตรวจร่างกายในครั้งนั้น คุณหมอบอกว่าเธอมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็ง เพื่อนที่ไปด้วยกันที่พอทราบว่ามีความเสี่ยงสูง ก็ได้ไปตรวจรักษาอย่างต่อเนื่องทันที จนกระทั้งอาการได้หายขาด ในขณะที่น้องสาวผม เธอไม่ยอมไปทำการตรวจรักษาต่ออีก คงด้วยไม่สะดวกใจที่จะไปตรวจรักษา และไม่ยอมบอกให้ผมรู้ด้วย จนกระทั้งเมื่อสองเดือนก่อน ได้มีอาการซูบผอมลงอย่างรวดเร็ว จึงได้ไปพบแพทย์และตรวจร่างกาย แต่ก็สายไปเสียแล้ว เพราะมะเร็งปากมดลูกได้เข้าสู่ระยะสุดท้ายเสียแล้ว จนกระทั้งวันพุธที่ 28 ที่ผ่านมา หลังจากที่ผมไปเยี่ยมเธอที่โรงพยาบาล หลังจากกลับมาถึงออฟฟิต เธอก็จากไปเสียแล้วครับ
สิ่งที่เธอได้มีอาการของโรคมะเร็งตามมาด้วยโรคไตเรื้อรัง เป็นการเผชิญกับโรคซ้ำซ้อนในผู้สูงวัยซึ่งมักจะไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโรคนั้นไม่ได้มาเพียงโรคเดียว แต่มาเป็นแพคเก็จทั้งโรคไตเรื้อรังและมะเร็งปากมดลูก เป็นสองภาวะที่มักพบในผู้สูงวัย ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อกันและกัน ทำให้การรักษาและการดูแลซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การรักษาของแพทย์ยากเกินความสามารถยื้อชีวิตได้
การเชื่อมโยงระหว่างมะเร็งปากมดลูกและโรคไต ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่มีอายุมาก การรักษามะเร็งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อการทำงานของไตได้ การฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งสำหรับมะเร็งปากมดลูก อาจทำให้ไตได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไตอยู่ใกล้กับบริเวณที่ทำการรักษา นอกจากนี้ การเกิดพังผืด (fibrosis) จากการฉายรังสี อาจทำให้ท่อไตถูกกดทับ ส่งผลให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ และนำไปสู่การเกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ครับ
ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษามะเร็งปากมดลูกที่มีผลกระทบต่อไต การรักษาไม่ได้จำกัดเฉพาะการฉายรังสีเท่านั้น การใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อไต ทำให้การกรองของเสียลดลง และอาจเร่งการเกิดโรคไตเรื้อรังในผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว นอกจากนี้ผู้สูงวัยที่มีโรคไตเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว อาจมีข้อจำกัดในการใช้ยาเคมีบำบัดบางชนิด เนื่องจากไตที่ทำงานได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้ไม่สามารถขับยาออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการสะสมของยาและเพิ่มความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงได้ครับ
การประเมินและตรวจคัดกรองโรคไตและโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้สูงวัย เป็นการประเมินการทำงานของไตอย่างสม่ำเสมอในผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ได้รับการรักษาเป็นสิ่งสำคัญ การตรวจคัดกรองการทำงานของไต เช่น การวัดค่า eGFR (estimated glomerular filtration rate) และการตรวจปัสสาวะ สามารถช่วยตรวจพบความเสื่อมของไตในระยะเริ่มต้น ทำให้สามารถปรับการรักษาได้ทันเวลา ซึ่งผู้สูงวัยที่ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไต ควรได้รับการวางแผนการรักษาที่ลดผลกระทบต่อไตให้น้อยที่สุด ตัวอย่างเช่น การใช้เทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิติ (3D-conformal radiotherapy) หรือเทคนิคการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (IMRT) สามารถลดการกระจายรังสีไปยังไตได้ นอกจากนี้ การปรับโดสยาเคมีบำบัดหรือปรับลดยาเคมีบำบัด ให้เหมาะสมกับระดับการทำงานของไตยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไตวายได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดการโรคในผู้สูงวัยที่มีความซับซ้อน เช่น มะเร็งปากมดลูกและโรคไตเรื้อรัง จำเป็นต้องมีการดูแลแบบบูรณาการ จากทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขา เช่น แพทย์ทางเนื้องอกวิทยา แพทย์โรคไต และแพทย์ผู้สูงอายุ การดูแลที่ครอบคลุมและการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาที่เหมาะสมและลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ก็จะทำให้บรรเทาอาการของโรคลงได้บ้าง แต่จะให้หายขาดจากอาการ คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันครับ
การจัดการสุขภาพของผู้สูงวัยที่เผชิญกับโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคไตเรื้อรัง ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่จำเป็นต้องจัดการในระยะเริ่มต้นของโรคร้ายเท่านั้น จึงพอจะมีโอกาสในการรักษา อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรอง การรักษาที่เหมาะสม และการดูแลที่ครอบคลุมสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้ ผู้สูงวัยที่มีความเสี่ยง ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถจัดการกับโรคทั้งสองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงบั้นปลายของชีวิต อย่าปล่อยจนกระทั้งบานปลายมากจนเกินกว่าจะเยียวยา แล้วค่อยไปพบแพทย์ ก็เหมือนที่ผมมักจะพูดว่า “ถ้ากลัวหมอ โรคก็จะไม่มีทางรักษา” เหมือนอย่างที่น้องสาวผมได้ประสบนั่นแหละครับ