ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ นับเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมผู้สูงวัยควบคู่กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงมีทั้งส่วนที่ต้องระมัดระวัง และส่วนที่เกื้อหนุนให้เป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงและมีความยั่งยืน
ประเทศไทยเอง ในฐานะที่มีชื่อเสียงด้านบวกเรื่องการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) มาอย่างยาวนาน เพราะเรามีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญ แถมยังสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี อีกทั้งยังมีการจัดเตรียมหน่วยงานพิเศษที่คอยให้ความดูแลกลุ่มคนต่างชาติในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัย การทำวีซ่า การรับเข้าและส่งต่อ รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์แบบถึงที่พักอาศัย
ประกอบกับประเทศไทยมีจุดเด่นด้านงานบริการและการต้อนรับอันเป็นมิตร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองสำคัญแห่งการท่องเที่ยวของโลก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับผู้กำลังเตรียมตัวใช้ชีวิตหลังเกษียณ ซึ่งในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ถึงกับมีการรวบรวมรายชื่อบ้านพักผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือไว้ในเว็บไซต์ของทางราชการด้วย (ที่มา: (https://www.gov.uk/government/publications/thailand-care-homes/list-of-care-homes-for-british-nationals-in-thailand)
และสิ่งที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ พบว่ามีบ้านพักหลังเกษียณจำนวนไม่น้อยกระจายตัวอยู่ในต่างจังหวัด ทั้งในเมืองรองหรือเมืองที่ไม่ได้เป็นหมุดหมายหลักของการท่องเที่ยว เช่น บุรีรัมย์และขอนแก่น และยังมีบทความอีกจำนวนหนึ่ง ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการหาบ้านพักเพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณหรือบ้านผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านสภาพที่พักอาศัยรวมไปถึงช่วงราคาหรืองบประมาณที่สามารถจ่ายได้ (ที่มา: https://www.thethailandlife.com/retirement-homes-thailand)
โดยในปัจจุบัน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ หันมาให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจเฮลท์แคร์ และเกิดการประสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุและธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่นำเสนอบ้านพร้อมเกษียณในทำเลที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้สูงอายุ ธุรกิจความสวยความงาม ที่ให้บริการทั้งด้านการฟื้นฟูร่างกายและการชะลอวัย ภาคการขนส่งเองก็มีบริการแท็กซี่หรือทัวร์สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ฯลฯ
ส่วนในแง่การรักษาและป้องกันโรค กลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเปราะบางต่อโรคภัยไข้เจ็บหลายชนิด เช่น โรคทางประสาทและสมอง อาการเรื้อรังจากความดันโลหิตและเบาหวาน ผลกระทบจากยารักษาโรคต่างๆ โรคที่เกิดจากการเสื่อมของอวัยวะต่างๆ เช่น การได้ยินที่ลดลง อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ อุปสรรคในการขยับร่างกาย เป็นต้น
รวมไปถึงความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุการลื่นตกหรือหกล้ม ซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในในกลุ่มผู้สูงอายุเพศหญิงกรณีที่มีอาการกระดูกพรุนร่วมด้วย ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่พึงระวังในกลุ่มผู้สูงอายุทั้งสิ้น ซึ่งปัจจัยด้านสุขภาพเหล่านี้ เปิดโอกาสให้เกิดการบูรณาการรูปแบบการดูแลและการให้บริการที่หลากหลายระหว่างบ้านพักผู้สูงอายุและสถานพยาบาล หรือระหว่างธุรกิจ/อุตสาหกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่เหมาะสม และพร้อมให้บริการสำหรับชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อมาได้สักระยะเวลาหนึ่งแล้ว
แต่โจทย์สำคัญที่ผมอยากชวนให้ทุกท่านคิด ก็คือ เราจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้เกิดการผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุภายในประเทศ ให้มีโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่หลากหลายและทั่วถึง? โดยจะเห็นได้จากหลายๆ ประเทศ มีแนวโน้มมุ่งให้ความสำคัญไปที่กลุ่มประชากรวัยเกษียณที่มีกำลังทรัพย์
ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การแพทย์และการสาธารณสุข การท่องเที่ยว ฯลฯ และในขณะเดียวกัน จุดเด่นของประเทศไทยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และบริการทางสาธารณสุข ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ต่อการตัดสินใจโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาใช้ชีวิตในวัยเกษียณ
และหากรัฐกำหนดนโยบายต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของประชากรอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับระบบการสาธารณสุขของไทย จนนำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,870 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2566