ใครจะรับผิดชอบ...วิกฤต Z.Com ??

13 มิ.ย. 2567 | 23:30 น.

ใครจะรับผิดชอบ...วิกฤต Z.Com ??? : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ไม่ว่าใครที่มีส่วนได้เสียอยู่กับตลาดหุ้น...โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยต่างก็รู้ว่า หลายปีแล้วที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ใน “ยุคมืด” ที่ยังคง “ต่ำตม” ไม่ว่าจะเป็นกติกาใดที่ร่างออกมา ก็ล้วนแล้วแต่เอื้อต่อทุนต่างชาติ รวมไปถึงโบรกเกอร์ซึ่งหลายแห่งก็มาจากต่างชาติ แต่กลับไม่มีกติกาที่จะช่วยปกป้องนักลงทุนรายย่อย จนดูเหมือนว่าบรรดานักลงทุนรายย่อยของไทยคือ “ชนกลุ่มน้อย” ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากหน่วยงานทางการเอาซะเลย 

ไม่ต้องว่ากันไปไกล... เอาแค่เรื่องของ Z.Com ซึ่งมีทาง จีเอ็มโอ ไฟแนนซ์เชียล โฮลดิ้งส์ อิ้งค์ จากญี่ปุ่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเจเมาธ์พูดถึงหลายรอบแล้วว่าเป็น “ทุนต่างชาติ” ที่เข้ามาอาศัยช่องว่างของกติกาของตลาดหุ้นไทยหาเงิน โดยมุ่งเน้นไปที่การปล่อยมาร์จิ้นหุ้น หรือเงินกู้ที่มีหุ้นค้ำเป็นหลัก จนมีพอร์ตลูกหนี้รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท 

ก่อนที่ต่อมาหุ้นหลายตัวเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น MORE OTO หรือ SABUY หรืออื่นๆ อีกหลายตัวที่ถูกนำมา “วางค้ำ” มักจะเป็น “หุ้นหวือหวา” ที่หมดราคา และถูกบังคับขาย (Force Sell) จนนักลงทุนรายย่อยถูกหุ้นพวกนี้ดูดเงินออกจนแทบจะหมดตัว ขณะที่ในส่วนของ Z.com ก็ได้แค่หุ้นที่ไร้ค่าไร้ราคา ...ส่วนเงินจริงกลับเก็บไม่ได้จนบริษัทต้องขาดทุนในที่สุด

เมื่อทำธุรกิจแล้วขาดทุน จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ โดยทาง Z.com ประกาศให้ลูกค้าทุกรายที่มีบัญชีมาร์จิ้น จะต้องปิดพอร์ต... พร้อมกันนี้ยัง “สั่ง” เรียกหนี้คืนภายใน 20 ธันวาคม 2567 ส่วนการหารายได้เข้าบริษัท ทั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาการขาดทุนที่เป็นอยู่ และการขาดทุนสะสม จนถึงตอนนี้กลับยังไม่มีมาตรการใดออกมาให้เห็น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าปัญหาของการ “เรียกหนี้คืน” จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “ปัญหาใหม่” อาจจะลุกลามขึ้นเป็น “ปัญหาใหญ่” เนื่องจากการเรียกหนี้คืนจากลูกหนี้ “บัญชีมาร์จิ้น” เช่นนี้ อาจทำให้ลูกหนี้หาเงินไม่ทัน และจะนำไปสู่การถูกบังคับขาย (Force Sell) และจะนำไปสู่การบังคับให้หุ้นของบริษัท ที่ถูกวางไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้จบเกม...มีแต่ทางเดินเดียวคือ ฟลอร์กับฟลอร์ 

ในตลาดในภาพรวมของบัญชีมาร์จิ้นทั้งระบบ มีหุ้นหลายรายที่มีการนำไปวางไว้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ โดยหุ้น 5 ตัวแรกที่เอาหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วนที่มากที่สุดของทั้งตลาด ประกอบไปด้วย

1. บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM บริษัททำธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในรูปแบบเครือข่าย (MLM) ซึ่งได้นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วน 52.09% โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ สิทธวีร์ เกียรติชวนันต์ และ นพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 34.80% และ 22.91% ตามลำดับ

2. บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ GPI บริษัทซึ่งประกอบธุรกิจ 1. ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า และกิจกรรมส่งเสริมการตลาด 2. ธุรกิจสื่อออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ 3. ธุรกิจรับจ้างพิมพ์ ซึ่งได้นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วน 51.12% มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ปราจิน เอี่ยมลำเนา ถือหุ้น 27.05% และ พีระพงศ์ เอี่ยมลำเนา ถือหุ้นจำนวน 12.69%

3. บริษัท เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  หรือ SAAM บริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วน 49.98% มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ พดด้วง คงคามี ถือหุ้น 35.10% และ น.ส.กฤติยา หงส์หิรัญ ถือหุ้นจำนวน 34.40%

4. บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG บริษัทประกอบธุรกิจหลักเกี่ยวกับการผลิตไก่และจำหน่ายไก่สด  นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วน 47.27% มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท นิวสตาร์ วิคเตอร์ จำกัด ถือหุ้นจำนวน 28.51% BNP PARIBAS HONG KONG BRANCH  ถือหุ้นจำนวน 20.05% และ วินัย เตียวสมบูรณ์กิจ ถือหุ้นจำนวน 17.98% 

5. บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ YGG บริษัททำธุรกิจออกแบบและจัดทำคอมพิวเตอร์กราฟฟิคเกี่ยวกับงานโฆษณา ภาพยนตร์ และ เกม ซึ่งได้นำหุ้นไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ในสัดส่วน 46.37% มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ ธนัช จุวิวัฒน์ ถือหุ้นจำนวน 41.14

บริษัทที่เจ๊เมาธ์ยกมาทั้ง 5 ราย ถือว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ส่วนที่เหลือแต่ยังไม่ได้พูดถึงก็ยังมีอีกมาก เพราะฉะนั้นก็ให้คิดดูกันเอาเองว่า ถ้าผู้คุมกฎอย่าง ธปท. กลต. และ ตลท. ปล่อยไปตามยถากรรม...ไม่เข้ามาช่วย เจ๊เมาธ์ก็เชื่อว่าความเสียหายที่เกิด คงจะมากจนคำนวณไม่ได้แน่นอน อย่างนี้ใครต้องทำอะไรดี เจ้าค่ะ