อวสานของหุ้นสตอรี่

12 พ.ย. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ย. 2565 | 22:38 น.

"อวสานของหุ้นสตอรี่" บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า โลกในมุมมองของ Value Investor

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว  บางช่วงก็ขึ้นบ้าง  แต่แล้วก็มักจะปรับตัวลงกลับไปที่เดิมหรือต่ำกว่า  เป็นแบบนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว  แต่คนเล่นหุ้นก็ไม่ได้หมดความสนใจ  ตลาดหุ้นยังคึกคักพอสมควร  เหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ  มีหุ้นส่วนหนึ่งที่มีการปรับตัวหวือหวาขึ้นสูงมาก  บางทีเป็นหลาย ๆ  เท่าตัวภายในเวลาไม่นาน—แล้วก็ตกลงมาอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น  และบางตัวก็ราคาสูงลิ่วอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาหลายปี  

 

อย่างไรก็ตาม  หุ้นที่ราคาสูงลิ่วและ “แพงจัด” คือมีค่า PE สูงกว่าหุ้นในอุตสาหกรรมเดียวกันเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้นหรือบางตัวมีค่า PE “หลุดโลก” คือมีค่า PE สูงเป็น 50-100 เท่า ก็เริ่มทยอยปรับตัวลดลงมาเรื่อย ๆ และเรื่องราวต่าง ๆ  ก็เริ่มที่จะจางหายไป  

 

หุ้นทั้งหมดนั้น  ผมเรียกว่าเป็น “หุ้นสตอรี่ หรือหุ้นที่มีสตอรี่หรือมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ผู้บริหารหรือนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็นรายใหญ่สร้างหรือผลิตขึ้น เพื่อที่จะบอกว่า  หุ้นตัวนี้จะ “โตระเบิด” และกำไรจะเพิ่มมหาศาลปีละหลายสิบหรือเป็นร้อย ๆ  เปอร์เซ็นต์ในอนาคตที่ยาวนานและนักเล่นหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยต่างก็เชื่อและเข้าไปซื้อหุ้นจนทำให้ราคาขึ้นไปสูงมาก  แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ดูเหมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้น  แน่นอนว่าบริษัทอาจจะทำโครงการเหล่านั้น  แต่ผลที่ได้รับก็คือ  รายได้และกำไรที่คาดว่าจะได้ก็ไม่ปรากฏเป็นเรื่องเป็นราว  หุ้นจำนวนมากถูกขายทิ้งและราคาดิ่งลงมาต่อเนื่อง ลองมาดูว่ามีหุ้นกลุ่มไหนบ้าง
 

 

"หุ้นสตอรี่"มีกลุ่มไหนบ้าง

 

 

หุ้นกลุ่มแรกก็คือ หุ้นการเงินหรือหุ้นไฟแนนซ์ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมใกล้ชิดจากแบ้งค์ชาติ  สตอรี่ของหุ้นก็คือ  เป็นบริษัทที่โตเร็วมากกว่าเศรษฐกิจและหุ้นแบ้งค์มาก  หนี้เสียมีน้อยมากแบบ  “ไม่น่าเชื่อ” คือบางแห่งต่ำกว่า 1% ทั้ง ๆ ที่ให้กู้กับลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่ามาก  ดังนั้น  กำไรจึงเพิ่มขึ้นเร็วและสามารถดึงดูดให้คนมาเล่นหุ้นกันมากจนทำให้หุ้นมีราคาสูงและแพงเป็น 2 เท่าของหุ้นกลุ่มแบ้งค์  คือมีค่า PE กว่า 20 เท่า  แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีจนถึงวันนี้ที่ปัญหาหนี้เสียจะเริ่มเกิดขึ้นมาก  กำไรที่เคยโตเร็วก็เริ่มชะลอลง  ราคาหุ้นจึงตกลงมามากกว่าหุ้นแบ้งค์และไม่รู้ว่าจะลงต่อไปแค่ไหน

 

หุ้นกลุ่มที่สองที่ผมเคยเรียกว่าเป็น  “หุ้นนางฟ้า” นี่เป็นกลุ่มหุ้นที่เคยบูมมาช่วงเวลาหนึ่ง  หลายตัวก็  “ดับ”  ไปนานแล้ว  บางตัวก็ยังมีราคาสูงอยู่และบางช่วงก็พยายามไต่ขึ้นไปใหม่แม้ว่าสตอรี่จะหมดไปแล้ว  หุ้นกลุ่มนี้ใช้สตอรี่ที่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่มียี่ห้อที่เป็นที่นิยมในประเทศที่กำลังมาแรง อานิสงค์ส่วนหนึ่งก็คือมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชอบซื้อสินค้าของตน  ดังนั้น การเติบโตก็จะแรงตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมาก  

 

นอกจากนั้น  หลายบริษัทก็มีสตอรี่ใหญ่กว่านั้นอีก  คือจะส่งออกสินค้าเพื่อที่จะ “ครองโลก” อาจจะคิดว่า “ไหน ๆ นักท่องเที่ยวก็ชอบแล้ว  ก็ไปขายถึงบ้านเขาเลยสิ”  แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงก็คือ  “ขายไม่ได้”  กำไรที่คิดว่าจะโตระเบิดก็ถดถอยลง  และราคาหุ้นก็ถอยตาม  หุ้นกลายเป็น “นางฟ้าตกสวรรค์”

 

 

หุ้นกัญชา-กัญชง นั้น  เป็นสตอรี่ที่ใช้กันมากโดยเฉพาะบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมา  เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อย  ทำได้ง่าย  แต่อาจจะทำกำไร “มหาศาล” เพราะคนคงเข้ามาใช้กันเยอะและสามารถขายได้ทั่วโลก ดังนั้น แค่ประกาศว่าจะทำ  คนก็แห่กันมาซื้อหุ้นแล้ว  ดังนั้น  หุ้นหลายตัวก็วิ่งขึ้นไป  แต่ดูเหมือนว่าจะไม่นาน  เพราะสิ่งที่คุยว่าจะทำก็ไม่เกิด  หรือเกิดขึ้นก็แทบจะไม่มีผลกับรายได้หรือกำไร  ออกสินค้าอาหารหรือเครื่องดื่มผสมกัญชาก็ขายไม่ได้  ตอนนี้แม้แต่กฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องก็อาจจะไม่ผ่านสภา  เกมกัญชาก็จบลง

 

หุ้นเกี่ยวกับโควิด-19 ระบาด  เช่นถุงมือยางและยางธรรมชาติก็กลายเป็นหุ้นที่มีสตอรี่ร้อนแรง  ผลประกอบการโตขึ้นเป็นสิบ ๆ  เท่าหรือมากกว่านั้นเพราะสินค้าขาดแคลนทั่วโลก  ราคาสินค้าขึ้นไปมหาศาล  ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปน่าจะเป็นสิบ ๆ  เท่าในบางตัว  แต่ถ้าดูความถูกแพงของหุ้นจากค่า PE ก็จะพบว่ามีค่าแค่ 3-4 เท่า  เพราะกำไรเพิ่มขึ้นจากแค่ไม่กี่ร้อยล้านบาทเป็นหลายหมื่นล้านบาท  แต่พอ “โควิดจบ” และกำไรถดถอยกลับมาเหลือหลักพันล้านบาท  ราคาหุ้นก็ลงตามและลดลงมาน่าจะ 70-80 % แล้วจากราคาสูงสุด  และก็ไม่รู้ว่าจะลงต่อลงไปอีกแค่ไหน

 

หุ้นที่เกี่ยวกับดิจิทัล โดยเฉพาะแนวเหรียญนั้น  สตอรี่พีคหรือขึ้นสู่จุดสูงสุดน่าจะเป็นช่วงที่ราคาบิทคอยขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่ออีลอนมัสก์เข้ามา “เล่น” เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา และมีการเสนอซื้อหุ้นแพลทฟอร์มบิทคับของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์  หลังจากนั้น  บริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ  บริษัทก็สร้างสตอรี่เกี่ยวกับธุรกิจดิจิทัล  อาทิ  ผลิตเหรียญดิจิทัลขาย  ทำเหมืองขุดคริปโต เป็นต้น ซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น  เพราะนักเล่นหุ้นเชื่อว่านี่คืออนาคตของโลกและประเทศไทย  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นี่อาจจะเป็น “เครื่องปั๊มเงินราคาถูก” ที่ทำให้คนผลิตเหรียญซึ่งมีต้นทุนน้อยมากสามารถขายทำกำไรมหาศาล  

 

อย่างไรก็ตาม  ตลาดเหรียญคริปโตมาเร็วและไปเร็วมาก  เมื่อตลาดเหรียญคริปโตวาย  ราคาตกลงมาจากหกหมื่นเหลือหมื่นหกพันเหรียญสหรัฐในเวลาแค่ปีเดียว   สตอรี่ดิจิทัลก็ล่มสลาย  ราคาหุ้นบางตัวก็ตกลงมาอย่างแรง  อย่างไรก็ตาม  บริษัทที่ไม่ได้ลงทุนอะไรมากในการผลิตเหรียญก็อาจจะไม่ถูกกระทบมากนัก

 

ธุรกิจเกี่ยวกับอิเล็คโทรนิกส์   โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้านั้น  พอเกิดโควิด-19 ก็กลายเป็นสินค้าที่ขาดแคลนทั่วโลกเพราะมีการปิดเมือง  ผู้ผลิตบางรายก็เลยมียอดขายและกำไรเติบโตมาก  สตอรี่ก็คือ  นี่คือบริษัทที่อาจจะยิ่งใหญ่ในอนาคตตามการพัฒนาและเติบโตของรถไฟฟ้า  กำไรของบริษัทจากไม่กี่พันล้านบาทก็กลายเป็นหมื่นล้านบาท  ขนาดของหุ้นวัดจาก Market Cap. และยอดขายและกำไร  จากขนาดกลางก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ระดับ TOP5 ในตลาด  และแน่นอนว่าหุ้นขึ้นไปเป็น 10 เท่าในเวลาเพียงปีเดียวและมีค่า PE สูงเกิน 50 เท่า  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สตอรี่ของบริษัทในสายตาของนักเล่นหุ้นนั้นยังคงดำรงอยู่ เช่นเดียวกับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าอื่นเช่น  บริษัทที่ผลิตรถหรือแบตเตอรี่รถไฟฟ้าที่มีราคาปรับตัวขึ้นสูงและยังค้างอยู่อย่างนั้น  คงต้องรอดูต่อไปว่าสตอรี่เรื่องเกี่ยวกับรถไฟฟ้านั้นจะเป็นความจริงไหม?

 

มีสตอรี่อีกหลายเรื่องที่เคยถูกนำมาใช้เพื่อกระตุ้นราคาหุ้นให้ขึ้นไปสูงสุดกู่และมีราคาแพงมากก่อนที่จะพบว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่จริงและราคาหุ้นตกกลับลงมา  บางทีต่ำกว่าก่อนที่มันจะขึ้น  ตัวอย่างเช่น  สตอรี่เกี่ยวกับพลังงานโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาแทนที่พลังงานดั้งเดิมที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

 

สตอรี่นั้นเกิดขึ้นมาตลอดเวลา  หมดเรื่องหนึ่งก็มักจะมีสตอรี่ใหม่ตามมา  ซึ่งถ้ามองจากประวัติศาสตร์ก็คือ  สตอรี่ใหม่นั้นก็จะเป็นเรื่องไม่จริงเสียเป็นส่วนใหญ่  แต่เกิดขึ้นมาเพื่อให้นักลงทุนตื่นเต้นว่าบริษัทจะเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด “เป็น S-Curve” ใครเข้ามาลงทุนหรือเล่นหุ้นก็จะ “รวยแน่”  แต่จริง ๆ สตอรี่นั้นมักจะไม่เพียงพอที่จะขับดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปได้มาก  จำเป็นที่จะต้องมี “หลักฐาน” ว่าสตอรี่นั้นจะเป็นจริงแน่นอน  

 

วิธีการก็คือ  จะต้องทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแรงจนคน “ทึ่ง” และเชื่อว่าบริษัทจะต้องประสบความสำเร็จแน่นอน  และวิธีการที่สำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ  การเข้าไปกวาดซื้อหุ้นจำนวนมากแบบ  “Corner หุ้น”  นักลงทุนที่ยังสงสัยหรือไม่แน่ใจจะต้องถูกกวาดซื้อหุ้นให้หมด  หลังจากนั้น  การที่หุ้นจะขึ้นไปหลาย ๆ เท่าก็เป็นไปได้ง่าย

 

ส่วนหุ้นที่มีขนาดและ/หรือ Free Float มากเกินไปที่จะทำให้การคอร์เนอร์หุ้นทำไม่ได้นั้น  จะทำให้สตอรี่ไม่มีความหมาย  และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่มีฟรีโฟลทมากประกาศว่าจะผลิตรถไฟฟ้าเป็นเรื่องเป็นราว  ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน  แต่จริง ๆ  แล้ว  สตอรี่อาจจะมีโอกาสเป็นจริงมากกว่าบริษัทที่คุยมาตลอด แต่ผลลัพธ์จริง ๆ  ยังไม่เห็น

 

นอกเหนือจากประเด็นของเรื่องฟรีโฟลทแล้ว การใช้สตอรี่เพื่อที่จะขับราคาหุ้นให้ขึ้นไปได้นั้นยังต้องอาศัยภาวะของตลาดหุ้นที่เป็น  “เป็นใจ” หรือเอื้ออำนวยให้คนเชื่อและพร้อมที่จะเข้ามาเล่นโดยไม่สนใจความเป็นไปได้ของสตอรี่  รวมถึงประสบการณ์ของคนที่เข้าไปเล่นว่าได้กำไรหรือไม่  ถ้าเล่นแล้วมีแต่ขาดทุนเป็นหลัก  นั่นก็จะทำให้คนไม่เชื่อ  และถ้าเป็นแบบนี้  มันก็จะเป็น “อวสานของหุ้นสตอรี่”  คือสตอรี่เก่า ๆ  ก็จะเริ่มตายไป  และสตอรี่ใหม่ที่เกิดขึ้นก็ “ขายไม่ได้”