เจ้าภาพโอลิมปิกต้องจ่ายอะไรบ้าง?

07 ส.ค. 2567 | 06:10 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 06:17 น.

เจ้าภาพโอลิมปิกต้องจ่ายอะไรบ้าง? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...ดร.ปฐมวัตร จันทรศัพท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4016

ในขณะที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับอยู่นี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 33 ณ เมืองปารีส กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น ตลอดการแข่งขันประมาณสามสัปดาห์ เมืองปารีส จะเป็นบ้านของนักกีฬากว่าพันคน จากกว่าสองร้อยประเทศทั่วโลก กรรมการ กองเชียร์ และนักท่องเที่ยว อีกเป็นจำนวนมาก บทความนี้จะนำเสนอถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันต้องแบกรับ

การคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาว จะทำโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) โดยการยื่นซองประมูล และ IOC จะประกาศผู้ชนะล่วงหน้าก่อนการแข่งขันเจ็ดปี เพื่อให้เมืองที่เป็นผู้ชนะได้มีเวลาเตรียมตัว 

โดยเกณฑ์ในการตัดสินไม่ได้มาจากการเสนอราคาที่สูงที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น แบบของสนามแข่งขัน แผนการจราจร/การเดินทางทั้งภายในและภายนอกสนามแข่งขัน การประมาณการรายจ่ายและรายรับ และอื่น ๆ รวมทั้งแผนการประชาสัมพันธ์ด้วย และจำนวนเงินในการประมูลก็มีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน 

มีการคาดการณ์กันว่า เมืองชิคาโกยื่นการประมูลไม่ต่ำกว่า 70 ล้านดอลลาร์สรอ. ในการขอเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ.2016 และไม่ได้รับการคัดเลือก (ตัวเลขการประมูลที่แท้จริง IOC ไม่เปิดเผย) 

มีสถิติอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ก่อนปี ค.ศ.2000 เมืองที่เข้าร่วมการประมูลส่วนใหญ่ คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) ในขณะที่หลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เกินกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมประมูลมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา (developing country) 

เมื่อชนะการประมูลแล้ว ต้นทุนของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก สามารถแบ่งได้เป็น สาม ส่วนได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการสร้าง/ปรับปรุงเมืองให้พร้อมกับการเป็นเจ้าภาพ หนึ่งในข้อกำหนดที่ IOC คัดเลือกเจ้าภาพคือ เมืองจะต้องมีห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 40,000 ห้อง และมีหมู่บ้านนักกีฬาที่สามารถรองรับนักกีฬาและกรรมการต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 15,000 คน 

ข้อกำหนดนี้สร้างความท้าทายแก่เจ้าภาพเป็นอย่างมาก เช่น เมือง ริโอ เดจาเนโร ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวในซีกโลกใต้ เมื่อเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ.2016 ยังต้องการห้องพักเพิ่มขึ้นถึง 15,000 ห้อง

หลังมหกรรมโอลิมปิกผ่านพ้นไป มีความเสี่ยงที่จำนวนห้องพักเหล่านี้ จะมีปริมาณมากเกินความจำเป็น (overcapacity) เช่น ในปี ค.ศ.1994 ที่ประเทศนอร์เวย์ เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกฤดูหนาว ข้อมูลในปี ค.ศ.1999 พบว่า มากกว่าร้อยละ 40 ของกิจการห้องพักปิดตัวลง

ต้นทุนในส่วนที่สองได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการสร้างสนามกีฬาตามมาตรฐานโอลิมปิก เมืองส่วนใหญ่ไม่ได้มีสนามกีฬาตามมาตรฐานโอลิมปิกในทุกประเภทกีฬา แม้แต่กีฬายอดนิยมอย่างฟุตบอล เมืองที่มีสโมสรฟุตบอลระดับอาชีพอยู่ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงสนามให้ได้มาตรฐานของโอลิมปิก เช่น จำเป็นต้องมีลู่วิ่งมาตรฐาน 

ในขณะที่สนามที่ใช้ในการแข่งขันฟุตบอล มักจะไม่มีลู่วิ่งเพื่อให้นักกีฬาและกองเชียร์ใกล้ชิดกัน หรือแม้แต่ เมืองชิคาโก ซึ่งมีสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ถึงสี่สนาม ในการยื่นประมูลเป็นเจ้าภาพปี ค.ศ.2024 (และไม่ได้รับเลือก) ยังต้องเสนอแผนในการปรับปรุงสนามกีฬากลางแจ้งและสร้างสนามใหม่กว่า 400 ล้านดอลลาร์สรอ.  

และต้นทุนส่วนสุดท้ายคือ ค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน ค่าใช้จ่ายในการแสดงพิธีเปิดและปิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าใช้ในการรักษาความปลอดภัย มหกรรมกีฬาโอลิมปิกตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายมาตั้งแต่อดีต เช่น การก่อการร้ายในการแข่งขันปี ค.ศ.1972 ที่เมืองมิวนิค และปีค.ศ.1996 ที่เมืองแอตแลนตา หรือแม้แต่การจัดครั้งล่าสุด ค.ศ.2024 ยังมีความพยายามจากกลุ่มก่อการร้ายเพียงแต่เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ 

หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ค่าใช้จ่ายในการรักษาความปลอดภัย ในปี ค.ศ.2000 (เมืองซิดนีย์) ประมาณ 250 ล้านดอลลาร์สรอ. ในขณะที่การจัดในปี ค.ศ.2004 (เมืองเอเธนส์) เพิ่มขึ้นถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สรอ. 

                          เจ้าภาพโอลิมปิกต้องจ่ายอะไรบ้าง?

ในขณะที่ด้านผลประโยชน์ของการเป็นเจ้าภาพ ยังคงมีความคลุมเครือและยากที่จะประเมินได้ เช่น ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดและรายได้จากสปอนเซอร์ ซึ่งเป็นรายได้ก้อนใหญ่ ทางเจ้าภาพต้องแบ่งกับ IOC โดยสัดส่วนในการแบ่งไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการเจรจาทั้งสองฝ่าย 

ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวไม่แน่เสมอไปว่า จะเพิ่มขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวอื่นที่ไม่ได้มาเชียร์กีฬาลดลง เช่น มีรายงานว่า ระหว่างมหกรรมโอลิมปิกใน ค.ศ.2012 เดือนกรกฎาคม แล ะสิงหาคม เมืองลอนดอน มีนักท่องเที่ยว 6,174,000 คน ในขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ.2011 มีนักท่องเที่ยว 6,568,000 คน

เพราะฉะนั้น การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมโอลิมปิก หรือ งานกีฬาระดับโลก เช่น ฟุตบอลโลก ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเปรียบเทียบรายได้และรายจ่ายให้ดี รายจ่ายก้อนใหญ่นี้เองที่อาจเป็นคำตอบว่า เหตุใดประเทศที่พัฒนาแล้วจึงให้ความสนใจในการเป็นเจ้าภาพลดลง หากผู้อ่านท่านใดสนใจอ่านรายละเอียดในเรื่องนี้สามารถติดตามอ่านได้ใน Baade และ Matheson (2016)

เอกสารอ้างอิง: Baade, R. A., & Matheson, V. A. (2016). Going for the gold: The economics of the Olympics. Journal of Economic Perspectives, 30(2), 201-218.